โฆษณาดิจิทัล…พุ่งทั่วโลก สินค้าไทยหว่านงบฯปลุกยอดขาย

ไต่ขึ้นมาตามแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกตามมาสำหรับการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยปีนี้สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ก็คาดการณ์ว่า สินค้าจะใช้งบฯผ่านสื่อนี้เพิ่มเป็น 19,692 ล้านบาท หรือกินส่วนแบ่งถึง 17-20% ของภาพรวมงบฯโฆษณาที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

“ศิวัตร เชาวรียวงษ์” ประธานกรรมการ บริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวในงานสัมมนาดิจิทัล “Group M FOCAL 2019” ว่า แนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีสัดส่วนกว่า 50% ของอุตสาหกรรมโฆษณารวม ทั้งนี้ สินค้าส่วนใหญ่ก็ยังใช้งบฯสูงสุดผ่าน 4 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ กูเกิล 103.73 ล้านเหรียญสหรัฐ

เฟซบุ๊ก 67.37 ล้านเหรียญสหรัฐ อาลีบาบา 29.20 ล้านเหรียญสหรัฐ และอเมซอน 14.03 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันรูปแบบการใช้โฆษณาบนสื่อดิจิทัลเปลี่ยนไป โดยใช้เพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่ตกอยู่ที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จากเดิมที่แบรนด์ใช้งบฯผ่านสื่อนี้เพื่อสร้างแบรนด์และสร้างการรับรู้เท่านั้น

ขณะที่ทิศทางการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลก็เป็นไปตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 19,692 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17-20% ของงบฯโฆษณารวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่า 16,928 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล กลายเป็นโอกาสของสินค้าในการนำเทคโนโลยี
มาเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทำให้การทำงาน การวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคทำได้ง่ายขึ้น และทำให้แบรนด์สามารถวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เจาะตรงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ในแง่ของพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลของผู้บริโภคไทยทั้งหัวเมืองใหญ่และต่างจังหวัดก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น แบรนด์ต้องวางแผนการตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น

สอดรับ “ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์” ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัลด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริโภคใน 17 จังหวัด รวม 5 ภาค ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2562 พบว่าแนวโน้มการใช้สื่อดิจิทัลระหว่างคนเมืองกับคนต่างจังหวัดไม่ต่างกัน โดยคนต่างจังหวัดเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น และมองว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะสื่อดิจิทัลเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งการติดต่อสื่อสารกับเพื่อน การทำงาน การหาข้อมูลข่าวสาร การทำธุรกรรมทางการเงิน

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ยังเปิดรับสื่อจากหลากหลายช่องทาง แต่เปลี่ยนรูปแบบไป ยกตัวอย่างเช่น สื่อวิทยุ ก็ยังได้รับความนิยม แต่เปลี่ยนจากเครื่องรับวิทยุเป็นฟังจากแอปพลิเคชั่นของวิทยุช่องนั้น ๆ แทน ส่วนทีวีผู้ชมก็ยังดูอยู่แต่เปลี่ยนจากการดูคอนเทนต์ผ่านเครื่องรับเป็นการชมจากแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊กไลฟ์ เมลโล่ ไลน์ทีวี เป็นต้น

ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไทยปีนี้ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มข่าว คือ เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ 2.กลุ่มการสื่อสาร ได้แก่ ไลน์ messenger 3.กลุ่มบันเทิง ได้แก่ ยูทูบ กูเกิล ไลน์ทีวี JOOK เมลโล่ และเน็ตฟลิกซ์ 4.กลุ่มการเงิน ได้แก่ กรุงไทย เคแบงก์ เอสซีบี กรุงศรี ทีเอ็มบี ทรูวอลเล็ต 5.กลุ่มช็อปปิ้ง ได้แก่ เฟซบุ๊กไลฟ์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ลาซาด้า ช็อปปิ้ง อินสตาแกรม และ 6.กลุ่มเสิร์ช ได้แก่ กูเกิล เฟซบุ๊ก โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มซิตคอม คือ เป็นต่อ เสือ ชะนี เก้ง ส่วนละคร คือ เมียน้อย ทองเอกหมอยาท่าโฉลง กลุ่มเซเลบริตี้ ดารา คือ อั้ม พัชราภา เวียร์ ศุกลวัฒน์ และเบลล่า ราณี และข่าวที่ได้รับความสนใจ คือ ช่อง 8 และเฟซบุ๊กไทยรัฐ

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคกลุ่มนี้ด้วย โดยผู้บริโภคจะใช้สื่อดิจิทัลในการหาเงินในหลากหลายรูปแบบ เช่น ขายสินค้า สร้างคลิปแล้วนำลงในยูทูบ (YouTube) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็จะใช้เงินผ่านสื่อดิจิทัลด้วยเช่นกัน เช่น ซื้อเครื่องสำอาง เสี่ยงโชค ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า เป็นต้น

“คนต่างจังหวัดยังไปตลาด ไปศูนย์การค้า เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ และกลับมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เช่นเดียวกับกลุ่มคนเมือง ดังนั้น แบรนด์ก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย”

“ณัฐวีร์” กล่าวต่อว่า สิ่งที่แบรนด์ต้องทำจากนี้ไป คือ ต้องตระหนักว่าโอกาสอยู่รอบตัว จะโฟกัสหรือเจาะแค่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มใดกลุ่มเดียวคงไม่ได้ เพราะพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มคนเมืองและต่างจังหวัดแทบไม่แตกต่างกันแล้ว ซึ่งสินค้าต้องใช้สื่อดิจิทัลเพื่อพิชิตยอดขายมากขึ้น แทนการสร้างการรับรู้เหมือนที่ผ่านมา

การเติบโตของสื่อดิจิทัลกำลังมาพร้อมกับความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ที่แบรนด์ต้องขยับตัวให้ทัน