เอาต์เลตเอเชีย ยอดพุ่ง “ราคาถูก”…โดนใจนักช็อป

แม้จะไม่หรูหราเหมือนศูนย์การค้า แต่ “เอาต์เลต” ซึ่งมีจุดเด่นเป็นไลน์อัพสินค้าแบรนด์เนมราคาถูกกว่าร้านค้าทั่วไปกำลังเป็นโมเดลค้าปลีกที่มาแรงในภูมิภาคเอเชีย เห็นได้จากจำนวนสาขาและยอดขายที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน, มาเลเซีย, สิงคโปร์ รวมถึงไทย โดยบริษัทโบรกเกอร์ CGS-CIMB ประเมินว่า ช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ยอดขายของเซ็กเมนต์เอาต์เลตจีนจะเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี สูงกว่าอีคอมเมิร์ซซึ่งคาดว่าจะโตเฉลี่ยปีละ 20% ต่อเนื่องจากการเติบโต 3 เท่าตัว ระหว่างปี 2555-2559 จนมีมูลค่า 4.9 หมื่นล้านหยวน

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานถึงกระแสบูมของเอาต์เลตในภูมิภาคเอเชียว่า “แซสเซอ กรุ๊ป” ผู้บริหารเอาต์เลตสัญชาติจีน ซึ่งมีร้านสาขารวม 10 แห่งในจีน อาทิ ฉงชิ่ง, เหอเป่ย์, คุนหมิง และอื่น ๆ ได้เปิดเผยยอดขายไตรมาสแรก ปี 2562 ที่สูงถึง 1.2 พันล้านหยวน เติบโต 24% จากปีก่อน และสูงกว่าตลาดค้าปลีกจีนที่เติบโต 8.3% ในช่วงเดียวกัน

ไปในทิศทางเดียวกับในมาเลเซีย ซึ่ง “โจฮอ พรีเมี่ยม เอาต์เลต” ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของ 2 ยักษ์อสังหาฯ เกนติ้งกรุ๊ปของมาเลเซีย และไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้จากสหรัฐ เมื่อปี 2554 ระบุว่าปัจจุบันมีลูกค้าทั้งชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และอื่น ๆ เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยถึง 4.5 ล้านคนต่อปีแล้ว และได้ขยายสาขา 2 บริเวณเกนติ้ง ไฮแลนด์ ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อรับดีมานด์

ส่วนในไทย ทั้งเครือเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์ต่างเดินหน้าเปิดเอาต์เลตบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ หวังจับกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์และบริการเสริมอย่างโรงแรม

“พาสคาล มาร์ติน” หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ โอซีแอนด์ซี อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นผลจากการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลาง และพฤติกรรมการช็อปปิ้งที่เปลี่ยนจากเรื่องส่วนตัวไปเป็นกิจกรรมสันทนาการระหว่างกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว ช่วยกระตุ้นความถี่การช็อปปิ้ง ซึ่งลักษณ์ของเอาต์เลตที่มักออกแบบให้มีที่จอดรถจำนวนมาก สิ่งอำนวยความสะดวกและร้านอาหารแบรนด์แปลกใหม่ ตอบโจทย์พฤติกรรมนี้ได้ดี

นอกจากนี้ เอาต์เลตยังได้เปรียบจากการมีฐานลูกค้าหลากหลาย และค่าเช่าต่ำกว่าศูนย์การค้า ช่วยให้แบรนด์มีโอกาสขายเพิ่มและได้สัดส่วนกำไรสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน เอาต์เลตแห่งใหม่ ๆ เริ่มทดลองกลยุทธ์มุ่งจับกลุ่มนิชมาร์เก็ต เช่น เอาต์เลตของแซสเซอ กรุ๊ป ที่มุ่งดึงดูดกลุ่มครอบครัวที่มีลูกเล็ก ด้วยศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กเล็ก โรงหนังสำหรับเด็ก สตูดิโอถ่ายภาพและอื่น ๆ โดย “แอนโทนี่ อัง” ซีอีโอของแซสเซอ กรุ๊ป กล่าวว่า ลูกค้าเอาต์เลตนั้นมาเพื่อช็อปเป็นหลักอยู่แล้ว จึงสามารถเพิ่มบริการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ต่างจากลูกค้าของศูนย์การค้าและอีคอมเมิร์ซที่อาจใช้บริการด้วยจุดมุ่งหมายอื่น

จากแนวโน้มการเติบโตนี้ อาจทำให้การแข่งขันในวงการค้าปลีกเอเชียดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อเอาต์เลตเริ่มขยายตัวเข้ามาชิงลูกค้ากับศูนย์การค้าและอีคอมเมิร์ซ