ก้าวใหม่ “ศรีทองพาณิชย์” Top 5 ผู้นำเข้านาฬิกา

ในแวดวงตลาดนาฬิกาในไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ศรีทองพาณิชย์” ธุรกิจของครอบครัว “มหาดำรงค์กุล” ที่คร่ำหวอดในวงการนี้มาถึง 62 ปี มีแบรนด์นาฬิกาชื่อดัง จากทั้งญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์หลายแบรนด์ ไว้วางใจให้ช่วยขยายตลาดให้ ทั้งซิติเซ็น, ลูมินอกซ์, เฟรเดอริค คองสตองท์, บูโลว่า ฯลฯ

แม้วันนี้ “นาฬิกา” จะไม่ใช่พอร์ตฯหลักของมหาดำรงค์กุล เพราะช่วงหลังหันไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโรงแรมและอาคารสำนักงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สวิส โซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ เรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จนกลายเป็นรายได้หลักกว่า 70% ขณะที่รายได้จากนาฬิกาอยู่ที่ 30% แต่ศรีทองพาณิชย์ก็ยังคงเดินหน้า และให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้อย่างเข้มข้น

“วิภาวรรณ มหาดำรงค์กุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีทองพาณิชย์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ศรีทองพาณิชย์เติบโตและมีชื่อเสียงจากธุรกิจนาฬิกามาเป็นระยะเวลานาน จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น 1 ใน 5 ผู้นำเข้ารายใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้นำเข้าที่เก่าแก่ที่สุดก็ว่าได้ แต่ความเก่าแก่นั้น ต้องเป็นประสบการณ์ในการบริหารมากกว่าภาพลักษณ์ที่ดูคร่ำครึ เพราะเธอตระหนักดีกว่า ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นตลาดหรือ

ผู้บริโภค ศรีทองพาณิชย์ต้องครองใจคนทุกยุค ทุกสมัยให้ได้ โดยการทำความเข้าใจลูกค้า การเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ ไปจนถึงการการดึงทายาท ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ อย่าง “ศรินญา มหาดำรงค์กุล” เข้ามาช่วยคิด หาไอเดียแปลกใหม่ ในการเปิดตัว หรือนำเสนอแคมเปญ เพื่อทำให้ภาพของบริษัทดูสดใสและทันสมัยยิ่งขึ้น

“วิภาวรรณ” ยกตัวอย่าง ไอเดียของการใช้พรีเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างอะแวร์เนสของสินค้าและแบรนด์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา กับแบรนด์ “เฟรเดอริค คองสตองท์” ที่เปิดตัว “มิน-พีชญา” เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของแบรนด์ในไทย พร้อมกับเปิดตัวรุ่น Classic Art Deco คอลเล็กชั่นสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ

แม้ว่าไลน์สินค้าหลักของเฟรเดอริค คองสตองท์ จะเป็นนาฬิกาสำหรับผู้ชาย แต่เธอก็เล็งเห็นว่าในเรนจ์ของนาฬิการะดับกลางบน แบรนด์ส่วนใหญ่จะเน้นจับตลาดผู้ชายเป็นหลัก แปลว่ายังมีโอกาสที่นาฬิกาสำหรับ

ผู้หญิง จะสามารถขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะนาฬิการะบบกลไก ซึ่งมีราคาเริ่มต้นไม่สูงนักและเข้าถึงได้ง่ายเพียง 3.4 หมื่นบาท

ขณะเดียวกัน แบรนด์หลักอย่าง “ซิติเซ็น” ก็ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์นาฬิกาสำหรับคนรุ่นใหม่ และตลาดผู้ชายเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการดึง หมาก-ปริญ เป็นพรีเซ็นเตอร์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในด้านของการสื่อสารไปจนถึงช่องทางการขาย “วิภาวรรณ” ก็ไม่พลาดที่จะลงมือศึกษา ทำความเข้าใจ ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการรุกเข้าไปสื่อสารในออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ในทุกแบรนด์ที่ทำตลาดอยู่ ตลอดจนการเข้าไปในช่องทางอีคอมเมิร์ซ ร่วมกับ principle หรือบริษัทแม่ ที่เตรียมจะเปิดให้บริการในช่วงสิ้นปีนี้ด้วย สำหรับแบรนด์ซิติเซ็น และเฟรเดอริค คองสตองท์

“เราให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภค young generation มากขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปดูว่าเขาชอบอะไร ดูสื่อทางไหน ช็อปในแพลตฟอร์มอะไร แม้ว่าศรีทองพาณิชย์จะเป็นบริษัทที่เก่าแก่ แต่ก็พยายามเข้าถึงอะไรใหม่ ๆ เพื่อสร้างฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ด้วย และก็โชคดีที่บริษัทแม่ของแบรนด์ต่าง ๆ ช่วยซัพพอร์ตงบฯมาร์เก็ตติ้งกับเราค่อนข้างมาก”

“วิภาวรรณ” อธิบายว่า เกือบทุกแบรนด์ในขณะนี้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตัวเองขึ้นมา เพื่อรองรับพฤติกรรมการช็อปที่เปลี่ยนไปของลูกค้าปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาหน้าร้าน และบริการ ซึ่งเป็นทัชพอยต์หลัก

ก็ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ โดยเฉพาะสไตล์ของลูกค้าชาวไทย ที่เธอยังเชื่อว่า ยังไม่ก้าวไปเร็วเท่ากับที่อเมริกาหรือยุโรป และยังมีความต้องการที่จะมาชมสินค้า ขอคำแนะนำ ปรึกษา พนักงานขายที่ร้าน ทำให้โอกาสของการขยายสาขาหน้าร้าน ยังเติบโตได้เรื่อย ๆแต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ ตลาดขายส่ง (wholesale) ที่เป็นร้านค้าย่อย ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา “วิภาวรรณ” เล่าว่า ช่องทางนี้หดตัวลงถึง 20% และมีแนวโน้มที่จะหดตัวเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากร้านลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่ มีปัญหาจากการที่รุ่นลูก รุ่นหลาน ไม่สนใจที่จะรับช่วงต่อธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่ หรือปู่ย่าแล้ว

ทำให้ศรีทองพาณิชย์จะต้องปรับมาที่การขยายสาขาในห้างสรรพสินค้า และออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเอาต์เลต ที่ศูนย์การค้ารายใหญ่ทั้งเซ็นทรัล กับสยามพิวรรธน์มีแผนจะเปิดเร็ว ๆ นี้

“โรบินสันเองก็มีแผนที่จะเปิดใหม่เกือบทุกจังหวัด และคนรุ่นใหม่ก็หันมาเดินห้างกันมากขึ้น ทิศทางของเราคงมองการขยายตัวไปในรูปแบบนี้ดีกว่า ส่วนเอาต์เลตก็จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราระบายสต๊อกได้ดีอีกขึ้นด้วย”

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทรนด์ของ “สมาร์ทวอตช์” มาแรง และกลายเป็นคู่แข่งหลักของนาฬิกาทุกแบรนด์ไปแล้ว “วิภาวรรณ” ยอมรับในจุดนี้ แต่ก็มองว่า ผู้บริโภคยังคงต้องการนาฬิกาที่เป็นนาฬิกา เพื่อเอาไว้ใช้โอกาสต่าง ๆ เช่น ออกงาน เจรจาธุรกิจ บ่งบอกสถานะทางสังคม แม้ว่าสมาร์ทวอตช์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่นาฬิกาก็ยังมีโอกาสเติบโตอยู่แน่นอน

นอกจากการทำตลาดที่เข้มข้นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งกิจกรรม โปรโมชั่น การเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ที่จะทยอยทำตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงปลายปี “วิภาวรรณ” ก็ยังมองโอกาสการเติบโตจาก “แบรนด์ใหม่” ในกลุ่มระดับกลางบนอยู่เรื่อย ๆ ด้วยศักยภาพการเติบโต และระดับราคาที่ตัดสินใจง่าย

สิ่งที่เธอมองหาคือแบรนด์จากสวิส ที่คนไทยพอคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่บ้าง หรือต้องมีอะแวร์เนสอยู่พอสมควร เพราะความชอบของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีแบรนด์คอนเชียส (brand-conscious) ที่ค่อนข้างสูง คาดว่าภายในปีหน้า จะมีความคืบหน้าหลังจากงานบาเซิลแฟร์

“เราไม่คิดว่าจะหยุดอยู่แค่นี้” หัวเรือใหญ่ศรีทองพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย