สิ้นสุดการรอคอย คืนช่องทีวีดิจิทัล “คุ้ม…ไม่คุ้ม”

สิ้นสุดการรอคอย หลังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยเปิดให้ทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่องคืนช่องได้

ความคืบหน้าล่าสุด “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ว่า ทีวีดิจิทัลที่ต้องการคืนใบอนุญาต สามารถยื่นเรื่องได้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนถึง 10 พฤษภาคมนี้ แต่ต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ก่อน โดยจะยุติการออกอากาศตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป เบื้องต้นคาดว่าจะมีช่องที่จะคืน 4-5 ช่อง

ส่วนช่องที่จะดำเนินธุรกิจต่อก็ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตอีก 2 งวดที่เหลือ (งวดที่ 5 กับงวดที่ 6) คิดเป็นมูลค่า 3,215.2 ล้านบาท (17 ช่อง) ส่วนช่องที่จ่ายค่าใบอนุญาตเกินมา คือ ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ และสปริงค์นิวส์ กสทช.จะคืนเงินให้รวม 986.6 ล้านบาท อีกทั้งจะจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ให้ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออีก 9 ปี 6 เดือน จำนวน 18,775.8 ล้านบาท

แม้จะเป็นข้อเสนอที่จูงใจไม่น้อย แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังออกอาการลังเลว่าจะเดินต่อหรือจะหยุดแค่นี้ เพราะยังรอรายละเอียดปลีกย่อยที่ กสทช.จะออกอีกครั้งหลังวันที่ 10 พ.ค.นี้ ซึ่ง กสทช.ก็ยังเปิดกว้างแบบสุดตัวว่า ถ้ามาตรการที่ออกมาหลังวันที่ 10 พ.ค.นี้ไม่โดนใจ ช่องที่ยื่นขอคืนแล้วก็สามารถถอนเรื่องได้เช่นกัน

“ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 เอชดี ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า จะคืนหรือไม่คืนช่อง เนื่องจากต้องรอประชุมบอร์ดบริหารเป็นผู้ตัดสินใจ

เช่นเดียวกับ “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า อสมท ต้องรอประชุมบอร์ดบริหารก่อนถึงจะให้คำตอบได้ว่าจะคืนช่องหรือไม่ ซึ่งก็ต้องประเมินว่า ระยะยาวแล้วระหว่างคืนช่องกับออกอากาศต่อจะต้องใช้เงินลงทุนด้านคอนเทนต์เท่าไร คุ้มค่าหรือไม่

“ค่าคอนเทนต์บุคลากรเป็นต้นทุนหลักของทีวีดิจิทัล คิดเป็นสัดส่วน 85-90% ส่วนค่าโครงข่ายใบอนุญาตมีสัดส่วนเพียง 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด ถ้าช่องจะเดินต่อก็ต้องประเมินว่า ค่าคอนเทนต์และบุคลากรจะคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งแต่ละช่องก็ยังรอเงื่อนไขจาก กสทช.อยู่”

“เขมทัตต์” กล่าวต่อว่า หลัง กสทช.ปลดล็อกให้คืนช่องได้ สถานการณ์ของอุตฯก็ผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตาม หากการวัดผลความนิยมผู้ชม (เรตติ้ง) ยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้น มีเดียเอเยนซี่ก็ยังคงใช้งบฯกับช่องที่มีเรตติ้ง 10 อันดับแรกเท่านั้น เพราะเม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม ไม่เช่นนั้นท้ายที่สุดทีวีดิจิทัลก็ยังตกอยู่ในสถานการณ์เดิม คือ รายได้น้อยแต่ต้นทุนสูง เนื่องจากมีต้นทุนคงที่สูงจากค่าคอนเทนต์และบุคลากรที่ต้องลงทุนทุกปีเฉลี่ยปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลวิเคราะห์ว่า กลุ่มที่จะคืนช่องส่วนใหญ่จะเป็นช่องเล็กที่ขาดทุนมาต่อเนื่อง รวมถึงช่องเด็กด้วย เพราะโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างน้อย ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มนี้ก็มีเรตติ้งท้าย ๆ ตาราง งบฯโฆษณาก็ไม่เข้า โดยกระจุกตัวอยู่แค่ช่องที่มีเรตติ้ง 10 อันดับแรก ดังนั้น ถ้าต้องการอยู่ต่อก็ต้องปรับโพซิชันนิ่ง หรือหาโมเดลสร้างรายได้ใหม่

ขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่องจะเดินหน้าต่อ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตและค่าเช่าโครงข่ายแล้ว เท่ากับต้นทุนส่วนนี้จะหายไป และเหลือเพียงต้นทุนจากการผลิตคอนเทนต์ บุคลากรที่เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งที่ผ่านมาทีวีดิจิทัลก็ปรับตัวมาแล้วต่อเนื่อง ทั้งแบ่งเวลาให้โฮมช็อปปิ้งเช่าขายสินค้า รวมถึงดึงผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาเสริมทัพตั้งแต่ปลายปี 2559 เช่น บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในเครือไทยเบฟ เข้าซื้อหุ้น 47.62% หรือคิดเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท จาก บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของอมรินทร์ทีวี หรือ บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ที่เข้ามาถือหุ้น 50% จาก บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เจ้าของช่อง วัน 31 และ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ที่มี “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เรียกว่าทีวีดิจิทัลก็ปรับตัวพร้อมต่อลมหายใจมาเป็นระยะ ๆ

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2557 ที่ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศก็พบว่า ขาดทุนมาต่อเนื่อง แค่ออกอากาศเพียง 1 ปี “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” เจ้าของโลก้าและไทยทีวีก็ถอยทัพ โดยขาดทุนถึง 1,900 ล้านบาท

ส่วนผู้ที่เหลือรอดอีก 22 ช่องก็ตกอยู่ภาวะเจ็บแต่ห้ามตาย โดยจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ทีวีดิจิทัลขาดทุนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557

ไล่ตั้งแต่บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (พีพีทีวี) ที่มีรายได้เพียง 317 ล้านบาท แต่ขาดทุนหนักถึง 2,028 ล้านบาทในปี 2560 ถอยหลังมาปี 2559 ก็เก็บรายได้เพียง 232 ล้านบาท แต่ขาดทุนถึง 1,996 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 195 ล้านบาท ขาดทุน 1,799 ล้านบาท และปี 2557 มีรายได้ 55 ล้านบาท ขาดทุน 1,102 ล้านบาท

เช่นเดียวกับไทยรัฐทีวีในนามของบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ปี 2560 มีรายได้รวม 740 ล้านบาท ขาดทุน 927 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 566 ล้านบาท ขาดทุน 928 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 495 ล้านบาท ขาดทุน 1,148 ล้านบาท และปี 2557 รายได้ 217 ล้านบาท ขาดทุน 894 ล้านบาท ส่วน บริษัท ไบรท์ทีวี จำกัด (ไบรท์ทีวี) ปี 2560 มีรายได้ 278 ล้านบาท ขาดทุน 134 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 258 ล้านบาท ขาดทุน 191 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 268 ล้านบาท ขาดทุน 229 ล้านบาท ปี 2557 รายได้ 435 ล้านบาท ขาดทุน 39 ล้านบาท

ขณะที่ บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด (วอยซ์ทีวี) ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน โดยปี 2560 มีรายได้รวม 132 ล้านบาท ขาดทุน 354 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 179 ล้านบาท ขาดทุน 368 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 126 ล้านบาท ขาดทุน 409 ล้านบาท และปี 2557 รายได้ 117 ล้านบาท ขาดทุน 310 ล้านบาท และบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (นิวทีวี)

ปี 2560 รายได้รวม 124 ล้านบาท ขาดทุน 461 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 84 ล้านบาท ขาดทุน 636 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้ 75 ล้านบาท ขาดทุน 741 ล้านบาท และปี 2557 รายได้ 14 ล้านบาท ขาดทุน 425 ล้านบาท

ฟากเบอร์ใหญ่อย่าง บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารทีวีดิจิทัล 3 ช่อง ด้านแนวโน้มกำไรก็ลดลง โดยปี 2561 มีรายได้ 10,375.7 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 11,035 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 12,534 ล้านบาท กำไร 1,218 ล้านบาท และปี 2558 รายได้ 15,981 ล้านบาท กำไร 1,764 ล้านบาท

ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็ยังมีช่องที่ลอยลำ สร้างรายได้ชัดเจน เริ่มตั้งแต่เจ้าตลาดฟรีทีวี ช่อง 7 ที่ยึดพื้นที่ละครหลังข่าวไว้เหนียวแน่น แม้โดยรวมแล้วกำไรลดลงก็ตาม ซึ่งมีรายได้รวม

ปี 2559 จำนวน 5,825 ล้านบาท กำไร 1,567 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ที่มีกำไร 2,723 ล้านบาท จากปี 2557 ที่มีกำไรถึง 5,510 ล้านบาท ส่วนโมโน 29 แนวโน้มรายได้จากธุรกิจทีวีก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปีนี้ประกาศขึ้นราคาโฆษณาไพรมไทม์ถึง 50% เช่นเดียวกับ

เวิร์คพอยท์ทีวีที่แนวโน้มรายได้จากธุรกิจทีวีไต่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยปี 2558 มีรายได้ทีวี 2,078 ล้านบาท ปี 2559 เพิ่มเป็น 2,391 ล้านบาท และปี 2560 อยู่ที่ 3,478 ล้านบาท ส่วนปี 2561 มีรายได้จากทีวีอยู่ที่ 2,968 ล้านบาท

เมื่อ กสทช.ดันสุดตัวด้วยการผ่าทางตันให้ทีวีดิจิทัลคืนช่องได้ ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญว่า เกมนี้ทีวีดิจิทัลจะยอมเจ็บแต่จบ ด้วยการคืนช่อง และแบกหนี้สินไว้หรือสู้ต่อ พร้อมพลิกโมเดลหารายได้ใหม่เพื่อเรียกทุนคืนกับระยะเวลาการออกอากาศที่เหลืออยู่อีก 9 ปี 6 เดือน

เกมนี้ทุกช่องยังออกอาการรี ๆ รอ ๆ เพราะยังรอดู กสทช.อยู่เพื่อประเมินว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม