เครื่องฟอกฯเกลื่อนเชลฟ์ สารพัดแบรนด์พรึ่บ

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

แม้ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 จะห่างหายไปจากสื่อ-โซเชียล และภาพคนใส่หน้ากากกันฝุ่นตามถนนหนทางจะบางตาลงไป เหลือเพียงในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งยังมีปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่า-ไร่ แต่กระแสความตื่นตัวเรื่องคุณภาพอากาศไม่ได้จางลงตามไปด้วย ตรงกันข้ามเครื่องฟอกอากาศที่เคยจับกลุ่มนิชมาร์เก็ต เช่น ผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ และครอบครัวที่มีลูกเล็กนี้ กลับมีดีมานด์ต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากบรรยากาศความคึกคักในมุมสินค้าปรับอากาศของร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีผู้บริโภคจำนวนมากมาหาซื้อเครื่องฟอกอากาศสำหรับใช้ในบ้าน-รถยนต์กันไม่ขาดสาย

เช่นเดียวกับจำนวนแบรนด์สินค้าที่เพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่าตัว จากเดิมที่มีเพียง 3-4 แบรนด์ จากผู้ผลิตทั้งไทย-เทศ อาทิ ฮันนี่เวลล์, ทีฟาวล์, เวิร์ลพูล, แอสทิน่า ฯลฯ ที่ต่างเข็นเครื่องฟอกอากาศของตนออกมาทำตลาด-ขยายช่องทางขายเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ด้านร้านค้าต่างรับลูกด้วยการขยายพื้นที่ขายเครื่องฟอกอากาศให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรับดีมานด์เช่นกัน

“จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล” หัวเรือใหญ่แห่งเพาเวอร์ มอลล์ เชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในเครือเดอะมอลล์ ฉายภาพทิศทางตลาดเครื่องฟอกอากาศกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้กระแสฝุ่น PM 2.5 จะซาลงไปแล้ว แต่ยังมีผู้บริโภคมาหาซื้อเครื่องฟอกอากาศในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าชาวไทยจำนวนมากยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เช่นเดียวกับแบรนด์สินค้าที่พยายามขยายไลน์อัพและช่องทางขายเพื่อรับดีมานด์และเชื่อว่าเทรนด์นี้น่าจะช่วยผลักดันตลาดให้เติบโตต่อเนื่องได้ตลอดจนถึงสิ้นปีแน่นอน แม้จะยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการแต่คาดว่าตลาดเครื่องฟอกอากาศปีนี้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1-1.5 พันล้านบาท เติบโตมากกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า หลังช่วงเดือน ม.ค.ยอดขายพุ่งขึ้นไปถึง 2 เท่าแล้ว

หัวเรือใหญ่แห่งเพาเวอร์ มอลล์ ระบุว่า เพื่อชิงความได้เปรียบบริษัทเตรียมปรับพื้นที่โซนเครื่องฟอกอากาศด้วยการเพิ่มแบรนด์และเพิ่มไลน์อัพให้หลากหลายขึ้น อาทิ รุ่นที่สามารถเชื่อมต่อไวไฟได้ พร้อมอัพเกรดเทคนิคการขายของพนักงาน เน้นการให้ข้อมูลสินค้า-เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อหนุนการตัดสินใจของลูกค้า

“ปรากฏการณ์นี้ทำให้เชื่อได้ว่าเครื่องฟอกอากาศกำลังกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าหลักที่ทุกครัวเรือนต้องมี เช่นเดียวกับแอร์หรือตู้เย็น”

ไปในทิศทางเดียวกับฝั่งแบรนด์สินค้าทั้งญี่ปุ่น-เกาหลี โดย “นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของแอลจี กล่าวว่า ฟังก์ชั่นฟอกอากาศจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการตลอดปีนี้ บริษัทกำลังพิจารณาขยายไลน์อัพเครื่องฟอกอากาศเพิ่มโมเดลขนาดเล็กเข้ามา จากเดิมที่มีเพียง 1 รุ่น ราคา 5.49 หมื่นบาท เพื่อรองรับดีมานด์

ส่วน “ชาร์ป” ผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศรายใหญ่ เตรียมต่อยอดกระแสนี้โดยเล็งจับมือพันธมิตรอย่างบริษัทยานพาหนะทั้งรถยนต์-รถไฟเพื่อใส่ระบบฟอกอากาศ “พลาสมา คลัสเตอร์” ของตนเข้าไปในระบบแอร์ของรถอีกด้วย

จากการสำรวจตลาดเครื่องฟอกอากาศพบว่า ขณะนี้ในช่องทางต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต่างมีเครื่องฟอกอากาศแบรนด์ใหม่ ๆ มาวางขายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “เพาเวอร์บาย” เชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของเครือเซ็นทรัล ซึ่งเดิมเน้นเครื่องฟอกอากาศแบรนด์หลักอย่าง ชาร์ป, ฮิตาชิ, ฟิลิปส์, บลู แอร์ และบี เวลล์นั้น ปัจจุบันมีสินค้าจากแบรนด์อื่น ๆ เวิร์ลพูล, ทีฟาวล์, ฮันนี่เวลล์, แอสทิน่า, แคล (Clair) คลินโด (Klindo), สแตดเลอร์ฟอร์ม (Stadler form), เทารัส (Taurus) และอื่น ๆ ระดับราคาตั้งแต่ 3,990-26,500 บาท เข้ามาวางขายโดยมีลูกค้าที่สนใจแวะเวียนมาสอบถามต่อเนื่อง แม้ไม่มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเหมือนสินค้าอื่น ๆ เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซลาซาด้า นอกจากเครื่องฟอกอากาศเสี่ยวหมี่แล้ว ยังมีมิตซูต้า, ฮาตาริ, โกเอนลูฟ และกลุ่มน็อนแบรนด์อีกจำนวนมาก


ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอาจสะท้อนถึงดีมานด์ของตลาดได้เป็นอย่างดี