OTT เดิมพันครั้งใหม่ “ทรูวิชั่นส์” พลิกกลยุทธ์สร้างรายได้โตคู่เพลย์ทีวี

เจ้าตลาดเพลย์ทีวี “ทรูวิชั่นส์” สร้างการเติบโตรอบใหม่รับเทรนด์ตลาด OTT โตร้อนแรงไม่หยุด ปั้นแพลตฟอร์มโอทีทีเดินขนานสร้างรายได้ควบคู่การเติบโตธุรกิจหลักเพย์ทีวี แก้โจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ดูทีวีลดลง เลือกชมคอนเทนต์ตามเวลาสะดวก

แม้เป็นผู้เล่นรายใหญ่เพียงรายเดียวในตลาดโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (Pay TV) ในไทย แต่สถานการณ์การอยู่ให้รอดของทรูวิชั่นส์ ก็ไม่ง่าย เมื่อสนามรบถูกเปลี่ยน ตอนนี้ ทรูวิชั่นส์ไม่ได้แข่งกับผู้เล่นข้ามแพลตฟอร์มอย่างวิดีโอออนดีมานด์ (over the top : OTT) ข้ามชาติอย่าง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) วิว (Viu) ไลน์ทีวี ยูทูบ เท่านั้น แต่กำลังแข่งเพื่อแย่งเวลาและความสนใจผู้ชมให้ได้

แหล่งข่าวจากธุรกิจบรอดแคสต์วิเคราะห์ว่า ขณะนี้ธุรกิจเพย์ทีวีกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งถ้าไม่นับเคเบิลทีวีท้องถิ่น ทรูวิชั่นส์ ถือเป็นผู้เล่นรายเดียวในตลาดนี้ ขณะเดียวกัน ทรูวิชั่นส์เองก็ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านทั้งปัจจัยภายในจากการบริหารต้นทุน การหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ มามัดใจผู้ชม ท่ามกลางต้นทุนด้านคอนเทนต์ที่พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ และปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมจากการมาของโอทีทีข้ามชาติ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนอยู่ตลอด ทำให้ปลายปี 2559 ทรูตัดสินใจเสริมทีมใหม่ ด้วยการตั้งทีมผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดียขึ้น เพื่อดูแลคอนเทนต์ในเครือทรูคอร์ปทั้งหมด จากเดิมที่แยกกันบริหาร หวังยกระดับการนำเสนอคอนเทนต์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ทั้งค่ายเพลง ผลิตรายการ ต่อด้วยช่องทางออกอากาศทั้งฟรีทีวี เพย์ทีวี ออนไลน์ที่มีแพลตฟอร์ม “ทรูไอดี” เป็นหัวหอกหลักในการรุกเข้าสู่ตลาดโอทีที เพื่อพาคอนเทนต์เข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะผู้บริโภคไม่ได้ชมคอนเทนต์จากทีวีเท่านั้น แต่ดูจากทุก ๆ อุปกรณ์การสื่อสาร (device)

อย่างไรก็ตาม แม้ทรูจะปรับทัพหันเข้าสู่ตลาดโอทีที แต่ตลาดนี้ในไทยก็ยังไม่ใหญ่ เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ยังคุ้นชินกับการดูฟรี กลายเป็นด่านหินที่ทรูวิชั่นส์ต้องตีให้แตก ว่าจะทำให้ผู้ชมยอมจ่าย เพื่อชมคอนเทนต์บนทรูไอดีได้อย่างไร ขณะที่คอนเทนต์ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ก็มีต้นทุนสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นการจะลงทุนซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ทรูวิชั่นส์พยายามทำ คือ การผลิตและพัฒนาคอนเทนต์ของตัวเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่างให้แก่แพลตฟอร์มที่มี เพราะคนไทยก็ยังให้ความสำคัญกับโลคอลคอนเทนต์ (local content) ขณะเดียวกันก็หวังส่งคอนเทนต์ที่ผลิตป้อนตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางด้วย

ขณะเดียวกัน ถ้ามองอีกมุมพบว่า คอนเทนต์ที่ทรูวิชั่นส์มีก็ค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าของช่องก็ยกเลิกการให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไป เพราะสถานการณ์สื่อไม่ดี จำนวนช่องในทรูชั่นส์ก็หายไปเรื่อย ๆ ประกอบกับคู่แข่งตลาดโอทีทีที่เพิ่มขึ้น ทั้งเน็ตฟลิกซ์ วิว ไลน์ทีวี ก็รุกเข้ามาชิงเวลาและความสนใจของผู้ชมไปด้วย ด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลายทั้งหนัง การ์ตูน สารคดี วาไรตี้ หรือการจับมือกับผู้ผลิตในไทยเพื่อผลิตโลคอลคอนเทนต์ ชูจุดเด่น ดูตอนไหนก็ได้ ตามเวลาที่สะดวก นั่นหมายถึงอำนาจด้านคอนเทนต์ของทรูวิชั่นส์ ก็ถูกเฉือนลงเรื่อย ๆ และถ้าจะรอความหวังจากคอนเทนต์กีฬาที่คนยังนิยมชมสดมาสร้างชื่อก็คงไม่ได้

เพราะการประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาลใหม่ ก็ยังไม่ชัดเจนในแง่รายได้ ทรูวิชั่นส์ก็ถูกเปลี่ยน จากเดิมที่รายได้หลักมาจากค่าสมาชิก ซึ่งกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ แต่หลังจากเจอวิกฤตปี 2555 เมื่อคอนเทนต์แม่เหล็กอย่างการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ตกไปอยู่ในมือ “ซีทีเอช” ผู้ท้าชิงรายใหม่ในขณะนั้น ก็ทำให้ทรูวิชั่นส์ออกอาการเซเช่นกัน จนต้องยกเครื่องใหม่ด้วยการใช้กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ ที่ผสมผสานแต่ละบริการเข้าด้วยกัน ทั้งทรูมูฟ เอช ทรูออนไลน์ ทรูวิชั่นส์ เข้าช่วย และพลิกสัดส่วนฐานสมาชิกใหม่ โดยเจาะกลุ่มแมสมากขึ้น เพื่อทดแทนรายได้จากลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยมที่หายไป

โดยหากพิจารณาจากฐานสมาชิกกลุ่มพรีเมี่ยมและมาตรฐาน ในแต่ละปีของทรูวิชั่นส์ก็ไม่ได้ลดลง โดยปี 2557 มีสมาชิกพรีเมี่ยมประมาณ 939,972 ราย จากฐานสมาชิกทั้งหมด 2.5 ล้านราย โดยคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการต่อเดือนอยู่ที่ 715 บาท ขณะที่ปี 2558 ฐานสมาชิกกลุ่มพรีเมี่ยมเพิ่มเป็น 1.4 ล้านราย จากสมาชิกทั้งหมด 2.5 ล้านราย แต่ในแง่ของรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการต่อเดือนกลับลดลงเหลือเพียง 523 บาทเท่านั้น และในปี 2561 เหลือเพียง 311 บาทต่อคนต่อเดือน กลายเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้เช่นกัน

ขณะที่นายธนภูมิ ภาคย์วิศาล ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ ทรูออนไลน์ ทรูวิชั่นส์ และคอนเวอร์เจนซ์บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ผู้บริหารเพย์ทีวี “ทรูวิชั่นส์” ยอมรับว่า แม้ขณะนี้ทรูวิชั่นส์จะเป็นผู้เล่นรายเดียวในตลาดเพย์ทีวีของไทย (ไม่นับรวมเคเบิลทีวีท้องถิ่น) แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้โจทย์ของการอยู่บนตลาดนี้ก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันธุรกิจเพย์ทีวีทั่วโลก รวมถึงทรูวิชั่นส์ก็กำลังเผชิญปัญหาไม่ต่างกัน นั่นคือการถูกดิสรัปชั่นจากการเติบโตของเทคโนโลยี พฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และความท้าทายบทใหม่ที่เกิดขึ้น นั่นคือจะแย่งเวลาและความสนใจของผู้ชมได้อย่างไร

หนึ่งในแนวทางที่ทรูวิชั่นส์ หมายมั่นปั้นมือว่าจะเดินหน้าต่อ คือ การเปลี่ยนตัวเองจากผู้ให้บริการเพย์ทีวีสู่บริการโอทีที ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล “ทรูไอดี” ที่สร้างขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งกล่องทรูไอดี แอปพลิเคชั่นทรูไอดี เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมคนยุคนี้ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่ผู้เล่นในตลาดเพย์ทีวีต่างประเทศกำลังเดินไป

“เป้าหมายหลักทรูวิชั่นส์ คือ ตอบโจทย์และเข้าใจพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ดูทีวีลดลง เลือกชมคอนเทนต์ที่ตัวเองต้องการตามเวลาที่สะดวกให้ได้ ดังนั้นจึงพยายามพัฒนาและสร้างการเติบโตจากตัวทรูไอดีที่เป็นแพลตฟอร์มโอทีทีขึ้น พร้อมกับสร้างการเติบโตให้แก่เพย์ทีวีควบคู่กันไป”

ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ทรูวิชั่นส์ต้องตีให้แตก และสิ่งที่แพลตฟอร์มต้องมี คือ คอนเทนต์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเพย์ทีวีและโอทีที ที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจควักกระเป๋าหรือไม่ ดังนั้น บริษัทก็เดินหน้าเติมคอนเทนต์ใหม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกีฬาและภาพยนตร์ถือเป็นคอนเทนต์หลัก โดยปีนี้จะลงทุนด้านคอนเทนต์ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท รวมถึงการประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษรอบใหม่ ก็พร้อมจะสู้เต็มที่ด้วยเช่นกัน

นายธนภูมิย้ำว่า แม้ขณะนี้ตลาดโอทีทีในไทยจะไม่ใหญ่ เพราะผู้ชมไทยส่วนใหญ่คุ้นชินกับการชมฟรี แต่ก็สามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เลือกดูคอนเทนต์ที่ชอบ ตามเวลาที่สะดวกได้ และด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทเชื่อมั่นและเดินหน้าลงทุนในแพลตฟอร์มทรูไอดีต่อเนื่อง ซึ่งแม้ตลาดจะยังไม่ใหญ่ แต่ก็ต้องเดิน เพราะเป็นเทรนด์ของตลาดและโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

การพลิกตัวเองสู่ตลาดโอทีทีครั้งนี้ แม้ทรูวิชั่นส์จะเสี่ยง แต่ก็ต้องลอง กลายเป็นเดิมพันครั้งใหม่ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น