“เจริญ” จัดทัพธุรกิจ 1 ล้านล. ปั้น 3 พอร์ตใหม่ส่งต่อทายาท จ่อคิวระดมทุนเขย่าตลาดหุ้น

เจ้าสัวเจริญเขย่าพอร์ต ยกเครื่องโครงสร้างธุรกิจ 1 ล้านล้านบาท แผ่อาณาจักร 5 ธุรกิจใต้บังเหียน 5 ทายาท เดินหน้าแปลงร่าง “แอสเสท เวิรด์-เครือไทย โฮลดิ้งส์” กลุ่มธุรกิจโรงแรม-การเงิน เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนระลอกใหม่ ดัน “วัลลภา” ลูกสาวคุม AWC เต็มตัว พร้อมปั้นพอร์ต “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” เดินหน้าควบรวม “โกลเด้นแลนด์” ขึ้นแท่นยักษ์อสังหาฯครบวงจรใต้ปีก “ปณต” ลูกชายคนเล็ก วางโรดแมปขยายตลาดอาเซียน ตามรอย “ไทยเบฟ-บีเจซี”

เจ้าสัวจัดพอร์ตแบ่งมรดก

แหล่งข่าวจากวงการที่ปรึกษาธุรกิจเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาล อยู่ระหว่างจัดโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบกลุ่มทรัพย์สินต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน พร้อมผลักดันกลุ่มธุรกิจทั้งหมดเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ภายใต้การบริหารของทายาททั้ง 5 คน

ทั้งนี้ การนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนอกจากเป็นการระดมทุนต่อยอดการขยายธุรกิจให้เติบโต อีกด้านก็ทำให้การจัดโครงสร้างการถือหุ้นทรัพย์สินต่าง ๆ มีความชัดเจน และสะดวกในการบริหารจัดการและเพื่อให้ง่ายต่อการส่งต่อให้ทายาท ก่อนที่จะมีการวางมือในอนาคต

ปัจจุบันเจ้าสัวเจริญอายุ 75 ปี แม้ว่าจะยังแข็งแรง แต่ด้วยจำนวนทรัพย์สินมหาศาลทำให้ต้องมีการจัดโครงสร้างการถือหุ้นของทายาทแต่ละคนให้ชัดเจน และการจัดพอร์ตแต่ละกลุ่มธุรกิจ พร้อมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ช่วยในการขยายธุรกิจและผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ของทุกวงการ หลังจากที่ผ่านมา ในส่วนของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้รุกขยายธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรทั้งแอลกอฮอล์และน็อนแอลกอฮอล์ จนขึ้นแท่นผู้นำในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกว่า 4 แสนล้านบาท และยังคงขยายการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดก็ได้คว้าสิทธิการบริหาร “ร้านกาแฟสตาร์บัคส์” ในประเทศไทย

แปลงร่าง “แอสเสท เวิรด์”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2562 นางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดตัวในฐานประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (AWC) แถลงข่าวใหญ่เกี่ยวกับทิศทางธุรกิจในอนาคตถึงแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ซึ่งเป็นการนำทรัพย์สินกว่าแสนล้านเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นรอบใหม่ หลังจากเมื่อกลางปี 2560 ตระกูลสิริวัฒนภักดีได้ซื้อคืนหน่วยลงทุนของ 3 กองทุนอสังหาฯ ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทย โฮเทลอินเวสเมนต์ (THIF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทล อินเวสเมนต์ (TRIF) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียล อินเวสเมนต์ (TCIF) มูลค่ารวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม และกลุ่มอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าต่าง ๆ

ทั้งนี้ AWC เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ 6,957 ล้านหุ้น มูลค่าตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 22.47% ของหุ้นทั้งหมด โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเงินมาใช้ 3 ส่วน คือ 1.เป็นเงินลงทุนซื้อกิจการ พัฒนาและปรับปรุงทรัพย์สิน 2.ชำระคืนเงินกู้ยืมให้ธนาคาร และ 3.เป็นเงินทุนหมุนเวียน

แหล่งข่าวกล่าวว่า การซื้อคืนหน่วยลงทุนเพื่อถอนกองทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนหนึ่งมาจากสินทรัพย์ในกองทุนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จึงซื้อคืนเพื่อมาปรับพอร์ตใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน

ดันลูกสาวคุมอาณาจักร AWC

นอกจากนี้ จากเอกสารเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญในการบริหาร คือ จากเดิมนายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และวัลลภา ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่บริษัท AWC ได้มีการแต่งตั้ง “วัลลภา ไตรโสรัส” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ขณะที่นายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส นั่งเป็นกรรมการบริษัทเท่านั้น ซึ่งมีผลตั้งแต่ 7 มีนาคม 2562

ทั้งนี้ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” มีทุนจดทะเบียน 32,000 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม 92,000 ล้านบาท มี 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรมแบรนด์ชั้นนำอย่าง แมริออท, อะลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล, โอกุระ, บันยันทรี, ฮิลตัน และเชอราตัน และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งประเภทอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าต่าง ๆ อาทิ โครงการเอเชียทีค, เกตเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เป็นต้น

ยกเครื่อง “ธุรกิจการเงิน”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังจัดทัพใหม่ก็คือ กลุ่มธุรกิจประกัน-การเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของนายโชติพัฒน์ และนางอาทินันท์ พีชานนท์ (ลูกสาวคนโตเจ้าสัวเจริญ) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH ยื่นไฟลิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทางอ้อม (backdoor listing) หลังจากบริษัทเครืออาคเนย์ หนึ่งธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ ได้เข้าเทกโอเวอร์บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) “TIC” เมื่อ มิ.ย. 2561 ด้วยมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อยทั้งหมด (17 มิ.ย.-22 ก.ค. 2562 )

จากนั้นจะดำเนินการโอนทรัพย์สินในเครืออาคเนย์ทั้งหมดเข้าไปอยู่ใน “เครือไทย โฮลดิ้งส์” และนำบริษัทเครือไทยฯเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯแทน โดยทรัพย์สินรวมของเครืออาคเนย์ ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 87,570 ล้านบาท เมื่อรวมกับทรัพย์สินของไทยประกันภัยอีกราว 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้สินทรัพย์รวมของเครือไทย โฮลดิ้งส์ จะมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับทรัพย์สินของเครืออาคเนย์ที่โอนเข้าบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ ประกอบด้วย บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต สัดส่วน 99.97% บริษัท อาคเนย์ประกันภัย 97.33% และบริษัทอื่น ๆ อีก 10 บริษัท อาทิ บริษัท อาคเนย์แคปปิตอล จำกัด, บริษัท อาคเนย์แอดไวซ์เซอรี่ จำกัด บริษัท ทีซีซี พริวิเลจการ์ด จำกัด, บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ จำกัด บริษัท อาเซียน รีอินชัวรันซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายหลังรับโอนกิจการจากเครืออาคเนย์ โครงสร้างผู้ถือหุ้นของเครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) จะประกอบด้วย นายเจริญ สิริวัฒนภักดี 37.30% คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี 37.30% โกลเด้น แคปปิตอล (สิงคโปร์) 22.28% บริษัท อาคเนย์ แมนเนจเมนท์ จำกัด 2.12% และอื่น ๆ 1%

ต่อยอด “เวลเนส นอร์ธปาร์ค”

แหล่งข่าวระบุว่า นอกจากธุรกิจประกันและการเงิน เครือไทย โฮลดิ้งส์ ยังมีแผนขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน คือ โครงการ “เวลเนส ลีฟวิ่ง” เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และให้บริการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะเริ่มโครงการแรกคือ โครงการเวลเนส ลีฟวิ่ง นอร์ธปาร์ค ซึ่งเครือไทย โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท นอร์ธปาร์ค เซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ จำกัด จากบริษัทในตระกูลสิริวัฒนภักดี ด้วยมูลค่า 2,200 ล้านบาท พร้อมแผนลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาโครงการอีกประมาณ 800 ล้านบาท

สำหรับโครงการเวลเนส ลีฟวิ่ง นอร์ธปาร์ค มีสินทรัพย์หลัก ได้แก่ อาคารชุดนอร์ธพาร์คเพลส อายุ 9 ปี ห้องพักอาศัยรวม 131 ยูนิต ประกอบด้วย ห้องชุด สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามกอล์ฟ สโมสร คลับเฮาส์ ห้องเซาน่า สวนหย่อม สนามเด็กเล่น

ปั้นพอร์ตเฟรเซอร์สฯซื้อ GOLD

แหล่งข่าวกล่าวว่า อีกกลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ ที่มีความเคลื่อนไหวในขณะนี้ คือ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ที่เป็นบริษัทน้องใหม่ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่มาจากการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการแบ็กดอร์จากการซื้อกิจการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล จำกัด (มหาชน) เมื่อ 11 ธันวาคม 2561 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ซึ่งในกลุ่มธุรกิจอยู่ภายใต้การบริหารของนายปณต สิริวัฒนภักดี (ลูกชายคนเล็ก)

โดยขณะนี้ เฟรเซอร์สฯอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD หรือที่รู้จักกันในชื่อโกลเดนแลนด์ ด้วยมูลค่ารวม 19,751,62 ล้านบาท โดยที่ตั้งเป้าปั้นพอร์ตบริษัทเฟรเซอร์สฯ ครอบคลุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานครบวงจร ทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อการพาณิชย์ การอยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องอื่นที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจ และศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตและผลประโยชน์ในระยะยาว โดยบริษัทวางเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นผู้นำการให้บริการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

รายงานระบุว่า ภายหลังจากการขายหุ้นทั้งหมดให้กับเฟรเซอร์สฯ จากนั้นอาจดำเนินการเพิกถอน GOLD ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจอสังหาฯของเจ้าสัวเจริญ ได้เดินหน้าลงทุนโครงการยักษ์หลายโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะอภิโครงการมิกซ์ยูส “วันแบงค็อก” บนถนนพระราม 4 ตัดถนนวิทยุ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้น การจัดพอร์ตธุรกิจเพื่อการระดมทุนระลอกใหม่ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะมาสนับสนุนในโครงการลงทุนต่าง ๆ และทั้งหมดก็จะกลายเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปอันดับต้น ๆ ของตลาด

สำหรับกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ที่มีนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล (ลูกเขย) นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล (ลูกสาวเจ้าสัว) กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประจำสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินกลุ่มบริษัท ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่อะไร หลังจากเมื่อปี 2559 ได้ปิดดีล 2 แสนล้าน ซื้อบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ปั้นพอร์ตบีเจซี กลายเป็นยักษ์สินค้าอุปโภคบริโภคแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมขยายอาณาจักรธุรกิจครอบคลุมตลาดอาเซียน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!