อย.แจงร่างกฎหมายโฆษณากัญชา รองรับการให้ข้อมูลทางวิชาการ ของยากัญชาที่ผลิตในประเทศ

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการของร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. ….  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายดังกล่าวว่า ขณะนี้ อย.ได้มีการสนับสนุนให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการผลิตสารสกัดกัญชาให้เร่งดำเนินการ โดยมีผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร รวมทั้งยังมีผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตยากัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์หรือเพื่อศึกษาวิจัยอีก 5 ราย ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งผู้รับอนุญาตดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต และจะได้ผลผลิตยากัญชาที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในการนำมาใช้บำบัดรักษาโรคแก่ผู้ป่วยภายในประเทศ ในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจึงออกมาเพื่อรองรับกรณีการให้ข้อมูลทางวิชาการของยากัญชาที่ผลิตในประเทศ แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ใช้ในการพิจารณาสั่งใช้ยาอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย

สำหรับกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การโฆษณาให้ข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยให้โฆษณาได้เพียง 2 กรณี คือ (1) การโฆษณาในลักษณะของการให้ข้อมูลทางวิชาการต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้าน หรือ (2) การทำเป็นเอกสารในลักษณะของการเลียนแบบฉลากหรือเอกสารกำกับยาที่ภาชนะบรรจุกัญชา ซึ่งการโฆษณารูปแบบเฉพาะดังกล่าว ไม่ได้เปิดให้มีการโฆษณาในทางการค้าต่อประชาชนหรือสังคมทั่วไปแต่อย่างใด

“ขณะนี้ไม่มีผลิตภัณฑ์ยากัญชาจากต่างประเทศได้ขึ้นทะเบียนตำรับในประเทศไทย จึงไม่มีประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาต่างชาติอย่างแน่นอน และผู้ที่จะใช้กัญชาในการรักษาโรค ขอให้เข้ารับการตรวจพิจารณาความเหมาะสมจากแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้ยากัญชาจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจใช้ยากัญชาอย่างถูกต้อง”