“ซูเปอร์ซีเชฟ” แก้ปมตลาดซบ ขยับทัพลุยอาหารพร้อมทาน

“ซูเปอร์ซีเชฟ” ปรับทัพรับมือตลาดปลากระป๋อง 9 พันล้าน ชะลอตัวจากพิษเศรษฐกิจ-แข่งราคาเดือด มุ่งย้ำจุดขายคุณภาพ-ราคาจับต้องได้ พร้อมจับมือคู่ค้าจัดโรดโชว์-กิจกรรมกระตุ้นยอด ก่อนแตกไลน์เมนูพร้อมทานไข่พะโล้-ปูผัดผงกะหรี่ ปั้นรายได้เสริมปลากระป๋อง ด้านต่างประเทศเดินหน้าศึกษาโมเดลไลเซนส์ มั่นใจปีนี้เติบโต 5% พร้อมวางเป้าคว้าเบอร์ 1 ตลาดปลาระป๋องใน 3 ปี

นายอาชวิน โรจน์ชัยนินทร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายปลากระป๋องภายใต้แบรนด์ “ซูเปอร์ซีเชฟ” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาพรวม

ตลาดปลากระป๋องประเภทซอส มีมูลค่าประมาณ 8-9 พันล้านบาท อยู่ในช่วงชะลอตัว โดยมีอัตราการเติบโตเพียง 1-2% จากปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การแข่งขันยังสูงทั้งด้านราคาและโปรโมชั่น เนื่องจากที่ผ่านมามีโลคอลแบรนด์จำนวนมากกว่า 10 ราย พยายามเข้าทำตลาดเพื่อรับดีมานด์ของกลุ่มรากหญ้า ส่งผลให้แบรนด์เล็กหลายรายต้องยอมแพ้ออกจากตลาดไปจนปัจจุบัน

แนวทางดังกล่าวส่งผลให้ “ซูเปอร์ซีเชฟ” ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ให้ความสำคัญคุณภาพสินค้า เนื่องจากความท้าทายของตลาดปลากระป๋อง คือ การรักษาคุณภาพ การผสมซอส และวัตถุดิบที่สดใหม่ พร้อมพัฒนารสชาติให้ถูกปากคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 เตรียมลอนช์ผลิตภัณฑ์ใหม่กลุ่มอาหารพร้อมทาน แบรนด์ซูเปอร์ซีเชฟ มีให้เลือก 2 รสชาติ เช่น ไข่พะโล้และ

ปูผัดผงกะหรี่ วางราคา 25-40 บาท จำหน่ายผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ และเตรียมลอนช์เมนูใหม่ ๆ เพิ่มอีก 2-3 เมนู และเมื่อจะออกเมนูใหม่แต่ละครั้งจะต้องทดลองตลาดเพื่อให้รู้รสชาติที่ถูกปากคนรุ่นใหม่ ควบคู่กับทำการตลาดตามจุดขาย และจัดโปรโมชั่นนำสินค้าราคาพิเศษ มาจัดโรดโชว์และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านค้าและตัวแทนจำหน่าย เริ่มตั้งแต่โมเดิร์นเทรด ร้านค้าส่งและยี่ปั๊ว เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์มากขึ้น

ด้านตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทส่งออกไปจำหน่ายในรูปแบบการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ร้านค้าส่งในแถบซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ลาว เมียนมา รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และขณะนี้มีลูกค้าบางกลุ่มต้องการนำแบรนด์ซูเปอร์ซีเชฟไปทำตลาดเอง ซึ่งหากกลุ่มผู้ประกอบการมีศักยภาพ บริษัทก็จะให้สิทธิ์นำแบรนด์ไปทำตลาดเอง

สำหรับภาพรวมของซูเปอร์ซีเชฟ ปี 2561 ที่ผ่านมา เติบโต 2-3% หรือมีรายได้ประมาณ 1,100 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากผลิตภัณฑ์ปลาซาร์ดีน-แมคเคอเรล 90% และทูน่าและอาหารพร้อมทาน 10% เนื่องจากปลากระป๋องของบริษัทมีราคาเริ่มต้น 18 บาท เป็นระดับราคามาตรฐานของตลาด และมีวางจำหน่ายทุกช่องทาง ตั้งแต่โมเดิร์นเทรด ร้านค้าส่ง ยี่ปั๊วต่าง ๆ ทำให้

ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย และไตรมาสแรกของปีถือว่าเติบโตขึ้น จากความได้เปรียบทางวัตถุดิบ ตรงข้ามกับหลายแบรนด์ที่ประสบปัญหาเรื่องวัตุดิบไม่เพียงพอ เนื่องจากปลาซาร์ดีนแท้หายากขึ้น ผู้ผลิตหลายรายต้องเปลี่ยนไปใช้ปลาแมคเคอเรลแทน จนเกิดช่องว่างในตลาด ทำให้บริษัทสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจากเดิมอันดับ 4 ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาดปลากระป๋อง

โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าสร้างรายได้โต 5% และหวังคว้าอันดับ 1 ในตลาดปลากระป๋อง ภายในระยะเวลา 3 ปี จากปัจจุบันที่สามารถขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 แล้ว ด้วยส่วนแบ่งตลาด 22%