“บู๊ทส์” เปิดโซน “ยูทูบสตูดิโอ” ดึงนักช็อปรุ่นใหม่ สู้ศึกความงาม

ตลาดความงามยังคงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของช่องทางการขาย ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ร้านสเปเชียลตี้สโตร์ ร้านมัลติแบรนด์บิวตี้ ไปจนถึงตัวแบรนด์เอง ที่ปรับการทำตลาดแบบประชิดตัวผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นที่อยู่ในตลาดนี้มานานอย่าง “บู๊ทส์” จำเป็นต้องหาอะไรใหม่ ๆ มาสู้กับความร้อนแรงของตลาดที่เกิดขึ้น

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา “บู๊ทส์” ได้เปิดร้านคอนเซ็ปต์สโตร์รูปแบบใหม่ย่านโคเวนต์ การ์เด้น ใจกลางกรุงลอนดอน โดยร้านนี้นอกจากจะวางขายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงามสารพัดแบรนด์แล้ว ยังมีพื้นที่โซนใหม่สำหรับลูกค้ายุคโซเชียลอย่าง “ยูทูบ สตูดิโอ” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของค้าปลีกความงามอายุ 170 ปีรายนี้เลยทีเดียว

สาขาดังกล่าว ถูกประดับตกแต่งโดยกระเบื้องลายหินอ่อน ให้ความรู้สึกที่หรูหรา ทันสมัย โดยมีสินค้าหลากหลายกว่า 300 แบรนด์ให้เลือกซื้อ มีทั้งแบรนด์อย่าง “เฟนตี้” (Fenty) ของนักร้องสาวชื่อดัง ริฮานน่า ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นในขณะนี้ ไปจนถึง “เออร์เบิน ดีเดย์” แบรนด์เครื่องสำอางที่โด่งดังในเรื่องของพาลเลตอายแชโดว์จากค่ายลอรีอัล

โดยลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกช็อปได้อย่างอิสระ และยังสามารถรับชมการสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการถ่ายรูปสินค้าที่ตัวเองเพิ่งซื้อมาสด ๆ ร้อน ๆ อวดโลกโซเชียล ในพื้นที่ของ “อินสตาแกรม โซน” ที่จัดสรรเอาไว้ รวมถึงการตัดต่อคลิปวิดีโอในโซน “ยูทูบ สตูดิโอ” ได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ บู๊ทส์ยังให้น้ำหนักกับแนวคิดของสโตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย “เซบาสเตียน เจมส์” กรรมการผู้จัดการบู๊ทส์ ได้นำร่องใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งที่สาขานี้ และยังติดตั้งเครื่องกดน้ำดื่ม ให้บริการแบบฟรี ๆ แก่ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการในร้าน เพียงนำขวดที่ลูกค้าพกมาเติมด้วยตัวเอง หรือจะซื้อขวดจากทางร้านก็ได้

เจมส์ระบุว่า สาขาโคเวนต์ การ์เด้น คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางของแบรนด์ “บู๊ทส์” ครั้งใหม่ โดยสาขานี้จะเต็มไปด้วยแบรนด์สินค้าความงามที่น่าตื่นเต้น ไอเดียในการดูแลตัวเองและใช้ชีวิต และบริการใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าเดิม

“เราจะใช้ร้านนี้ในการศึกษาว่าผู้บริโภค หรือลูกค้าของเราชื่นชอบและต้องการอะไร จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านี้มากำหนดทิศทาง เพื่อทำพิมพ์เขียวสำหรับสาขาของเราที่เหลืออีก 2,500 แห่งต่อไป”

สำหรับรายละเอียดสโตร์แห่งนี้ “เจมส์” อธิบายเพิ่มว่า ยังมีโซนของร้านขายยา ซึ่งจะมีล็อกเกอร์ให้ลูกค้ายื่นใบสั่งยาได้ เพื่อประหยัดเวลาในการรอคิวจัดยา โดยรูปแบบของการให้บริการเช่นนี้ เป็นที่นิยมในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี ส่วนในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้น ทางร้านจะวางสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แชมพูแบบรีฟิล ไปจนถึงสินค้าที่มีสารสกัดจากกัญชา (CBD)ภายใต้พื้นที่กว่า 28,524 ตารางฟุตของสาขาแห่งนี้ เคยเป็นที่ของร้านมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ที่ปิดตัวไปในปีที่ผ่านมา

จากภาวะการแข่งขันและค่าเช่าในใจกลางกรุงลอนดอนที่สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคนท้องถิ่นที่เข้ามาทำงาน

ปัจจุบันมีตัวเลขประมาณการเอาไว้ว่า ประชากรในสหราชอาณาจักรถึง 90% พักอาศัยอยู่ใกล้กับสาขาของบู๊ทส์ โดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 10 นาที อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม

บู๊ทส์ได้ประกาศว่าบริษัทอาจต้องปิด 200 สาขาภายใน 2 ปี เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจ จากกลุ่มของดิสเคานต์สโตร์และร้านค้าออนไลน์

รวมถึงการปรับโครงสร้างของ “วอลกรีนส์ บู๊ทส์ อลิอันซ์” บริษัทแม่ของบู๊ทส์ในสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการพิจารณา ลดค่าใช้จ่ายจำนวน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐให้ได้จากธุรกิจทั่วโลก