“จีน” สกัดเข้มสินค้าหนีภาษี กระทบแบรนด์ดังญี่ปุ่น-เร่งฟื้นยอด

ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่ภาครัฐพยายามสกัดธุรกิจหิ้วสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายเพื่อฟันกำไรจากส่วนต่างราคา และการเลี่ยงภาษีตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายมาสกัดเหล่า “ไดโก” (Daigou) หรือธุรกิจหิ้วสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายผ่านอีคอมเมิร์ซ-ฅโซเชียลเน็ตเวิร์ก ด้วยการออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อบังคับให้ผู้ค้าออนไลน์ต้องลงทะเบียนและเข้าสู่ระบบภาษี

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐอีก 8 หน่วย ได้เดินหน้าโครงการ “Internet Sword” เพื่อบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เข้มข้นขึ้น หวังสกัดธุรกิจสีเทานี้ที่ขยายตัวรวดเร็วต่อเนื่อง หลังสินค้าที่นำเข้ามีราคาสูงเพราะต้องจ่ายภาษีแพง และเป็นช่องว่างที่ทำให้มีการลักลอบหิ้วของเข้ามาขายจำนวนมาก

มาตรการของรัฐบาลจีนดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกับบรรดานักหิ้วเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังกระทบชิ่งไปยังผู้ค้าปลีกและแบรนด์สินค้าสัญชาติเกาหลี-ญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากข้อมูลของโกลด์แมน แซกส์ระบุว่าที่ผ่านมาร้านค้าปลอดภาษีในเกาหลีมีรายได้จาก บรรดา “ไดโก” ที่กว้านซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อสูงถึง 70%

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ผลิตสินค้าในญี่ปุ่นต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “คาโอ” ที่ระบุว่า ยอดขายผ้าอ้อมแบรนด์ “เมอร์รี่ส์” (Merries) ลดลง 20% ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับเครื่องสำอางแบรนด์ดัง “ชิเซโด้” ที่รายได้จากกลุ่มไดโกลดลง 15% สวนทางกับรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 6% รวมถึงบรรดาร้านค้าหลายรายต่างมียอดขายลดลง หลังจำนวนนักช็อปชาวจีนลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

สอดคล้องกับข้อมูลของ “ทรู ดาต้า” บริษัทวิจัยด้านธุรกิจค้าปลีก ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากร้านค้า-ร้านขายยากว่า 5,000 รายในญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ช่วงมกราคม-เมษายนที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในร้านค้าต่าง ๆ ลดลงไป 19% เช่นเดียวกับจำนวนใบเสร็จลดลง 20% สะท้อนถึงจำนวนลูกค้าที่หายไป แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4% และนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงเดียวกันก็ตาม

“ไดโก” รายหนึ่งยอมรับว่า ต้องวางมือจากธุรกิจนี้หลังมีกฎหมายใหม่ออกมา แม้จะเคยมีรายได้จากการหิ้วและขายเครื่องสำอาง-ของใช้เด็ก สูงถึง 2 แสนเยน หรือประมาณ 5.7 หมื่นบาทต่อเดือนก็ตาม ไปในทิศทางเดียวกับผู้บริหารของร้านค้าแบรนด์หนึ่งที่กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้จำนวนลูกค้าที่ซื้อสินค้าครั้งละมาก ๆ หายไป

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่ของจีนดังกล่าวไม่เพียงจะสกัดการหิ้วสินค้าหนีภาษีแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็ให้การสนับสนุนผู้นำเข้าที่ทำถูกต้อง ด้วยการลดหย่อนภาษีการค้า และทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายมียอดขายเพิ่มขึ้น เช่น “เรียวคาคุซัน” ผู้ผลิตยาอมบรรเทาอาการไอซึ่งยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซไปยังประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงได้รับข้อเสนอจากบริษัทจีนขอเป็นผู้นำเข้าและทำตลาดสินค้าตัวอื่น ๆ ในพอร์ตอีกด้วย ด้าน “แมนดอม” ผู้ผลิตสินค้าความงามสำหรับผู้ชายได้อาศัยจังหวะนี้เปิดออฟฟิเชียลสโตร์บนแพลตฟอร์ม “ที-มอลล์” ของอาลีบาบา

ด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนรายอื่น ๆ ก็หันมาใช้โอกาสนี้ยกเครื่องการทำธุรกิจ เช่น ออนเนียนกรุ๊ป ได้เข้าไปตั้งออฟฟิศในประเทศญี่ปุ่น และเดินสายติดต่อแบรนด์ต่าง ๆ ขอเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศจีน

มาตรการนี้น่าจะทำให้ธุรกิจต่างชาติในจีนค้าขายและขยายตัวได้รวดเร็วขึ้น หลังจากไม่ต้องแข่งกับบรรดานักหิ้ว ขณะที่หลาย ๆ รายก็ต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดลูกค้ามาทดแทนส่วนที่หายไป