Q1 โรงพยาบาล สดใส ระทึก “คุมค่ายา” กระทบรายได้

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

 

“สวนกระแส” ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับ “โรงพยาบาลเอกชน” ที่แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2562 ต่อตลาดหลักหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แม้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวมไม่สู้จะดีนัก แต่ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ล้วนมีตัวเลขการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่ “รายได้-กำไร” เพิ่มกันแทบทุกราย

เริ่มจาก “กรุงเทพดุสิตเวชการ” หรือกลุ่ม รพ.กรุงเทพ ที่รายได้จากค่ารักษาพยาบาล 19,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% กำไร 8,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 189% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาล 5% จากการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลตามความซับซ้อนของโรคในโรงพยาบาลหลัก 10 แห่งที่เป็นศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ และการเพิ่มขึ้นของคนไข้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และกัมพูชา

ขณะที่ รพ.บำรุงราษฎร์ แม้จะมีเพียงแห่งเดียวและไม่มีสาขา ก็มีรายได้จากกิจการโรงพยาบาล 4,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% กำไร 1,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% จากจำนวนลูกค้าชาวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

“บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล” หรือกลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์ กวาดรายได้ไปเบาะ ๆ 2,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% และมีกำไร 248 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% ที่น่าสนใจคือ กลุ่มเกษมราษฎร์ มีรายได้จากลูกค้าเงินสดเพิ่มขึ้น 192.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16% ขณะที่รายได้จากโครงการกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 63.4 ล้านบาท หรือ 10.3%

เช่นเดียวกัน รพ.สมิติเวช ที่มีรายได้ 3,321 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% กำไร 521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% ส่วน รพ.รามคำแหง มีรายได้ 1,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% กำไร 354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.68%

ส่วน รพ.ขนาดกลาง และ รพ.ขนาดเล็ก หลาย ๆ แห่ง ต่างก็มีผลการดำเนินงานออกมาดี เช่น รพ.ราชธานี (จ.พระนครศรีอยุธยา) รายได้ 445.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% กำไร 176.67 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 156% ผลพวงจากการมีแพทย์เฉพาะทางที่มากขึ้น ทำให้รายได้จากคนไข้ทั่วไป ทั้งในส่วนของโอพีดี (ผู้ป่วยนอก) และไอพีดี (ผู้ป่วยใน) รายได้จากประกันสังคม เติบโตมากขึ้น

เช่นเดียวกับ รพ.เอกชัย ที่มีรายได้ 206.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.17% กำไร 44.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103% จากจำนวนคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และศูนย์ผู้มีบุตรยาก ด้าน รพ.ราชพฤกษ์ (จ.ขอนแก่น) ที่มีรายได้ 204.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% กำไร 30.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% เป็นต้น จะเรียกว่า “รายได้เพิ่ม กำไรพุ่ง” กันถ้วนทั่วหน้าก็คงไม่ผิดนัก

แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีโรงพยาบาลที่ตัวเลขกำไรลดลง อาทิ กลุ่ม รพ.จุฬารัตน์ ที่รายได้เพิ่มขึ้น 14% หรือ 1,228 ล้านบาท แต่มีกำไรเพียง 179 ล้านบาท หรือลดลง 7% ส่วน รพ.มหาชัย มี

รายได้ 586 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.58% กำไร 19 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 40 ล้านบาท ส่วน รพ.วิภาวดี รายได้ 1,637 ล้านบาท ลดลง 6% กำไร 109 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไร 195 ล้านบาท หรือลดลง 43%

“นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์” ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ กล่าวในภาพรวมว่า ขณะนี้แม้ว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผลักดันให้โรงพยาบาลเอกชนโดยรวมมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง

“จากนี้ไป การแข่งขันของ รพ.มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการบริการ การเพิ่มบริการใหม่ ๆ เพื่อให้บริการด้านสุขภาพมีความครบวงจรมากขึ้น และทุกโรงจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนมากขึ้น”

แหล่งข่าวระดับสูงโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ แสดงทรรศนะเพิ่มเติมว่า จากการให้บริการของ รพ. รัฐบาลที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อหันมาใช้บริการเอกชนที่เน้นการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ โดยเฉพาะ รพ.มีโอกาสเติบโตที่ดี และขณะนี้ แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่จำนวนคนไข้ของ รพ.ต่าง ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากพิจารณาลงไปในรายละเอียด จะพบว่า นอกจากการรักษาการเจ็บป่วยแล้ว ประชาชนเริ่มให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และเลือกที่จะเข้า รพ.ภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะ รพ.ขนาดใหญ่ และ รพ.ที่มีเครือข่าย ที่สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย

“จากนี้ไป จะเห็นภาพของ รพ.ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพยังเร่งเพิ่มเครือข่าย ทั้งการขยายสาขา สร้าง รพ.ใหม่ กระจายไปตามหัวเมืองในต่างจังหวัด เมืองท่องเที่ยว และเมืองชายแดน เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น”

อย่างไรตาม สำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะไตรมาส 2-3 ที่จะถึงนี้ ธุรกิจโรงพยาบาลยังมีปัจจัยเสี่ยงจากกรณีของกรมการค้าภายใน จะกำหนดให้ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าควบคุม ที่อยู่ระหว่างการเร่งประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุป

หากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบกับรายได้ ของ รพ.แน่นอน ส่วนจะกระทบมากหรือน้อย ต้องติดตามกันต่อไป

นี่คือสิ่งที่ทำให้ รพ.เอกชน ต้องปรับตัวรับมือ