ทำไม “เดอะมอลล์” ต้องเปลี่ยน Winning Formula “ทุกสนามที่ปักธง…เราต้องชนะ”

หลังประกาศแผนการลงทุนรอบใหม่ครั้งใหญ่มูลค่ากว่าแสนล้านบาท สำหรับทิศทางลงทุนในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยมีเมกะโปรเจ็กต์ยักษ์ “แบงค็อกมอลล์” “เอ็มสเฟียร์” “เดอะมอลล์ รามคำแหง” เป็น 3 หัวหอก พลิกโฉมการลงทุนเดอะมอลล์ กรุ๊ป อย่างเต็มรูปแบบ ศุภลักษณ์ อัมพุช (คุณแอ๊ว) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ และยอมรับว่า new era ต่อไปของเดอะมอลล์ มีความท้าทายหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากรีเทล อินดัสตรี เปลี่ยนไปอย่างมาก

“เป็นเรื่องที่คาดเดายากพอสมควร เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างอยู่ในมือถือหมด การดิสรัปต์ที่เกิดขึ้นในธุรกิจต่าง ๆ เหมือน third world war ในโลกการค้า ซึ่งสู้รบกันด้วยเทคโนโลยี สมัยก่อนรีเทลจะขีดวงอยู่แค่ในประเทศ แต่ตอนนี้โลกไม่มีพรมแดนด้านการค้าอีกต่อไป และกลายเป็นโกลบอไลซ์ ทุกคนสามารถเข้าไปค้าขายได้ทุกที่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมซอน ลาซาด้า หรือบรรดาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่แข่งขันกันอย่างหนัก”

การเปิดเกมรุกใหม่ครั้งนี้ยังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับกระแส “ช็อปปิ้งออนไลน์” ที่กำลัง “ดิสรัปต์” ธุรกิจรีเทล หากยังเป็นการ “ทรานส์ฟอร์ม” ครั้งสำคัญ ไม่เพียงเพื่อสร้างการเติบโตที่ต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป และรับมือกับความท้าทายของธุรกิจรีเทลในยุคดิจิทัล

ศูนย์การค้ายังไปได้ 

“ศูนย์การค้ายังไปได้ แต่ต้องมีความแตกต่าง winning formula ต้องหาให้ได้ว่าอะไรจะเป็นตัวดึงให้คนอยากมา เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ คนก็ไม่ออกจากบ้าน ยกตัวอย่างที่เรากำลังเปลี่ยนเดอะมอลล์ ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ให้เป็น life store เพราะต้องการบอกลูกค้าว่า เราไม่ใช่แค่ดีพาร์ตเมนต์สโตร์อีกแล้ว”

หรือการที่เดอะมอลล์ร่วมทุนกับ AEG ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมความบันเทิงโลก สร้างสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตและความบันเทิงต่าง ๆ ที่เอ็มสเฟียร์ และแบงค็อกมอลล์ เกิดเป็น attraction และ powerfull magnet ซึ่งเป็นอาวุธที่สำคัญมาก และสร้างความแตกต่างให้โดดเด่นในการทำธุรกิจจากนี้

“เมื่อก่อนเราพูดกันแต่โลเกชั่น เดี๋ยวนี้โลเกชั่นดี ๆ อย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้ผู้มาใช้บริการได้รับบริการที่ดี ประสบการณ์ที่ดี ทำให้การคิดหาแอตแทรกชั่นกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก สมัยก่อนสร้างศูนย์การค้าขึ้นมามีของให้หลากหลายก็พอ แต่เดี๋ยวนี่ไม่ใช่ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น ต้องครบ มีส่วนที่เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ต้องออนอินวัน ต้องเป็นมิกซ์ยูส มีที่อยู่อาศัย โรงแรม”

ธรรมดา…เราไม่ทำ 

นอกจากการขยายสาขาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นแล้วนั้น big data ที่ถูกต้องและแม่นยำ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกในยุคปัจจุบันที่ต้องเจอความท้าทายมากขึ้นจากเดิม การเข้ามาของอีคอมเมิร์ซ หรือค้าปลีกออนไลน์ ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัว

“แนวทางการทำงานของเดอะมอลล์ชัดเจนว่า ธรรมดา…เราไม่ทำ การแข่งขันของธุรกิจไม่จำเป็นต้องไปสู้ทุกสนาม แต่ทุกสนามและทุกทำเลที่ไปลงทุน เราต้องชนะ เพราะฉะนั้น สูตรในการทำธุรกิจของเดอะมอลล์ต้องเลือก อะไรคือ winning formula ที่สอดคล้องกับการทำงานของเรา”

เช่นเดียวกับหลังจากนี้จะเห็นภาพการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ที่มากขึ้น ทั้งในระดับโลคอลและโกลบอลที่เราจะสร้างการเติบโตของธุรกิจร่วมกัน ทิศทางของกลุ่มเดอะมอลล์จะไม่ได้เป็นเพียงห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าอีกต่อไป เพราะในยุคของการแข่งขัน ทุกธุรกิจต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแต่ละทำเลแต่ละสาขาจะมีความหลากหลาย

เดินหน้า New Era 

ในช่วง 2-4 ปีจากนี้ไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเดอะมอลล์อย่างชัดเจน ทั้งแบงค็อกมอลล์ โครงการซึ่งเป็น grand statement บนที่ดินกว่า 100 ไร่ ขนาดโครงการ 1,200,000 ตร.ม. ภายใต้คอนเซ็ปต์ City Within The City จะเปิดให้บริการในปี 2565ดิ เอ็มสเฟียร์ พื้นที่กว่า 200,000 ตร.ม. ใจกลางสุขุมวิท และเมื่อสร้างเสร็จในปี 2565 จะรวมกับดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ กลายเป็น “ดิ เอ็มดิสทริค”

เดอะมอลล์ รามคำแหง เป็นการทุบตึกเก่าทิ้งและสร้างใหม่ในรูปแบบ “mixed use complex” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ พื้นที่กว่า 230,000 ตร.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564-2565 เช่นเดียวกับการยกเครื่องสาขาเดิม เดอะมอลล์ ท่าพระ, งามวงศ์วาน, บางแค และบางกะปิ ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Mall Lifestore, A Happy Place To Live Life ด้วยรูปโฉมใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะทยอยเปิดในช่วง 2-3 ปีจากนี้

ขอเป็นปลาใหญ่ที่รวดเร็ว 

“โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของเราช้ากว่าที่เคยบอกไว้ เพราะต้องหา winning formula ให้ได้ ซึ่งมันไม่ง่าย แต่ละโครงการยังใหญ่มาก ของเราโปรเจ็กต์เดียว เท่ากับคนอื่น 4 โปรเจ็กต์ ทำเล็ก ๆ ไม่มีประโยชน์ ซึ่งทำให้เราต้องเป็นทั้งปลาใหญ่ที่รวดเร็ว การเป็นปลาตัวใหญ่แต่ช้าก็ไม่ดี เล็กแต่เร็วสเกลก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปลาตัวใหญ่ที่รวดเร็ว นี่คือจุดที่เดอะมอลล์ต้อง change ไปให้ได้”

สอดคล้องกับภาพการสร้างทีมงานใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและการลงทุนครั้งใหญ่ในอนาคต ได้ดึงทีมผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญในวงการค้าปลีกจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเสริมทัพ

“ที่ผ่านมาทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ตัวคุณแอ๊วทั้งหมด มีอะไรเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็ต้องมาหาคุณแอ๊ว แต่ตอนนี้มันไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยน เรื่องบางเรื่องคุณแอ๊วก็ไม่ได้รู้ทั้งหมด จึงเป็นการดึงคนเก่ง ๆ มาทำงานร่วมกัน เป็นการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญของกลุ่มเดอะมอลล์ เราเรียกว่า M transformation เพื่อก้าวกระโดดของธุรกิจและเข้าสู่ทศวรรษที่ 4”

เมื่อความเปลี่ยนแปลงของ “ลูกค้า” มีความซับซ้อน กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายในทุกวินาทีของการทำธุรกิจ “รีเทล” ที่ต้องก้าวไปให้มากกว่าและเร็วกว่าลูกค้า