ธุรกิจ “ออนเซน” มาแรง แฟรนไชส์เปิดสะพรั่งทั่วเอเชีย

คอลัมน์ MARKET MOVE

การแช่น้ำร้อนนับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะการแช่น้ำพุร้อน หรือ “ออนเซน” ทั้งยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการสัมผัสสักครั้งเมื่อไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัย และด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวระดับหลายล้านคนต่อปี ทำให้ความนิยมนี้เริ่มแพร่หลายออกไปนอกญี่ปุ่นด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันสุขภาพสากล (Global Wellness Institute) ซึ่งสำรวจเม็ดเงินในธุรกิจบ่อน้ำร้อน อาทิ ที่พัก อาหารเครื่องดื่ม และอื่น ๆ ระบุว่า เมื่อปี 2560 ธุรกิจบ่อน้ำแร่ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 10% จากปี 2556 และคาดว่าจะเติบโตอีก 40% เป็น 7.7 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยมีภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งรายได้และตัวสร้างการเติบโตด้วยสัดส่วน 50% ของรายได้รวม

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า ความนิยมนี้ดึงดูดให้ธุรกิจบ่อน้ำแร่ โรงอาบน้ำสาธารณะและสปา รวมไปถึงหน่วยงานรัฐ เร่งขยายกิจการและโปรโมตแหล่งน้ำพุร้อนในหลายประเทศของเอเชีย หวังชิงรับดีมานด์ก่อนคู่แข่ง

โดยในประเทศจีน “โกคุราคุยุ โฮลดิงส์” (Gokurakuyu Holdings) ผู้บริหารโรงอาบน้ำสาธารณะกว่า 40 แห่งทั่วญี่ปุ่น ได้รุกตลาดแดนมังกรด้วยการผุดแฟรนไชส์โรงอาบน้ำสาธารณะในชื่อ “ซูเปอร์เซนโต” (Super Sento) ซึ่งเป็นโรงอาบน้ำสาธารณะควบสปาและร้านอาหาร ในหลายเมืองของจีนรวม 8 แห่ง อาทิ เซี่ยงไฮ้, อู่ฮั่น, ซูโจว, ชิงเต่า และสาขาล่าสุดที่เมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฯลฯ ด้วยพื้นที่รวม 1.45 หมื่น ตร.ม. มีบริการทั้งบ่อน้ำร้อน, เซาน่า, สปาหินร้อน, ภัตตาคารและเลานจ์ ในราคาค่าบริการ 108 หยวน หรือประมาณ 500 บาทต่อคน พร้อมวางเป้าหมายขยายต่อเนื่องให้ครบ 14 สาขาภายในปี 2562 นี้

ด้านผู้ประกอบการสัญชาติจีนเองต่างเดินหน้าขยายสาขาเช่นกัน อาทิ “ฉงชิ่ง ฮาโคเนะ ฮอตสปริง แอนด์ เทอร์มอลลิสต์ อินดัสทรี ดีเวลอปเมนต์ กรุ๊ป” บริษัทผู้บริหารโรงอาบน้ำจากฉงชิ่ง ขยายสาขาไปแล้วกว่า 80 แห่งในปี 2561 ด้วยจุดขายด้านงานดีไซน์และบริการสไตล์ญี่ปุ่น จากการทุ่มทุนจ้างดีไซเนอร์และที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นมาคุมงาน ฝั่งไต้หวันนั้น รัฐบาลใช้มาตรการทางการเงินหนุนให้ธุรกิจโรงแรมใช้บ่อน้ำร้อนเป็นจุดขาย ส่งผลให้แต่ละรายต่างหันมาโปรโมตบ่อน้ำพุร้อนเป็นจุดขายหลัก หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น

เชนโรงแรมฟอร์เต้ สร้างโรงแรมบ่อน้ำร้อนสไตล์ญี่ปุ่น “ยามางาตะ คาคุ” (Yamagata Kaku) ที่อี๋หลานทางตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน และเชนโรงแรมจากญี่ปุ่น “โฮชิโนะรีสอร์ต” ในไท่จง ได้รีโนเวตห้องพักทั้ง 50 ห้องเพิ่มบ่อน้ำร้อนแบบกึ่งกลางแจ้งในแต่ละห้อง รวมถึงมีบ่อน้ำร้อนส่วนกลาง ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวันอนุมัติงบฯสนับสนุนโรงแรมบ่อน้ำร้อนไปแล้วกว่า 125 แห่งแม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อากาศร้อนยังมีผู้ประกอบการสนใจเช่นกัน อย่างในสิงคโปร์มีกลุ่มทุนญี่ปุ่นเข้าไปเปิดธุรกิจออนเซนในชื่อ ยุโนะโมริ ออนเซน แอนด์ สปา (Yunomori Onsen & Spa) เมื่อปี 2559

“โทโมะโนะริ มารุยามะ” นักวิจัยธุรกิจสปา ให้ความเห็นว่า แม้ออนเซนจะนิยมในเขตอากาศหนาว แต่ในประเทศเขตร้อนก็สามารถโปรโมตการแช่น้ำร้อนในเชิงสุขภาพและผ่อนคลายได้เช่นกัน หลังจากต้องรอดูกันว่ากระแสการแช่น้ำร้อนจะสามารถจุดติดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หรือไม่