“เมเจอร์” รุกคืบไซซ์จิ๋ว 1 โรง 1 ชุมชน…เต็มทุกพื้นที่

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

มองข้ามไม่ได้สำหรับตลาดต่างจังหวัด เมื่อพฤติกรรมผู้ชมต่างจังหวัดตอนนี้แทบจะไม่แตกต่างจากคนเมือง สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ โรงภาพยนตร์ค่ายใหญ่ อย่าง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่มีรายได้จากสาขากรุงเทพฯและต่างจังหวัดอยู่ที่ 50-50 เท่ากัน จากเดิมสัดส่วนรายได้ในต่างจังหวัดมีเพียง 20% ของรายได้รวมเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันจำนวนโรงของเมเจอร์ฯก็กระจายไปต่างจังหวัดกว่า 50%

ขณะเดียวกันจำนวนศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดก็เปิดเต็มเกือบครบทุกมุมเมือง สวนทางกับโจทย์หลักของการเติบโตของธุรกิจโรงหนัง ที่ต้องเปิดสาขา ถึงจะเติบโต

เมื่อศูนย์การค้าไม่ขยายตัว โรงหนัง ก็ต้อง ดิ้น หาทางออก ด้วยการหาโมเดลใหม่ ๆ

ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อเมเจอร์ แตกโมเดลโรงหนังขนาดย่อม เพิ่มดีกรีจับคนดูระดับอำเภอมากขึ้น รองรับผู้ชมต่างจังหวัด ก็เป็นอีกโมเดลน่าสนใจ

“วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ล่าสุดได้เปิดโรงหนังขนาดเล็กใน “เทสโก้ ตลาดโลตัส สุโขทัย” ซึ่งสาขานี้จะเป็นสาขาแรกที่มีโรงภาพยนตร์เพียง 1 โรง มี 96 ที่นั่ง ภายใต้ชื่อ “อีจีวี สุโขทัย” เริ่มเปิดบริการตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ได้ขยายโมเดลโรงภาพยนตร์เจาะเข้าไประดับอำเภอมากขึ้น โดยร่วมกับพันธมิตร อย่าง เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 4 สาขา ได้แก่ เทสโก้ โลตัส สามพราน นครปฐม โรบินสัน เพชรบุรี สามแยกปักธงชัย นครราชสีมา และบิ๊กซี ปทุมธานี

จากนี้ไปคงได้เห็นโรงหนัง 1 โรง 1 ชุมชนมากขึ้น

ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มี 118 สาขา 695 โรง 161,937 ที่นั่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 43 สาขา 358 โรง 80,562 ที่นั่ง ต่างจังหวัด 72 สาขา ใน 43 จังหวัด รวม 321 โรง 77,562 ที่นั่ง และต่างประเทศ 3 สาขา 16 โรง 3,813 ที่นั่ง ได้แก่ กัมพูชา 7 โรง และลาว 2 สาขา เวียงจันทน์ 5 โรง ปากเซ 4 โรง

ก่อนหน้านี้ “วิชา” บอกว่า ปีนี้ยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายเดิม คือ จะเปิดให้ครบ 1,000 โรงในปี 2563 ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าปีนี้เปิดไม่ต่ำกว่า 70 โรง เน้นไปที่ต่างจังหวัด เนื่องจากโอกาสที่เปิดกว้าง ประกอบกับการเปิดศูนย์การค้าใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นมีไม่มากนัก โดยจะเปิดโรงหนังระดับอำเภอ 1-2 โรงต่อจุด เน้นจับมือเป็นพันธมิตรกับบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส ที่มุ่งขยายสาขาในระดับอำเภอเช่นกัน ซึ่งเมเจอร์จะทำหน้าที่เป็นแม็กเนตดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

“ในเมื่อเราต้องการให้ผู้ชมในต่างจังหวัดได้สัมผัสกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่ดี เราก็ต้องเจาะลึกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเมืองใหญ่มีศูนย์การค้าเปิดเกือบครบแล้ว การมีโรงไม่ต้องมาก 1-2 โรง และฉายหนัง 4-5 เรื่อง ไม่มีปัญหาเรื่องการแข่งขัน แต่ตอบโจทย์ผู้ชมได้มากกว่า”

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์รายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจำนวนโรงหนังในกรุงเทพฯและปริมณฑลถูกขยายเต็มพื้นที่แล้ว ทำให้โรงภาพยนตร์ค่ายใหญ่ ทั้งเมเจอร์ และเอสเอฟ ต่างขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น กระจายไปตามหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ เกือบเต็มแล้ว ทั้ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ดังนั้นสเต็ปต่อไป คือ การขยายโรงไปยังหัวเมืองรองมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเปิดหลาย ๆ โรง อาจจะเปิด 1-2 โรง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ชม และสร้างดีมานด์ใหม่ ๆ ในตลาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อจำนวนโรงขยายตัวขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศโตตามไปด้วย ปีนี้คาดว่าตลาดภาพยนตร์จะมีมูลค่า 4,600 ล้านบาท (กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่) เติบโต 1-2% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาพยนตร์ต่างประเทศ 3,690 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 82% ตามด้วย ภาพยนตร์ไทย 558 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 13% และภาพยนตร์จากประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น 259 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 5%

ขณะที่เบอร์รองอย่าง เอสเอฟ ก็เดินหน้าขยายสาขาต่างจังหวัดไม่ยั้งเช่นกัน ครึ่งปีหลังนี้ เตรียมเปิด 2 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย ซึ่งปัจจุบันเอสเอฟมี 54 สาขา รวม 355 โรง 79,004 ที่นั่ง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 19 สาขา ต่างจังหวัด 35 สาขา

เท่ากับวันนี้มองข้ามการเติบโตของตลาดต่างจังหวัดไม่ได้อีกแล้ว