สงครามการค้าลามหนัก แบรนด์มะกัน-ญี่ปุ่นฝุ่นตลบย้ายฐานหนี

ในขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังทวีความร้อนแรงและมุ่งไปในทิศทางที่ยากจะคาดเดา และไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงง่าย ๆ หลังรายชื่อสินค้าที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเริ่มลามจากวัตถุดิบอุตสาหกรรมมาถึงสินค้าอุปโภคบริโภค อีกทั้งมีแนวโน้มว่ากำแพงภาษีครั้งต่อไปอาจรวมนาฬิกาข้อมือ กล้องดิจิทัล และเสื้อผ้าเข้าไปด้วย จนสมาคมอุตสาหกรรมสหรัฐต้องส่งจดหมายเวียนเตือนสมาชิกให้เตรียมแผนระยะยาวสำหรับรับมือ กระตุ้นให้บรรดาแบรนด์สินค้าทั้งสัญชาติสหรัฐและต่างชาติต้องวิ่งวุ่นปรับโครงสร้างซัพพลายเชนเพื่อรับมือกับผลกระทบ โดยผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ “เบรนแอนด์โค” ระบุว่า 60% ของบริษัทอเมริกัน 200 แห่ง มีแผนปรับโครงซัพพลายเชนในช่วง 12 เดือนจากนี้ไป

สำนักข่าว นิกเคอิ รายงานถึงความเคลื่อนไหวรับมือของแบรนด์ดังหลายรายไม่ว่าจะเป็น “โกโปร” (Gopro) ผู้ผลิตกล้องแอ็กชั่นคาเมร่าชื่อดังที่มีแผนย้ายฐานการผลิตสำหรับตลาดสหรัฐจากจีนไปยังเม็กซิโก เช่นเดียวกับ “สเก็ตเชอร์ส ยูเอสเอ” (Sketchers USA) ผู้ผลิตรองเท้ากีฬาที่เตรียมเพิ่มกำลังผลิตของโรงงานในอินเดียและเวียดนาม ขณะที่ผู้ผลิตของเล่น “แฮสโบร” (Hasbro) ตั้งเป้าลดการจัดหาวัตถุดิบจากจีนลง 10% เหลือ 60% ภายในปี 2563

ด้านบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเองเริ่มเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน โดย “ซิติเซ่น วอตช์” (Citizen Watch) ผู้ผลิตนาฬิกา ที่ปัจจุบันอาศัยจีนเป็นฐานผลิตนาฬิการะดับแมสสำหรับวางขายในสหรัฐ เริ่มมองหาฐานผลิตใหม่ โดย “โทชิยูกิ ฟูรุคาวะ” กรรมการของบริษัท กล่าวว่า เราต้องเริ่มมองหาตัวเลือกอื่น ๆ เช่น ไทยหรือเวียดนาม แทนประเทศจีนในกรณีที่นาฬิกาข้อมือถูกขึ้นภาษีนำเข้า

ด้าน “โซนี่” ที่ส่งกล้องดิจิทัลจากฐานการผลิตในจีนไปขายในสหรัฐ ระบุว่า กำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมหาแผนสำรองหากได้รับผลกระทบในกลุ่มสินค้าแฟชั่นที่เป็นอีกกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 25% นั้น ฟาสต์แฟชั่นรายใหญ่ อย่าง “ฟาสต์รีเทลลิ่ง” เจ้าของเชนร้านแฟชั่น “ยูนิโคล่” อาจย้ายไลน์การผลิตสินค้าสำหรับตลาดสหรัฐจากจีนไปยังบังกลาเทศและเวียดนามแทนเพื่อเลี่ยงผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะสามารถย้ายหรือหาฐานการผลิตนอกประเทศจีนได้ อาทิ “แอปเปิล” ที่มีโรงงานพาร์ตเนอร์ที่ผลิต-ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ในจีนถึง 380 แห่ง การย้ายฐานจึงไม่ใช่เรื่องงาน

นอกจากนี้ สงครามการค้ายังส่งผลกับการจ้างงานในสหรัฐเองด้วย จากการสำรวจของบริษัทวิจัยแชลเลนเจอร์, เกรแอนด์คริสต์มาส พบว่า ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้กิจการในสหรัฐโดยเฉพาะด้านการผลิตที่พึ่งหาดีมานด์จากต่างประเทศเลิกจ้างงานไปแล้วกว่า 1.9 แสนตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36%

“ไมค์ โรมัน” ซีอีโอของ 3 เอ็ม ผู้ผลิตอุปกรณ์สำนักงานรายใหญ่ เปิดเผยเมื่อเดือน เม.ย.ว่า เตรียมลดคนงานลง 2% หรือประมาณ 2,000 ตำแหน่ง เพื่อชดเชยกับรายได้จากจีนซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญซึ่งถูกกระทบจากสงครามการค้า

หากสหรัฐเดินหน้าขึ้นภาษีเป็น 25% ครอบครัวชาวอเมริกันอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 เหรียญสหรัฐต่อครอบครัว


จากแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบันหลายแบรนด์ต้องรอลุ้นว่าธุรกิจของตนจะถูกดึงเข้าไปกับพัวพันกับความขัดแย้งนี้ด้วยหรือไม่