“คาเฟ่ญี่ปุ่น” จ่อคิวบุกไทย มูจิแตกโมเดลใหม่…เสิร์ฟกาแฟ

วันนี้แม้ว่าตลาดร้านกาแฟ-ร้านอาหารจะคลาคล่ำไปด้วยแบรนด์โลคอลและเชนใหญ่ระดับโลก ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจนเต็มพื้นที่ห้างสรรพสินค้า อาคารออฟฟิศ ปั๊มน้ำมัน คอนโดฯ ฯลฯ แต่ผู้บริโภคก็ยังเปิดรับแบรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอด้วยไลฟ์สไตล์ของคนสมัยใหม่ที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ ชอบทานข้าวนอกบ้าน

อะไรที่เป็นกระแสจากโลกโซเชียล มีคอนเซ็ปต์ดี ซึ่งจะสะท้อนผ่านการตกแต่งของร้าน เมนูอาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงสตอรี่ของแบรนด์ จนทำให้เกิดเทรนด์ cafe hopping หรือการตระเวนไปชิมร้านกาแฟตามที่ต่าง ๆ

กลายเป็น “โอกาส” ที่ทำให้แบรนด์น้องใหม่ที่มีคอนเซ็ปต์สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในกระแส และแจ้งเกิดได้อยู่เรื่อย ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์ของร้านกาแฟสไตล์ “มินิมอล” น้อยแต่มาก (less is more) ที่ได้รับความนิยมไปพร้อม ๆ กับเทรนด์ของการตกแต่งที่อยู่อาศัย การแต่งตัวของผู้คนยุคใหม่ ตลอดจนการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่กลายเป็นประเทศยอดฮิตและขึ้นชื่อในเรื่องของการช็อปปิ้ง การรับประทานอาหารอร่อย ๆ

ทำให้แบรนด์จากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ “คาเฟ่” ตัดสินใจเข้ามารุกธุรกิจร้านกาแฟกันอย่างคึกคัก ตามรอยกลุ่มร้านอาหารที่นำร่องไปก่อนหน้านี้หลายปี

ล่าสุด “มูจิ” แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2549 เป็นที่รู้จักกันในฐานะแบรนด์ที่มีชื่อด้านการออกแบบสินค้าที่เรียบง่าย คุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น โดยมีสินค้าตั้งแต่เครื่องเขียน แฟชั่น สุขภาพความงาม เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ มีแฟนคลับอยู่จำนวนมาก เตรียมจะเปิดสาขาใหม่ และคาดว่าจะเป็นร้านโมเดลใหม่ที่ยังไม่เคยเปิดตัวในไทยมาก่อน

นั่นก็คือ “Muji Cafe & Meal” ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มที่เคยเปิดแล้วในหลาย ๆ ประเทศก่อนหน้านี้ ที่สาขาสามย่านมิตรทาวน์ โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่จะมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2562

สอดคล้องไปกับรายงานจากบริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุถึงการรับสมัครบุคลากรหลายอัตรา เพื่อทำงานที่สาขาสามย่านมิตรทาวน์ โดยหนึ่งในนั้นคือตำแหน่ง “บาริสต้า” พนักงานชงกาแฟ ซึ่งไม่เคยเปิดรับมาก่อนด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า โมเดลของร้านมูจิ คาเฟ่ แอนด์ มีล ขึ้นชื่อในเรื่องของเครื่องดื่มและอาหารแนวสุขภาพ อาทิ ชา กาแฟ ชาเขียว น้ำผลไม้ เค้กมัตฉะไวต์ช็อก พานาคอตต้า ไปจนถึงอาหารอย่างสเต๊กหมูซอสสับปะรดซัลซ่า เต้าหู้ผักโขมโฮมเมดกับซอสฟักทอง สลัดเป็ดรมควัน เป็นต้น ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง จีน และสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้มูจิได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับจากธุรกิจแฟรนไชส์ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้สิทธิ์ในการบริหาร มาเป็นการร่วมทุนกันระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และบริษัท เรียวฮิน เคคาขุ จำกัด เจ้าของแบรนด์ ตั้งบริษัทใหม่ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2556 ที่ผ่านมา จนปัจจุบันมูจิมี 17 สาขา อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ (ZEN) ซึ่งเป็นแฟลกชิปสโตร์ เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลลาดพร้าว เมกาบางนา สยามดิสคัฟเวอรี่ ฯลฯ

ไม่เฉพาะมูจิเท่านั้น ยังมีแบรนด์ร้านกาแฟเชนดังจากญี่ปุ่น “% Arabica” ที่ต่อแถวเตรียมเข้ามาเปิดในไทยอีกรายในเร็ว ๆ นี้

หลังจากทางแบรนด์แจ้งผ่านออฟฟิศเชียลอินสตาแกรม และเฟซบุ๊กเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่าบริษัทอยู่ระหว่างการดีไซน์สโตร์แห่งแรกในประเทศไทย ถือเป็นการคอนเฟิร์มอีกครั้งหลังจากที่แบรนด์เคยแจ้งข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของบริษัทว่า ไทยอยู่ในเทียร์กลุ่มประเทศที่มีแผนจะเข้าไปเปิดในช่วงต่อไป (opening later) ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีแผนเปิดเร็ว ๆ นี้ (opening soon) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า % อราบิก้า เป็นร้านกาแฟที่โดดเด่นในเรื่องของเมล็ดกาแฟคุณภาพที่มาจากแหล่งเพาะปลูกทั่วโลก รวมถึงการดีไซน์คอนเซ็ปต์ร้านแบบมินิมอล โดยใช้สัญลักษณ์ % เป็นโลโก้ของแบรนด์

หลังจากเปิดสาขาแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 ในเกียวโต แบรนด์ได้มีแผนขยายตัวไปในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ตามปรัชญา “See the World Through Coffee” ทำให้ระยะเวลาเพียง 5 ปี % อราบิก้า มีสาขาแล้วในญี่ปุ่น บาห์เรน จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง คูเวต ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งหมด 38 สาขาทั่วโลก

รวมถึงร้าน “Omotesando Koffee” ก็เป็นร้านกาแฟจากญี่ปุ่นอีกแบรนด์ที่เข้ามาบุกตลาดในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเปิดสาขาแรกไปแล้วที่สยามพารากอนปลายปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องจากที่เข้าไปเปิดในฮ่องกง และสิงคโปร์

นอกจากการตกแต่งร้านสไตล์มินิมอลที่ถูกอกถูกใจคอกาแฟสายถ่ายรูป รสชาติของกาแฟจากร้านโอโมเตะซันโด คอฟฟี่ ก็มีแฟนคลับที่ติดตามอยู่จำนวนมากเช่นกัน

ความร้อนแรงของตลาดร้านกาแฟที่ผลักดันจำนวนผู้เล่น จำนวนสาขาให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องทุกปี จนมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะสูงขึ้นจนแตะ 3 หมื่นล้านภายในปีนี้


การเห็นร้านกาแฟเปิดใหม่ทุกวัน อาจไม่ใช่เรื่องยากเท่ากับการทำอย่างไรให้ร้านที่เปิดคงความพ็อปพูลาร์นี้เอาไว้ได้นาน ๆ