ทีวีดิจิทัลเดือดแย่งเค้ก6หมื่นล้าน ช่อง3-7เฟ้นคอนเทนต์-ออนไลน์

“ทีวีดิจิทัล” เดือดแย่งเค้กโฆษณา 6 หมื่นล้าน มีเดียเอเยนซี่ชี้หายไป 7 ช่องไม่ทำให้ตลาดโฆษณาเปลี่ยนทิศ แถมดีกรีแข่งขันเข้มข้นกว่าเดิม ช่อง 3-7 เปิดเกมใหม่ เร่งเคลื่อนทัพพัฒนาคอนเทนต์-รุกแพลตฟอร์มออนไลน์ หวังตรึงคนดูรุ่นใหม่ กวาดทั้งเรตติ้งเพิ่มรายได้

ตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ยังมีอายุเหลืออยู่อีกเกือบ 10 ปี คืนกลับไปให้กับ กสทช.เป็นที่เรียบร้อย สำหรับทีวี 7 ช่อง และเท่ากับว่าเวลานี้เหลือช่องทีวีที่อยู่ในสมรภูมิเพียง 15 ช่อง จากเริ่มต้นมี 22 ช่อง ประกอบด้วยช่องวาไรตี้เอชดี 7 ช่อง ช่องวาไรตี้เอสดี 5 ช่อง และช่องข่าวเหลือ 3 ช่อง จากนี้ไปแต่ละช่องเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะระดมสรรพกำลังเพื่อเรียกเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณากันชนิดไม่มีใครยอมใคร

แข่งคอนเทนต์-รุกออนไลน์

แหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจทีวีดิจิทัลรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แม้จะเหลือผู้เล่นเพียง 15 ราย แต่ทิศทางอุตสาหกรรมจากนี้ไปจะยังมีการแข่งขันที่สูง ล่าสุด ช่อง 7 เจ้าตลาดยังเดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์ต่อเนื่อง ทั้งเกมโชว์ วาไรตี้ รายการข่าว และละคร เพื่อดึงฐานคนดูกลุ่มแมสที่เป็นฐานคนดูหลัก และอีกด้านหนึ่งก็พยายามขยายฐานคนดูกลุ่มใหม่ ๆ ด้วยการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ “บักกาบู” ควบคู่กับการใช้คลื่นวิทยุ 98.5 Good Time Radio มาโปรโมตละคร ข่าว เพื่อขยายฐานคนเมืองอีกแรง

ส่วนช่อง 3 หลังจากที่คืนช่อง 28 SD และช่อง 13 Family ก็เริ่มหันมาให้น้ำหนักกับการรุกคืบเข้าไปในช่องทางออนไลน์ที่มีแอปพลิเคชั่น “เมลโล่” เป็นหัวหอกหลัก เพื่อดึงรายได้คืนให้ได้มากที่สุด ขณะที่ช่องอื่น ๆ ที่มีเรตติ้งดีและมีกลุ่มคนดูชัดเจน อาทิ เวิร์คพอยท์ โมโน 29 ช่องวัน 31 อมรินทร์ทีวี ต่างก็มีการทยอยปรับผังรายการ ปรับและเพิ่มคอนเทนต์กันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ทำให้ภาพการแข่งขันจากนี้ก็ยังดุเดือดเช่นเดิม

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า มาตรการช่วยเหลือของ กสทช.ที่ออกมาคาดว่าจะทำให้แต่ละช่องมีต้นทุนลดลง ช่อง SD ลดลงเฉลี่ย 100 ล้านบาท และช่อง HD ลดลงเฉลี่ย 200 ล้านบาท และคาดว่าจะทำให้บริษัทที่มีมากกว่า 1 ช่อง และได้คืนช่องไปแล้วมีงบลงทุนเข้ามาเพิ่ม และทำให้การแข่งขันด้านคอนเทนต์ก็สูงขึ้น และการแข่งขันของทั้ง 15 ช่องจะยังรุนแรงอยู่เช่นเดิม

ขณะที่นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องพีพีทีวี 36 กล่าวว่า ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตส่วนใหญ่เป็นช่องที่มีงบโฆษณาเข้าไม่มากนัก จึงไม่มีผลให้ช่องที่เหลือเติบโตขึ้น และจากการประเมินเบื้องต้นอาจทำได้แค่เพิ่มโอกาสในการกดรีโมตเข้ามาเจอช่องพีพีทีวี เพราะจำนวนช่องเหลือน้อยลง

แนวโน้มอุตสาหกรรมดีขึ้น

นายธราภุช จารุวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย มีเดียเอเยนซี่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การคืนช่องทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลมีแนวโน้มดีขึ้น และในแง่เม็ดเงินโฆษณายังอยู่เท่าเดิม 60,000 ล้านบาท แต่จำนวนผู้เล่นลดลง ดังนั้นคาดว่างบโฆษณาก็กระจายเข้าสู่ 15 ช่องที่เหลือมากขึ้น และทำให้ธุรกิจทีวีที่เหลืออยู่สามารถเดินหน้าต่อได้ โดยช่องที่หายไปส่วนใหญ่เป็นช่องเล็ก ไม่ใช่ช่องที่มีเรตติ้งท็อป 10 จึงไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมตลาดมากนัก แต่ข้อดี คืองบโฆษณาก็จะถูกแบ่งเข้าไปที่ช่องอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้ทีวีไปต่อได้

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลอีกรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า คาดว่าภาพการแข่งขันของทีวีดิจิทัลจะยังรุนแรงเช่นเดิม โดยเฉพาะเรื่องของคอนเทนต์ที่ทุกช่องจะให้ความสำคัญ เพื่อดึงคนดูและรักษาเรตติ้ง นอกจากนี้หลาย ๆ ช่อง ก็พยายามหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ เข้ามาเสริม โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งการปลดล็อกครั้งนี้ทำให้ต้นทุนของทีวีลดลง และสิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องทำต่อไปคือปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ชม เฟ้นโมเดลหารายได้รูปแบบใหม่ ๆ จากแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากขึ้น รวมถึงการบริหารการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เช่นเดียวกับนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด มีเดียเอเยนซี่ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จากนี้ไปทีวีทั้ง 15 ช่องจะยังเจองานหนักทั้งการแข่งขันจากทีวีด้วยกันและแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกทั้งต้องพัฒนาคอนเทนต์เพื่อดึงคนดู ซึ่งในแง่ของเม็ดเงินการลงทุนก็จะมีมากขึ้นด้วย อย่างกรณีของช่อง 3 ผลจากการคืนทีวี 2 ช่อง ได้หันมาผลิตคอนเทนต์ และพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เมลโล่ เพื่อรองรับพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไปด้วย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!