ค้าปลีก”ภูธร” ไม่กลัวทุนยักษ์ ซุ่มลงทุนสาขาข้ามถิ่น-ไฮเปอร์ฯโตต่ำเป้า

ค้าปลีก”ภูธร” ไม่กลัวทุนยักษ์ซุ่มผุดสาขาออกนอกพื้นที่ขอเป็นทางเลือกลงทุนข้ามจังหวัดสวนภาพกำลังซื้อตจว.ชะลอตัว ด้านกลุ่มทุนยักษ์จัดทัพบุกหนักต่างประเทศ ชี้ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” โตต่ำ 2% หลังผู้บริโภคระมัดระวังจับจ่ายลดความถี่ช็อปปิ้งเหลือ 200 ครั้งต่อปี ตัวเลขครึ่งแรกสินค้าอุปโภคบริโภคโต 1% Personal Care-เครื่องดื่มโตลดลง

การจัดเก็บรายได้ช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559-ตุลาคม 2560) ของกระทรวงการคลัง ทำได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.1% นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศยังกระจุกตัวในกลุ่มท่องเที่ยว การขนส่ง โรงแรมและภัตตาคารเท่านั้น ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนในกลุ่มอื่น ๆ ยังต้องพึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศ ยังทรงตัวเนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย

สอดคล้องกับภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคที่คาดว่า โตน้อยกว่า 1.7% ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มนี้ทำได้เพียง 1% เท่านั้น เช่นเดียวกับการเติบโตของช่องทาง “ค้าปลีก” ที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทนั้น กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตขยายตัวเพียง 2% ขณะที่โมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตขยายตัวได้สูงสุด 7% นอกจากนี้ กลุ่มทุนค้าปลีกแบรนด์ภูธรมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับการเร่งขยายธุรกิจออกนอกจังหวัดของตัวเอง

ไฮเปอร์มาร์เก็ตโตต่ำสุด

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตลาดรวมค้าปลีกค้าส่งของไทยปีนี้จะเติบโตกว่า 3.1 ล้านล้านบาท กำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัดไม่ดีนัก โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่ยังติดกับดักหนี้ครัวเรือนที่สูง ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลาง การใช้จ่ายก็คงไม่คล่องตัวด้วยหนี้บัตรเครดิตที่สูง ทำให้การเติบโตของสินค้ากระจุกตัวเพียงแค่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยว ขณะที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นฐานใหญ่ของตลาดกว่า 70% นั้นมีการเติบโตที่อ่อนตัวลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกภาพรวมการเติบโตของค้าปลีกรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตมีการขยายตัวมากที่สุด 7% ร้านสะดวกซื้อคอนวีเนี่ยนสโตร์และห้างสรรพสินค้าโต 3% ขณะที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตเติบโตเพียง 2% เท่านั้น

“ร้านราคาเดียวกลายเป็นร้านที่มีการเติบโตที่มาแรงมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการแบรนด์ต่างประเทศที่เห็นโอกาสและเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย รวมถึงร้านเฉพาะทางที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น”

ค้าปลีก “ภูธร” เร่งโต

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มค้าปลีกจะขยายตัวได้ 2.8-3% เท่านั้น แต่ความเคลื่อนไหวของการลงทุนขยายสาขายังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง ไม่เพียงกลุ่มทุนรายใหญ่ของประเทศ แต่ยังเห็นภาพการลงทุนของแบรนด์ค้าปลีกระดับภูธรที่ขยับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายธุรกิจออกนอกพื้นที่ตัวเอง และข้ามไปจังหวัดอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้กลุ่มค้าปลีกภูธรกลายเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตมากที่สุด

โดยมูลค่าค้าปลีกค้าส่ง 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสัดส่วนกว่า 30% ของตลาด มีการเติบโต 3% ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวไปบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น, กลุ่มค้าปลีกภูธรมีสัดส่วนประมาณ 20% จากจำนวนผู้ประกอบการ 500-700 ราย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้นเติบโต 8% ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นฐานหลักกว่า 50% ของตลาด ก็ยังคงมีการเติบโตที่ไปได้เรื่อย ๆ

ยอดซื้อ FMCG 91 บ./ครั้ง

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจ ราคาพืชผลตกต่ำ แต่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น คาดว่าภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods) ปีนี้จะเติบโตน้อยกว่า 1.7% ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้โตเพียง 1% เท่านั้น

โดยจากกลุ่มตัวอย่าง “คอนซูเมอร์ พาแนล” 4,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่า ความถี่การจับจ่ายของผู้บริโภคลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 200 ครั้งต่อปี จากปี 2556 ความถี่ในการซื้ออยู่ที่ 215 ครั้งต่อปี แต่ยอดซื้อต่อครั้งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 91 บาทต่อครั้ง จากปี 2554 การใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ 80 บาท

37% ซื้อเพราะโปรโมชั่น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภค 37% ตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะโปรโมชั่น และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ เลือกที่จะจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าที่เติบโตลดลง คือ ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) อาทิ ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ครีมนวด และกลุ่มเครื่องดื่ม ส่วนกลุ่มที่ยังมีการเติบโต คือ สินค้าภายในบ้าน เนื่องจากหลาย ๆ แบรนด์มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการซื้อ ซึ่งร้านโชห่วย, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ กลายเป็นช่องทางที่คนเลือกไปจับจ่ายมากที่สุด

และการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์มีมูลค่า 2,474 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของความถี่ในการซื้อ และมูลค่าในการจับจ่ายต่อครั้งที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ คาดว่าอนาคตการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพรวมสินค้ากลุ่มนี้โตขึ้น

สงครามราคาร้อนฉ่า

นายราฟฟี่ ฟาร์ฮาโด กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า กำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าระดับบนยังคงเติบโตได้ ในขณะที่กลุ่มกลาง-ล่างยังชะลอตัว ซึ่งสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ทำให้หลายกลุ่มสินค้าในตลาดไม่เติบโตอย่างที่คาด การแข่งขันในตลาดจึงยังคงรุนแรงตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคาที่ผู้ผลิตบางรายลดราคาลงกว่า 50% จัดโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 เพื่อดึงความสนใจจากผู้บริโภค

ขณะที่นายธิติ ธเนศวรกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ.พี. เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ไฮยีน, วิกซอล กล่าวว่า ยังต้องจับตาสภาพกำลังซื้อต่อเนื่อง ยังน่าเป็นห่วงทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือน ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งกำลังซื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ด้านนางปัทมา ถกลศรี ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค อาทิ ไฟน์ไลน์, ดีนี่, บีไนซ์ ฯลฯ กล่าวว่า คาดว่าปลายปีที่เป็นช่วงการจับจ่ายสูงจะเป็นโอกาสของกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ และการทำโปรโมชั่นราคาแรง เช่น ซื้อ 1 แถม 1 ยังเป็นแนวทางที่บริษัทจะทำร่วมกับช่องทางขายทุกไตรมาส เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และเพิ่มโอกาสการทดลองใช้สินค้าในกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ