เหล้า-เบียร์แตะเบรก “ตุนสินค้า” คาดโครงสร้างภาษีใหม่ไม่กระทบนักดื่ม

อีก 2 สัปดาห์เคาะภาษีเหล้า-เบียร์ ! ผู้ประกอบการชะลอสต๊อกสินค้า เชื่อภาษีใหม่ “ใกล้เคียง” ของเดิม ตามแนวทางรัฐ เผยภาพรวมตลาดยังซึม กำลังซื้อไม่กระเตื้อง เสี่ยงตุนเยอะ สต๊อกบวม ด้านเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์วางโรดแมป 5 ปี พัฒนาสูตรลดหวาน-เพิ่มสินค้าเพื่อสุขภาพป้อนตลาดกว่า 200 รายการ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า จะเสนอกฎกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เพื่อกำหนดอัตราภาษีสุราและยาสูบภายใต้ พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาช่วงต้นเดือน ก.ย. ในวันที่ 5 ก.ย. หรือ 12 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่เกิดการกักตุนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีการขยายฐานภาษีใหญ่ขึ้น ดังนั้น อัตราภาษีจะเล็กลง ไม่มีผลต่อราคาขายปลีกหรือกระทบต่อผู้ประกอบการ และเป้าหมายของการปฏิรูปกฎหมายครั้งนี้ต้องการให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และชัดเจนมากกว่า

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวทางของภาครัฐที่ต้องการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ย้ำมาอย่างต่อเนื่องว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้บริโภค ซึ่งทางกรมสรรพสามิตได้ยึดหลัก Revenue Neutrality หลักการรายได้คงเดิม อันหมายถึงภาระภาษีก่อนและหลัง จะต้องมีความใกล้เคียงกัน ในฐานะผู้ประกอบการเชื่อว่า อัตราการจัดเก็บที่จะออกมาบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายนนี้ จะเป็นไปตามนโยบายข้างต้น แนวทางของบริษัทจึงสั่งสินค้าเข้ามาตามสภาวะตลาดในช่วงปกติ โดยมีสินค้ารองรับจนถึงหน้าขายช่วงปลายปี ไม่ได้สต๊อกมากกว่าปกติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในช่วงของรอยต่อของกฎหมายฉบับเก่าและใหม่ อาจทำให้ระเบียบการยื่นเอกสารในช่วงแรกมีความล่าช้าไปบ้าง

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ทีเอพี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไฮเนเก้น ระบุว่ายังไม่เห็นภาพของการกักตุนสินค้าในกลุ่มเบียร์เกิดขึ้น แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อาจจะเป็นเพราะการที่ภาครัฐออกมาย้ำโดยตลอดว่า ภาษีใหม่ที่จะจัดเก็บจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค แม้จะเป็นไปได้ที่ราคาของสินค้าจะปรับขึ้น แต่ก็เชื่อว่าไม่มากนัก และไม่คุ้มหากผู้ประกอบการ คู่ค้า จะต้องสต๊อกสินค้าเอาไว้ในปริมาณมาก ๆ เนื่องจากมีต้นทุนสูง

แหล่งข่าวที่เป็นผู้ประกอบการเอเย่นต์เหล้า-เบียร์รายหนึ่งเปิดเผยว่า มีการสต๊อกสินค้าเอาไว้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สูงมาก เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี ตลาดและกำลังซื้อก็ยังทรงตัวมาโดยตลอด หากสต๊อกสินค้ามากไป ก็เสี่ยงที่จะขายออกยาก และใช้เงินในการสต๊อกสูง ทำให้เงินทุนหมุนเวียนขาดสภาพคล่อง

นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีฐานภาษีใหม่ คือ ภาษีความหวาน ซึ่งทางภาครัฐได้ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี หลังจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้ โดยทางสมาคมและผู้ประกอบการในสมาคมยังร่วมกันทำโรดแมป 5 ปี ในการสนับสนุนให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวาน ด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ การเพิ่มเครื่องดื่มที่ได้รับเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพจำนวน 126 รายการ การเพิ่มเครื่องดื่มที่มีการลดปริมาณน้ำตาลลงจากสูตรปัจจุบันจำนวน 81 รายการ การเพิ่มเครื่องดื่มไม่มีแคลอรีจำนวน 14 รายการ ระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น

สำหรับเกณฑ์การได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ ในกลุ่มจะต้องมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 กรัม ต่อ 100 มล. โดยปัจจุบันมีเครื่องดื่มที่ได้รับการรับรองทั้งหมด 216 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้รับการรับรองอีก เช่น เครื่องปรุงรส 9 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป 5 ผลิตภัณฑ์ นม 43 ผลิตภัณฑ์ และขนมขบเคี้ยว 3 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหมดเป็น 276 ผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความครอบคลุมในการจัดเก็บภาษีความหวาน เพราะยังมีอาหารและเครื่องดื่มอีกจำนวนมากที่ไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรการนี้ เช่น พวกน้ำชงต่าง ๆ อาจทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าในจำพวกนี้แทน ทำให้การแข่งขันในธุรกิจเกิดความไม่เสมอภาค