ติดมือถือดันโฆษณาดิจิทัลพุ่ง สื่อสาร-รถยนต์แชมป์/โซเชียลยอดฮิต

ตัวเลขโฆษณาดิจิทัลพุ่ง สวนทางอุตสาหกรรมโฆษณา “สื่อเก่า” คาดสิ้นปียอดแตะ 12,000 ล้าน ผลพวงพฤติกรรมผู้บริโภคติดสมาร์ทโฟน-อยู่หน้าจอคอมนาน เผยกลุ่มสื่อสาร-รถยนต์-สกินแคร์ ครองแชมป์ใช้งบฯสูงสุด “แบงก์-อาหารเสริม-ปั๊มน้ำมัน” แนวโน้มทุ่มงบฯเพิ่ม พบ “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” ยอดฮิต

นายศุภชัย ปาจาริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมคฟิว่า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ตลาดโฆษณาสื่อดิจิทัลมีมูลค่า 6,086 ล้านบาท และครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง หรือมูลค่าประมาณ 6,019 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมตลาดโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 29% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 12,195 ล้านบาท ซึ่งเติบโตมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ตลาดนี้จะเติบโต 24% จากปี 2559 หรือมีมูลค่า 11,774 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้การใช้งบฯผ่านสื่อดิจิทัลโตขึ้น มาจากพฤติกรรมการรับสื่อผ่านออนไลน์ของผู้บริโภคที่ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้หลาย ๆ กลุ่มสินค้าให้ความสำคัญกับสื่อนี้เพิ่มขึ้น เพราะสามารถวัดผลได้และเจาะเซ็กเมนต์กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

“ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ลูกค้ายังใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลต่อเนื่อง อาจจะลดลงบ้างในเดือนตุลาคมนี้ แต่หลังจากนั้นลูกค้าก็จะกลับมาใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงปลายปี”

นายศุภชัยอธิบายเพิ่มว่า การใช้งบฯผ่านดิจิทัลอาจจะไม่มีช่วงพีกเหมือนโฆษณาผ่านสื่อเก่า ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ แมกาซีน ป้ายโฆษณา ฯลฯ เพราะสินค้าส่วนใหญ่จะวางแผนล่วงหน้าไว้แล้ว

ขณะที่ นายราชศักดิ์ อัศวศุภชัยกรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้งบฯโฆษณาทางสื่อดิจิทัลสูงสุด 3 อันดับแรก ยังคงเป็นกลุ่มการสื่อสาร เพราะหลายค่ายต่างหันมาใช้โฆษณาผ่านออนไลน์มากขึ้น ตามกลุ่มรถยนต์ที่ความมีเคลื่อนไหวมากขึ้น ทั้งการลอนช์รถยนต์รุ่นใหม่ หวังกระตุ้นยอดขาย สุดท้ายผลิตภัณฑ์สกินแคร์ แม้จะใช้งบฯลดลงจากปีก่อนบ้าง แต่ก็ยังติดท็อป 3 ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มสกินแคร์ลดการใช้วิดีโอคอนเทนต์ลง และหันไปทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากแบ่งตามกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะใช้งบฯโฆษณาสูงสุด 10 อันดับแรกปีนี้ คือ ธุรกิจสื่อสาร 1,303 ล้านบาท รถยนต์ 1,280 ล้านบาทสกินแคร์ 682 ล้านบาท เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ 645 ล้านบาท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 602 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์นม 571 ล้านบาท เครื่องสำอาง 567 ล้านบาทธนาคาร 551 ล้านบาท ประกันภัย519 ล้านบาท และรีเทลช็อป 449 ล้านบาท

นายราชศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมี 3 กลุ่มสินค้าดาวรุ่งที่ใช้งบฯผ่านสื่อนี้เพิ่มขึ้น คือ กลุ่มธนาคาร จากการลอนช์โปรดักต์ใหม่ ตามด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะสามารถสื่อสารถึงสรรพคุณของสินค้าได้มากกว่าสื่อเก่า และกลุ่มสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากแต่ละแบรนด์ออกบัตรสะสมแต้ม โดยใช้สื่อดิจิทัลเป็นสื่อหลักในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย


สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ลงโฆษณาสูงสุดปีนี้ 5 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก 3,416 ล้านบาท ยูทูบ 1,651 ล้านบาท ดิสเพลย์ 1,331 ล้านบาท โซเชียลมีเดีย 1,134 ล้านบาท และเสิร์ช 1,084 ล้านบาท