เกษมราษฎร์ทุ่มลงทุนรอบใหม่ เพิ่มสาขาชายแดนรับดีมานด์ลาว-เขมร

รพ.เกษมราษฎร์ กางแผนยึดหัวเมืองชายแดน ผุด 4 โรงพยาบาลรวดทั้งในไทยและต่างประเทศ เดินหน้าปักธงเชียงของ สระแก้ว ดักดีมานด์คนลาวและกัมพูชา พร้อมเพิ่มโควตาผู้ประกันสังคมเป็น 1 ล้านคน พร้อมหอบเงินลงทุน 1.3 พันล้านบาทข้ามโขง ยึดเวียงจันทน์เปิด รพ.ใหญ่ ขนาด 254 เตียงกลางกรุงเวียงจันทน์ คาดเปิดเฟสแรกต้นปี”64 หวังสปีดรายได้โตปีละ 12-15% ตามแผน

ยังคงเปิดเกมรุกด้วยการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โดยล่าสุดวางแผนจะปักธงในพื้นที่ที่เป็นเขตการค้าชายแดน หรือจังหวัดที่เป็นรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วงชิงดีมานด์ตามชุมชนในจังหวัดนั้น ๆ พร้อม ๆ กับดักดีมานด์จากประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชาไปในตัว

บุกชายแดน…ดักกำลังซื้อ

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอลปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลภายใต้แบรนด์เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เกษมราษฎร์ เวิลด์เมดิคอล และการุญเวช กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจ 3 ปีจากนี้ (2562-2564) บริษัทจะเดินหน้าด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขยายโรงพยาบาล การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน และเพิ่มบริการใหม่ ๆ โดยตั้งเป้าการเติบโตโดยเฉลี่ยไว้ที่ 12-15% ทุกปี

“การเติบโตของบริษัทแบ่งเป็น 2 เฟสใหญ่ คือ ช่วงแรก ระหว่างปี 2527-2547 ที่มีการขยายโรงพยาบาลเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงเฟส 2 ในการขยายธุรกิจอีกรอบ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2556-2564 ที่กลับมาเปิดสาขาเพิ่มอีกครั้ง”

นายแพทย์เฉลิมกล่าวว่า สำหรับทิศทางการขยายสาขานั้นบริษัทตั้งเป้าว่าจะเปิดโรงพยาบาลเพิ่มอีกอย่างน้อย 4 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปี 2563 จะเปิด 2 โรง ได้แก่ รพ.เกษมราษฎร์ สระแก้ว เป็น รพ.ขนาด 126 เตียง และ รพ.เกษมราษฎร์ เชียงของ รพ.ขนาด 30 เตียง ทั้งสอง รพ.ถือเป็นโลเกชั่นสำคัญในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จุดเด่นของรพ.เกษมราษฎร์ สระแก้ว คือ ตั้งอยู่ห่างจากด่านอรัญประเทศ ปอยเปย กัมพูชาเพียง 5 นาที ประกอบกับพื้นที่ในย่านดังกล่าวไม่มีโรงพยาบาลเอกชนเปิดให้บริการ ส่วน รพ.เกษมราษฎร์เชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ใกล้ด่านพรมแดนและสามารถเชื่อมต่อกับประเทศลาวได้สะดวก และพื้นที่ดังกล่าวมีนักลงทุนจากจีนเข้ามาลงจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำคัญของทั้ง 2 สาขาที่กำลังจะขยายการเติบโตได้ในอนาคต

“ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ที่มีกลุ่มผู้ประกันตนอยู่ 3-4 แสนคน แต่ไม่มีโรงพยาบาลเปิดให้บริการ เราจึงไปปักธงที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี จากนั้นก็จะขยายไปที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และอยู่ตรงข้ามกับด่านปอยเปต รองรับผู้ป่วยจากกัมพูชา โดยโมเดลนี้จะคล้าย ๆ กับการเปิดโรงพยาบาลที่แม่สาย เชียงราย ที่เน้นการปักหมุดในทำเลปากทางเข้าประเทศ เนื่องจากมีกำลังซื้อและโอกาสในการเติบโตที่ดี”

ส่วนปี 2564 มีแผนจะเปิด รพ.เกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี เป็น รพ.ขนาด 116 เตียง และ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขนาด 254 เตียง โดยเฟสแรกจะเปิดให้บริการ 110 เตียงในต้นปี 2564 ก่อน และค่อย ๆ ขยายเพิ่มในอนาคต เนื่องจากมีพื้นที่ทั้งหมดถึง 19 ไร่ ภายใต้งบฯลงทุนประมาณ 1,330 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกประเทศครั้งแรกของเครือบางกอก เชนฯ จากก่อนหน้านี้ที่บริษัทได้เข้าไปรับจ้างบริหารธุรกิจโรงพยาบาลในเมียนมา ปากีสถาน เป็นต้น

“การขยายธุรกิจในลาวถือเป็นอีกสเต็ปของบริษัทนั่นคือ เป็นการออกไปสร้างรายได้เพิ่มด้วยการเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ จากก่อนหน้านี้ที่แค่ดึงชาวต่างประเทศเข้ามารักษาในประเทศเท่านั้น ซึ่งตลาดโรงพยาบาลในลาวมีโอกาสขยายตัวค่อนข้างสูง”

เพิ่มโควตาประกันสังคม

นายแพทย์เฉลิมกล่าวต่อไปว่า อีกกลยุทธ์หนึ่งคือการเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคม จากปัจจุบันมี 800,000 ราย จะเพิ่มเป็น 1 ล้านราย และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ก็ได้โควตาของผู้ประกันตนเพิ่มอีก 80,000 ราย ซึ่งสิ้นปีนี้จะสามารถเพิ่มผู้ประกันตนเป็น 900,000 รายตามแผน พร้อมทั้งยกระดับโรงพยาบาลเดิมให้เป็นศูนย์ตติยภูมิเพื่อรับส่งผู้ป่วยแบบเครือข่าย โดยปี 2561 บริษัทได้เปิด รพ.เกษมราษฎร์ รามคำแหง ซึ่งเป็นการย้ายฐานมาจาก รพ.การุญเวช สุขาภิบาล 3 และยกระดับเป็นศูนย์รับส่งคนไข้จากภาคตะวันออก เพื่อให้บริการแก่คนไข้ทั่วไป คนไข้ประกันสังคม และคนไข้ต่างประเทศ

สุดท้ายคือ การเพิ่มบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเดือนกรกฎาคมปีนี้ รพ.เวิลด์เมดิคอล (แจ้งวัฒนะ) เตรียมเปิดศูนย์ผู้มีบุตรยากรองรับความต้องการของคนจีนที่ต้องการมีบุตรคนที่ 2 รวมถึงกลุ่มคนไทยด้วย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้เปลี่ยนไป แต่งงานช้าลง อัตราการมีบุตรก็ลดลงด้วยตามอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จะอัพเกรด รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ให้เป็น รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยการแยกพื้นที่ให้บริการอย่างชัดเจน โดยชั้น 2 จะให้บริการผู้ประกันตน และชั้น 1 จะบริการผู้ป่วยสิทธิเงินสด ส่วน รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี ก็จะปรับพื้นที่ของชั้น 3 ให้เป็นพื้นที่บริหารสำหรับผู้ป่วยสิทธิเงินสด เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทด้วย

ธุรกิจโรงพยาบาลแข่งขันแรง

พร้อมกันนี้ นายแพทย์เฉลิมยังกล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนว่า ปัจจุบันหลัก ๆ เป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่ม เพราะก่อนหน้านี้มีการรวมตัวกันของโรงพยาบาลในหลาย ๆ รูปแบบ ทั้งในลักษณะการเป็นพันธมิตร เข้าถือหุ้นเพื่อลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในทางกลับกันด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ก็กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ผลักดันให้โรงพยาบาลเอกชนมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอการเติบโตลง

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น บริษัทจึงมีนโยบายพัฒนาธุรกิจด้วยการปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น ครบวงจรมากขึ้น รวมถึงแนะนำบริการใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมสร้างจุดขายใหม่ให้แก่ รพ.ในเครือด้วย อีกทั้งยังมีนโยบายรวมศูนย์การจัดซื้อจัดหาที่มีระบบจัดซื้อกลาง เพิ่มอำนาจต่อรอง เพื่อลดต้นทุน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ ซึ่งปัจจุบันเกษมราษฎร์มี รพ.ในเครือ 12 โรง และโพลีคลินิก 1 แห่ง ภายใต้ชื่อ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เกษมราษฎร์ เวิลด์เมดิคอล และการุญเวช

ปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตขึ้น โดยมีรายได้รวม 8,182.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% มีกำไรสุทธิ 1,089.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.8% จากปีก่อน หลัก ๆ เป็นผลมาจากการที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริการครอบคลุมกลุ่มคนไข้ทุกระดับ ตั้งแต่คนไข้ตามโครงการประกันสังคม คนไข้ทั่วไประดับกลาง ล่าง จนถึงกลุ่มคนไข้ทั่วไประดับบนและชาวต่างประเทศ โดยการมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพารายได้จากตลาดใดตลาดหนึ่ง โดยปีก่อนรายได้จากกลุ่มคนไข้ทั่วไปต่างประเทศโตขึ้นอย่างแข็งแรง ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้บริษัทแบ่ง 3 ส่วนหลัก ได้แก่ รายได้จากผู้ป่วยทั่วไป 66% ประกันสังคม 33% และอื่น ๆ 1%