ร้อนปรอทแตก”แอร์”ขาดตลาด เพิ่มกำลังผลิตรับดีมานด์ทะลัก!

ร้อนทะลุ 40 องศา ยอด “แอร์-พัดลม” พุ่งกระฉูด สินค้าขาดตลาด คิวติดตั้งยาวข้ามเดือน “ไดกิ้น” สั่งโรงงานเร่งกำลังผลิต ด้าน “แคเรียร์” เพิ่มสต๊อก-เตรียมลอนช์โปรฯแรงหวังรักษาโมเมนตัม ลุ้นยอดขายโต 40% ฝั่ง “ชาร์ป” ชี้ตลาดพัดลมขายดี สินค้าไม่พอขาย

สภาพอากาศที่ร้อนจัดระดับทะลุ 40 องศาเซลเซียสแทบทุกจังหวัด เป็นปัจจัยสำคัญที่มากระตุ้นดีมานด์แอร์และพัดลมในทุกพื้นที่ให้พุ่งสูงขึ้น เห็นได้จากยอดขายของแต่ละแบรนด์ที่เติบโตระดับ 20-30% เทียบกับหน้าร้อนปีที่แล้ว ล่าสุด หลาย ๆ ค่ายเริ่มมีปัญหาสินค้าขาดและคิวการติดตั้งนานเป็นเดือน แม้จะได้มีการวางแผนสำรองสินค้า-ทีมช่างไว้แล้วก็ตาม ทำให้แทบทุกค่ายต้องสั่งโรงงานให้เร่งกำลังผลิตเป็นการด่วน พร้อมเตรียมลอนช์แคมเปญ เพื่อเพิ่มยอดสินค้าล่วงหน้าในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่จะถึงนี้

ร้อนทำให้ขายดี-ติดตั้งไม่ทัน

นายสมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนมากในขณะนี้ ทำให้ตลาดแอร์บ้านที่มีมูลค่าราว ๆ 3 หมื่นล้านบาท จากตลาดแอร์รวม 5 หมื่นล้านบาท อาจเติบโต 12-15% สำหรับปีนี้ จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาตัวเลขการเติบโตเป็นเลขหลักเดียว นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์เรื่องฉลากเบอร์ 5 รุ่นใหม่ (ติดดาว) ของการไฟฟ้า ที่ช่วยสร้างการรับรู้และย้ำจุดขายเรื่องความประหยัดของแอร์อินเวอร์เตอร์ซึ่งเป็นเทรนด์หลักของตลาด จึงสามารถกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคทั่วประเทศคึกคัก สำหรับไดกิ้นเอง จากการอัพเดตยอดขายล่าสุดก็พบว่ามีการเติบโตถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

“ขณะนี้ดีมานด์ของตลาดแอร์สูงกว่าที่คาดไว้มาก จนสินค้าขาดตลาดในบางพื้นที่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเมษายนที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ได้สต๊อกสินค้าไว้มากกว่าปีที่แล้วถึง 25% เช่นเดียวกับงานติดตั้งซึ่งทีมงานของดีลเลอร์หลายรายมีคิวถึงวันละ 8-10 เครื่อง บางพื้นที่ลูกค้าต้องรอคิวติดตั้งนาน และตอนนี้ได้สั่งให้โรงงาน (นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี) เพิ่มกำลังการผลิตให้พอกับความต้องการที่เกิดขึ้น โดยพื้นที่ที่สินค้าขาดจะได้รับสินค้าในเวลาไม่เกิน 1 เดือน”

นายสมพรกล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดแอร์บ้านจะยังมีดีมานด์สูงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นมิถุนายน จากนั้นบริษัทจะหันไปให้น้ำหนักกับการทำตลาดแอร์พาณิชย์ที่มีดีมานด์จากที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างหมู่บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ และโรงงานอุตสาหกรรม จากกลยุทธ์ดังกล่าวมั่นใจว่าปีนี้ไดกิ้นจะมียอดขายกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หรือโต 15% จากปีที่ผ่านมา และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อีก 1-2% เป็น 24-26%

ยอดขายโตเพิ่มเท่าตัว

นายอดิศักดิ์ รัมมณีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า สภาพอากาศและความตื่นตัวเรื่องฝุ่น PM 2.5 ช่วยให้หน้าร้อนปีนี้ยอดขายทุกช่องทางสูงขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะรุ่นไฮไลต์ “เอ็กซ์อินเวอร์เตอร์” ที่มีจุดเด่นด้านประหยัดไฟและระบบฟอกอากาศ อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าที่สต๊อกไว้จะยังเพียงพอเพราะสำรองสต๊อกไว้ล่วงหน้าประมาณ 30% แต่ในแง่ของการติดตั้ง กลับพบว่าตอนนี้ลูกค้าต้องรอคิวนานถึง 5-7 วัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีมากในช่วงนี้ บริษัทได้เตรียมเพิ่มออร์เดอร์สำหรับช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. พร้อมลอนช์แคมเปญส่งเสริมการขายต่อเนื่อง เพื่อรักษาโมเมนตัมการขายและรับดีมานด์ที่คาดว่าจะสูงต่อเนื่องเพราะสภาพอากาศยังร้อนมาก

“ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของตลาดแอร์ และคาดว่ายอดขายของแคเรียร์จะโตถึง 40% จากเป้าที่ตั้งไว้เพียง 20% เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”

ช่างติดตั้งแอร์-พัดลมขาดตลาด

นายประดิษฐ์ สุตังคานุ ผู้จัดการสายงานการตลาด บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ “ชาร์ป” เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในปีนี้ นอกจากแอร์ที่มียอดขายดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้ว ยังทำให้สินค้าทำความเย็นแทบทุกชนิดมียอดขายดีตามไปด้วย อาทิ พัดลม ที่พบว่าตลาดมีดีมานด์พุ่งสูงขึ้นมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาไม่แพง ขณะเดียวกันก็ทำให้สินค้ารุ่นยอดนิยมเริ่มขาดตลาดในบางช่องทาง ซึ่งบริษัทก็ได้เร่งกำลังผลิตเต็มที่เพื่อรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้วย

สอดคล้องกับการสำรวจของผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ที่พบว่า ขณะนี้คิวติดตั้งแอร์ในเชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ อาทิ เพาเวอร์บาย บางสาขาต้องรอนานถึง 1 เดือน เนื่องจากมีผู้ซื้อแอร์จำนวนมากในช่วงนี้ โดยหากลูกค้าเลือกติดตั้งเองจะได้สินค้าเร็วกว่า พร้อมหักค่าติดตั้ง 1,800 บาทจากราคาสินค้า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!