GMM ทำไมต้องหาทุนใหม่ เติมเงิน..ต่อลมหายใจ…สปีดธุรกิจ

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ถือเป็นอีกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจทีวีดิจิทัล ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท อเดลฟอส จำกัด ที่มี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เข้าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 1,000 ล้านบาท เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน สร้างความคึกคักให้แก่อุตสาหกรรมไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ แกรมมี่ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ช่องวัน 31) มูลค่ากว่า 1,900 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ที่มี นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ล่าสุด “สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มีเดีย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ได้เปิดแถลงข่าวด่วนในช่วงต้นสัปดาห์ทันที ถึงการเพิ่มทุนดังกล่าวว่า แกรมมี่กำลังขายธุรกิจที่กำลังเติบโต ซึ่งทีวีดิจิทัลก็เป็นอีกธุรกิจที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในอนาคต ปัจจุบันแกรมมี่มีพันธมิตร 2 รายใหญ่ คือ บริษัท อเดลฟอส จำกัด กับจีเอ็มเอ็ม แชนแนลฯ และบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด กับช่องวัน 31 เท่ากับว่าบริษัทจะมีศักยภาพขับเคลื่อนธุรกิจทีวีดิจิทัลให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากเพิ่มทุนแล้ว บริษัทจะปรับลดภาระหนี้ และปรับโครงสร้างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ใหม่ จะประกอบด้วย 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (จีเอ็มเอ็ม 25) บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (คลื่นวิทยุ) บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด (ผลิตรายการทีวี) และบริษัท เอไทม์ ทราเวิลเลอร์ จำกัด (ธุรกิจท่องเที่ยว) คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเม็ดเงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้หลัก ๆ จะถูกเทเข้าไปในช่องจีเอ็มเอ็ม 25

นั่นหมายถึงทิศทางจากนี้ไป ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะคล่องตัวมากขึ้น ทั้งในแง่เม็ดเงินการลงทุน รวมถึงการเพิ่มและซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศด้วย เพราะธุรกิจทีวีต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยแต่ละปีใช้งบฯผลิตคอนเทนต์เฉลี่ย 500-600 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดผังรายการใหม่ เพื่อขยายฐานผู้ชม เพิ่มเรตติ้งให้มากที่สุด
กล่าวว่า แม้ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ที่ออกอากาศมาเกือบ 3 ปีอาจขาดทุนบ้าง โดยปี 2559 ขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาท แต่แนวโน้มการขาดทุนก็ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งการเพิ่มทุนทำให้ช่องมีเม็ดเงินลงทุนมากขึ้น แต่เม็ดเงินลงทุนก็เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะบางช่องมีเงินลงทุนจำนวนมากแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ช่องต้องมีคอนเทนต์ที่ดีด้วยจึงจะทำให้ธุรกิจนี้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจีเอ็มเอ็ม 25 ก็มีคอนเทนต์ที่แข็งแรง และมีฐานคนดูประจำ คาดว่าด้วยจุดเด่นเหล่านี้จะทำให้บริษัทสามารถเพิ่มเรตติ้งได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิทัลถือว่ายังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ขณะที่ปัญหาใหญ่คือช่องที่เพิ่มมากขึ้น 22 ช่อง ทำให้แต่ละช่องต้องวางโพซิชันนิ่งให้ชัดเจน ซึ่งช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีแคแร็กเตอร์ที่ชัดเจน และมีโมเดลแตกต่าง ทำให้บริษัทยังสามารถเติบโตขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

เมื่อธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” บอสใหญ่แห่งแกรมมี่ วาดแผนไว้ไม่เป็นไปตามแผน จากหลากหลายปัจจัยทั้งการแข่งขัน ค่าไลเซนส์ ต้นทุนผลิตคอนเทนต์ที่สูงขึ้น แต่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจนี้ไม่ได้โตขึ้น หรือมีมูลค่าเพียง 60,000 ล้านบาท

การหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งเข้ามาเสริมศักยภาพ เพื่อให้ธุรกิจทีวีเดินหน้าต่อไปกลายเป็นอีกทางเลือก