จุดเปลี่ยนค้าเพชรห้องแถว หนีตายปั้นรายได้ธุรกิจอื่น

แฟ้มภาพประกอบข่าว (ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว)
ค้าเพชรไทยถึงจุดเปลี่ยน รายใหญ่เร่งปรับกลยุทธ์เจาะตลาดใหม่ หลัง 5 ปีเจอปัจจัยกระหน่ำ ทั้งสงครามการค้ากดดันส่งออก กรุ๊ปทัวร์หดหาย พฤติกรรมนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ไม่นิยมซื้อจิวเวลรี่ เผยผู้ค้าปลีกห้องแถวย่านนเรศ สุริวงศ์ สีลม สี่พระยา ทยอยปิดตัว หันไปทำธุรกิจอื่นแทน

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธุรกิจค้าเครื่องประดับในไทยไม่สดใสเหมือนเก่า โดยเฉพาะเครื่องประดับเพชร ทำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก ต้องทยอยปรับตัวหาจุดขายใหม่ ๆ หรือทำธุรกิจอื่นแทนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สาเหตุหลัก 2 ประการที่ทำให้ตลาดค้าเครื่องประดับเกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ คือ เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยประเภทนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยไตรมาสแรกปี 2562 การนำเข้าสินค้าหมวดอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มมีจำนวนลดลง

“ยิ่งเกิดสงครามทางการค้าของ 2 ประเทศมหาอำนาจก็ยิ่งเกิดความกดดัน กำลังซื้อเริ่มชะลอ และกระทบเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งการส่งออกเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าวและว่า “สังเกตจากตลาดค้าปลีกในย่านนเรศ สีลม สุริวงศ์ สี่พระยา ที่เป็นถิ่นค้าเพชรและอัญมณี มีออฟฟิศเป็นอาคารพาณิชย์ มีพนักงานวิ่งเพชรวิ่งพลอย ตอนนี้ซบเซาแล้ว หลายรายทยอยปิดตัว หันไปค้าขายเปิดร้านอาหารแทน”

อีกสาเหตุมาจากพฤติกรรมของกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่จากทั่วโลกไม่นิยมซื้อสินค้าเครื่องประดับเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ที่ต้องช็อปปิ้งจิวเวลรี่เป็นหลัก ทำให้ผู้ค้าเครื่องประดับต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์รอบด้าน ทั้งการดีไซน์และมุ่งเจาะตลาดคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ฉะนั้น เครื่องประดับในปัจจุบันจะออกแนวแฟชั่น แล้วมีการลดสเกลลงมาให้พอจับจ่ายและจับต้องได้ง่ายขึ้น

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจนำเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจจิวเวลรี่มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลปราบทัวร์ศูนย์เหรียญเมื่อปี 2558 ทำให้บริษัทนำเที่ยวมีการกำหนดมาตรฐานโปรแกรมทัวร์ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดให้บริษัทนำเที่ยวใส่โปรแกรมช็อปปิ้งไว้ในแพ็กเกจทัวร์ไม่เกิน 2 แห่ง เพื่อป้องกันการขายแพ็กเกจทัวร์ที่ต่ำกว่าต้นทุน ประกอบกับเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่นิยมเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ลดลง หันมาเป็นเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้ร้านจำหน่ายจิวเวลรี่และสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ ได้รับผลกระทบและมีโอกาสด้านการขายลดลง

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ยังนิยมซื้อสินค้าที่เป็นแบรนด์เนมมากกว่าจะซื้อสินค้าจากร้านในรูปแบบดังกล่าวด้วย ส่งผลให้ในระยะหลังนี้ บรรดาร้านจำหน่ายจิวเวลรี่ต่าง ๆ ปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับความต้องการและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น

“ต้องยอมรับตอนนี้ธุรกิจจิวเวลรี่คือธุรกิจขาลง ใครที่ไม่ใช่อันดับ 1 อันดับ 2 ของตลาด น่าจะได้รับผลกระทบหมด หรือไม่ก็อยู่ยากขึ้นแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

เช่นเดียวกับ นายณัฐพล หงษ์ศรีสุข ทายาทกลุ่มเจมส์ แกลอรี่ ที่กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจจิวเวลรี่อยู่ในภาวะทรงตัวมาก สร้างอัตราการเติบโตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมของตลาดโดยรวมเปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วง 5-6 ปีก่อน เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยหันไปเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเองส่วนใหญ่จะไม่เข้ามาจับจ่ายในร้านจิวเวลรี่ เนื่องจากความไม่สะดวกในเรื่องของการเดินทาง

ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มเจมส์ แกลอรี่ ก็อยู่ระหว่างการประเมินทิศทางตลาด และปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาเช่นกันส่วนผู้ค้าเพชรรายใหญ่ของไทย ประกอบด้วย บิวตี้ เจมส์, เจมส์ แกลอรี่, แพรนด้า และยูบิลลี่ ซึ่ง 4 แบรนด์ดังกล่าวอยู่ระหว่างปรับตัว ปรับแผนธุรกิจ ภายใต้การบริหารของทายาทคนรุ่นใหม่

คลิกอ่านเพิ่มเติม “เจมส์ แกลอรี่” รุกปั้นแบรนด์ ลงทุนดิวตี้ฟรีบาลานซ์พอร์ตรายได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!