“เจ๊ติ๋ม” ไล่บี้ ฟ้อง กสทช. ชี้ ม.44 ไม่ทำให้ “ทีวีดิจิทัล” ดีขึ้น

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

หลังออนแอร์ได้เพียงปีเดียว “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ที่คนในวงการเรียกขานกัน ต้องตัดใจยุติการออกอากาศทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องที่ประมูลมาได้ คือ ช่องข่าว “ไทยทีวี” และช่องเด็ก “โลก้า” ด้วยเม็ดเงินรวมกว่า 1,976 ล้านบาท พร้อมทั้งต้องแบกภาระหนี้จากการขาดทุน 1,000 กว่าล้านบาท

ตามมาด้วยการยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อช่วงปี 2558 และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ศาลปกครองก็ตัดสินให้ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้

การชนะคดีครั้งนั้น ถือเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญให้กับทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ ที่กำลังบาดเจ็บได้เดินตาม จนนำมาสู่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสามารถจะคืนช่องได้ และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายตลอดอายุสัญญาที่เหลืออีก 9 ปี 6 เดือน

หลายช่องเริ่มใจชื้นขึ้นมาบ้าง หลายค่ายต้องการจะคืนคลื่น เพียงแต่รอดูและพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ที่กำลังจะตามออกมา

ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด อดีตเจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และโลก้า ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว

เธอระบุว่า บริษัทไม่เข้าเงื่อนไขที่ กสทช.ประกาศให้คืนช่องได้ เนื่องจากได้คืนใบอนุญาตไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และได้ยื่นฟ้อง กสทช.ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 จนชนะคดี โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ไทยทีวี คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ เพราะ กสทช.ขยายโครงข่ายและแจกคูปองส่วนลดล่าช้า

“เจ๊ติ๋ม” ก็ไม่หยุดเพียงเท่านี้ จากนั้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา เจ๊ติ๋มก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อเรียกเงินคืนและค่าเสียหายรวม 1,134 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่า กสทช.ผิดสัญญาและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ในขบวนการทางศาล

จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา “พันธุ์ทิพา” กล่าวถึงกรณีการส่งหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอทราบมาตรการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลและรายละเอียดของการชดเชย เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินคดีต่อไป

พร้อมกันนี้ เธอยังย้ำว่าจะเดินหน้าดำเนินคดีกับ กสทช.จนถึงที่สุด ซึ่งอาจจะใช้เวลา 2-5 ปี

“นานเท่าไรก็ไม่เป็นไร เพราะเราข้ามผ่านความกลัวมาแล้ว ล้มแล้วต้องลุก หรือหาก กสทช.ต้องการจะไกล่เกลี่ย เราก็เปิดกว้าง ในการเทียบเคียงค่าเสียหาย เพื่อให้บริษัทได้รับความเป็นธรรม”

แม้มาตรา 44 จะช่วยปลดล็อกให้คืนช่องได้ แต่ในทางปฏิบัติ ขณะนี้ กสทช.ก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะชดเชยให้แก่ทีวีดิจิทัลอย่างไร สูตรการชดเชยความเสียหาย หลายช่องยังลังเลว่าจะคืนหรือไม่คืนดีหรือถ้าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเดินหน้าต่อ และมีผู้คืนช่องไม่กี่ช่อง อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลก็ยังอยู่ในสถานการณ์เดิม

นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การแข่งขันยังเข้มข้นเหมือนเดิม เม็ดเงินโฆษณาก็เท่าเดิม หรือเฉลี่ย 60,000-70,000 ล้านบาท และกระจุกอยู่ที่ 10 ช่องแรกเท่านั้น

ผู้ประกอบการก็ต้องประคองตัวในแบบเดิม คือ รีรันคอนเทนต์ ไทอิน (Tie-in) สินค้า รวมถึงดึงทีวีโฮมช็อปปิ้งเข้ามาเช่าเวลา เพื่อสร้างรายได้เช่นเดิมเท่ากับว่าท้ายที่สุดแล้ว การปลดล็อกทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้เปลี่ยน หรือทำให้อุตสาหกรรมทีวีดีขึ้น

พร้อมกันนี้ แม่ทัพใหญ่ ไทยทีวียังย้ำว่า ทิศทางธุรกิจจากนี้ไปยังคงเดินหน้าธุรกิจเดิม คือ นิตยสาร ทีวีพูล แต่ต่อยอดคอนเทนต์ในหลายช่องทางมากขึ้น ได้แก่ การผลิตคอนเทนต์บันเทิงให้ฟรีทีวี การรุกโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของบริษัท นอกจากนี้ นิตยสารทีวีพูลที่ปรับจากรายสัปดาห์เป็นรายเดือน และลดพนักงานจาก 500 คน เหลือ 48 คน เพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้

“พันธุ์ทิพา” ทิ้งท้ายว่า “ทีวีดิจิทัลถือเป็นบทเรียนที่สาหัสสำหรับผู้ประกอบการทีวีทุกราย รวมถึงเราด้วย ซึ่งเรามีประสบการณ์มาแล้ว วันที่ตัดสินใจหยุดธุรกิจ เจ้าหนี้ก็รุมเข้ามา ท้ายที่สุดต้องตัดสินใจขายทรัพย์สินบางส่วน”

“การตัดสินใจคืนช่องทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2558 ถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต เพื่อหยุดเลือด หยุดขาดทุนทันที และถ้าย้อนกลับไปได้ก็จะไม่เข้าไปประมูล”