เบียร์ แห่เพิ่มพอร์ตโฟลิโอ เปิดศึกไซซ์ 490 มล. ตอบโจทย์คุ้มค่า

ตลาดเบียร์ในเมืองไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีความคึกคักในแง่วาไรตี้ของโปรดักต์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กระแสของเบียร์ทางเลือก อย่างอิมพอร์ตเบียร์ รวมถึงคราฟต์เบียร์ ถูกพูดถึงเป็นจำนวนมาก 

แม้จะมีมูลค่าตลาดไม่มากเมื่อเทียบกับภาพรวม แต่กลุ่มคนที่บริโภคเบียร์เหล่านี้ล้วนมีกำลังซื้อ มีความรู้เกี่ยวกับเบียร์ ความแตกต่างของเบียร์แต่ละประเภท และต้องการประสบการณ์ด้านอื่น ๆ มากกว่าการดื่มเพื่อเมา ทำให้เบียร์อิมพอร์ตราคาขวดละ 100-300 บาทก็ยังขายได้ 

รายใหญ่แตกแบรนด์ทางเลือก

เมื่อตลาดกลุ่มนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ค่ายเบียร์รายใหญ่ที่เดิมทีมีแต่สินค้าเจาะตลาดแมส ก็เริ่มปรับโฟกัสหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “สิงห์” ซึ่งเป็นโรงเบียร์ขนาดใหญ่เจ้าแรก ที่นำเสนอเบียร์ทางเลือกใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่เบียร์ประเภทลาเกอร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส สามสาม, คอปเปอร์ บาย เอส สามสาม ฯลฯ กระทั่ง “ช้าง” เองก็ได้เปิดตัวฮันทส์แมน และแบล็ค ดราก้อน

ล่าสุด โรงเบียร์ขนาดใหญ่อีกราย “ไฮเนเก้น” ภายใต้แบรนด์ “เชียร์” ก็ส่งโปรดักต์ใหม่ในเซ็กเมนต์นี้ออกมาสร้างสีสันด้วยเช่นกันกับเชียร์ ซีเล็คชั่น สยาม ไวเซ่น ซึ่งเป็นเบียร์ประเภท “วีตเบียร์” เช่นเดียวกันกับ สโนวี่ฯ และฮันทส์แมน

“พชรชนก ศิลอุดม” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เมนสตรีม กลุ่มบริษัท ทีเอพี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไฮเนเก้น ไทเกอร์ และเชียร์ ชี้ว่า ผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ตลาดมีแบรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งเบียร์นำเข้า และคราฟต์เบียร์ แต่ส่วนใหญ่ราคาของกลุ่มนี้จะกระโดดไปที่ขวดละ 100 บาทขึ้นไป ทำให้ความถี่ในการบริโภคไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับเบียร์ในตลาดแมส ทำให้บริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเบียร์ทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะเข้าไปเจาะกลุ่มผู้บริโภค “อัพเปอร์เมนสตรีม”

ซึ่งตอบโจทย์ในด้านของราคาที่เข้าถึงง่าย และวาไรตี้ของสินค้าที่หลากหลาย โดยเริ่มที่ “เชียร์ ซีเล็คชั่น” ซึ่งจะเป็นซับแบรนด์ของเชียร์ ที่หลังจากนี้จะใช้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ต่อ ๆ ไป

ไซซ์ 490 มล.ยึดเชลฟ์

“พชรชนก” ยังระบุต่อไปอีกว่า สำหรับตลาดเบียร์ปีนี้คาดว่าจะกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง หลังจากสัญญาณการเติบโตในไตรมาสแรกที่ผ่านมาค่อนข้างดี

โดยเฉพาะการเติบโตของแพ็กเกจจิ้งกระป๋อง ขนาด 490 มล. ที่เติบโตขึ้นกว่า 60% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากทุกค่ายต่างพากันส่งไซซ์นี้เข้ามาทำตลาดอย่างครบครัน โดยมองว่าเป็นขนาดที่กำลังพอเหมาะต่อการบริโภค และรู้สึกว่าคุ้มค่าคุ้มราคา ส่วนกลุ่มสลีกแคน 320 มล.ไม่เติบโต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “สิงห์” เป็นแบรนด์ล่าสุดที่ส่งกระป๋องไซซ์ 490 มล.เข้ามาแข่งขันในตลาด หลังจากที่ก่อนหน้านี้วางขายเฉพาะกระป๋องไซซ์ 320 มล.เท่านั้น (ไม่รวมขวดแก้ว) ซึ่งก่อนหน้านี้แทบทุกแบรนด์มีการออกไซซ์ดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นช้าง, เฟรเดอร์บรอย, ฮันทส์แมน, แบล็ค ดราก้อน, ลีโอ, สโนวี่, ยูเบียร์, เชียร์ คลาสสิค, เชียร์ เอ็กซ์ตร้า เป็นต้น

“วิชัย เอี่ยมแสงจันทร์” ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาดธุรกิจเบียร์ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ชี้ว่า โจทย์ของสิงห์คือการพัฒนาสินค้า และนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด เห็นได้จากโปรดักต์ แบรนด์ รวมถึงแพ็กเกจจิ้งใหม่ ๆ ของสิงห์และแบรนด์อื่น ๆ ในเครืออย่างต่อเนื่อง

โดยการที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีการเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้นและมากขึ้น ทำให้เทรนด์ความต้องการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เข้ามาในตลาดโดยเฉพาะอิมพอร์ตและคราฟต์เบียร์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจำนวนมาก ทำให้สิงห์ต้องมีแบรนด์พอร์ตโฟลิโอที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตให้กับแบรนด์หลัก ไม่ว่าจะเป็นสิงห์หรือลีโอ ผ่านการทำกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ การออกแพ็กเกจจิ้งใหม่ หรือลิมิเต็ดเอดิชั่น

ศึกแพ็กเกจจิ้งระอุ

แหล่งข่าวจากวงการแอลกอฮอล์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของการทำตลาดไม่ว่าจะเป็นการห้ามโฆษณา การจำกัดเวลาขาย การห้ามทำโปรโมชั่น แคมเปญส่งเสริมการขายต่าง ๆ กับผู้บริโภค ทำให้แบรนด์หันมากระตุ้นผ่านสินค้าใหม่ และแพ็กเกจจิ้งรูปแบบใหม่ ๆ กันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ลีโอ ที่ออกขวดอะลูมิเนียมแบบลิมิเต็ดเอดิชั่น แบรนด์สิงห์ที่เปลี่ยนฉลากใหม่ให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น รวมถึงเชียร์ ซีเล็คชั่น สยาม ไวเซ่น ที่ใช้กราฟิกรูปยักษ์ และเชียร์ ซีเล็คชั่น ไรซ์เบอรี่ เป็นกราฟิกรูปไก่ฟ้าพญาลอ ล่าสุดยังพบว่าแบรนด์ไฮเนเก้น ก็ปรับฉลากใหม่ด้วยเช่นกัน โดยมีคำว่าไฮเนเก้นอยู่ด้านล่าง มีสัญลักษณ์ดาวสีแดงตรงกลางที่ขยายให้ใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า แพ็กเกจจิ้งใหม่ของเบียร์ไฮเนเก้นนั้น มีความคล้ายคลึงกับไฮเนเก้น 0.0 เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่วางตลาดไปในช่วงก่อนหน้านี้ โดยสีพื้นหลังของ

คำว่าไฮเนเก้น หากเป็นเบียร์ จะใช้สีเขียว ส่วนเครื่องดื่มมอล์ต ไม่มีแอลกอฮอล์จะใช้สีน้ำเงิน และมีคำว่าแอลกอฮอล์ฟรีตัวเล็กๆ อยู่ด้านล่าง เป็นต้น

แต่ในภาพรวมการใช้สัญลักษณ์ดาวสีแดง และตำแหน่งของการวางตัวอักษรต่าง ๆ มีความใกล้เคียงกับแพ็กเกจจิ้งเบียร์ปกติ


คงต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของตลาดนี้เอาไว้ให้ดี…