“คราฟต์เบียร์” แรงติดลมบน แห่เปิด “บริวผับ”-ลุยส่งออกโกยเงินนอก

“คราฟต์เบียร์” แห่เปิด “brewpub” สานฝันทำเบียร์ในประเทศ-ต่อยอดธุรกิจ หลังปูพรมแบรนดิ้ง สร้างฐานลูกค้าได้ที่ “วิซซาร์ด เบียร์” ยึดทำเลท่องเที่ยว ปักหมุดพัทยา จุดพลุบริวผับคราฟต์เบียร์ ส่วน “อันเดอร์ด็อก” ลุย 2 โลเกชั่น สมุทรปราการ-เชียงใหม่ จับตารายใหม่เปิดเพิ่ม หลังปลดล็อกใบ รง.4 ตุลาคมนี้ เอื้อขออนุญาตง่ายขึ้น ด้านแบรนด์ “อัลเลอมองต์-ไลเกอร์” รุกขยายตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนมีแผนเปิดเบียร์โรงใหญ่ในไทยเร็ว ๆ นี้ 

กระแสคราฟต์เบียร์ในไทยยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านของคอนซูเมอร์ ที่มีความรู้เกี่ยวกับเบียร์ชนิดต่าง ๆ มากขึ้น มีความต้องการที่ซับซ้อน

ขณะเดียวกันด้านของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือแบรนด์เองก็เพิ่มจำนวนอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะกลุ่มคราฟต์เบียร์ไทย ที่มีองค์ความรู้ด้านการทำเบียร์รวมถึงความรู้ด้านกฎหมายมากขึ้น

ล่าสุดคราฟต์เบียร์ไทยมีพัฒนาการไปอีกขั้น จากการที่ต้องออกไปต้มเบียร์ในต่างประเทศ เพื่ออิมพอร์ตกลับมาขาย ก็เริ่มมีผู้ประกอบการที่หันไปทำโรงเบียร์ขนาดเล็ก หรือ brewpub เปิดโอกาสให้แบรนด์ตัวเองและแบรนด์พันธมิตรได้ใช้พื้นที่ผลิตเบียร์ในไทยอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงผู้ประกอบการที่สร้างแบรนด์จนมีตลาด มีกลุ่ม

ผู้บริโภคชัดเจนแล้ว ก็เตรียมที่จะขยับขยายไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน สร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ

คราฟต์เบียร์รุก “Brewpub”

นายศิริวัฒน์ การชัยศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิซซาร์ด บริว จำกัด ผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ “วิซซาร์ด” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่บริษัทได้ทำตลาดคราฟต์เบียร์มา 7 ปี จนสามารถสร้าง

แบรนดิ้ง ฐานลูกค้า ตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเบียร์ได้ระดับหนึ่งแล้ว ล่าสุดได้ตัดสินใจทำโรงเบียร์ขนาดเล็ก (brewpub) ภายในบริเวณร้าน Wizard Brew Pub เดิม ที่พัทยา โดยขยายพื้นที่เพิ่มเพื่อตั้งถังต้มเบียร์ 15 ถัง รวมถึงพื้นที่นั่งรับประทาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเทสต์รัน (test run) เพื่อตรวจสอบคุณภาพจากกรมสรรพสามิต เมื่อได้รับอนุญาตก็จะผลิตจำหน่ายต่อไป คาดว่าส่วนของบริวผับ จะเปิดให้บริการได้ในช่วงสิ้นปีนี้ มีเบียร์สดที่ผลิตจากในร้านให้เลือก 15 รายการ เน้นราคาจับต้องง่าย รองรับกลุ่มลูกค้าทั้งคนท้องถิ่น นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ

“ตลาดคราฟต์เบียร์ในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนแบรนด์ ความหลากหลายของสินค้า ช่องทางการกระจายสินค้าที่กว้างขึ้น ตลอดจนฐานลูกค้า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ดื่มเพื่อความมึนเมา แต่ชื่นชอบการดื่มคราฟต์เบียร์เนื่องจากรสชาติ กลิ่น ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาสินค้าหรือบริการเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งการเปิดบริวผับก็ทำให้แบรนด์สามารถผลิตเบียร์ในประเทศ มีการควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิด และบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ยังมีคราฟต์เบียร์ไทยอีกแบรนด์อย่างอันเดอร์ด็อก (Underdog) โดยบริษัท อันเดอร์ ด็อก ไมโคร บรูเออรี จำกัด ได้รับอนุญาตให้ผลิตเบียร์ชนิดโรงเบียร์ขนาดเล็ก หรือ brewpub สำหรับผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต จากกรมสรรพสามิตเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้เปิดดำเนินการอันเดอร์ด็อก ไมโคร บริวเวอรี่ เมื่อต้นปี ที่เทพารักษ์ สมุทรปราการ มีถังต้มเบียร์จำนวน 10 ถัง นอกจากนี้อันเดอร์ด็อกยังได้เช่าใบอนุญาตของโรงเบียร์ที่มีอยู่แล้วในเชียงใหม่ เพื่อทำบริวผับเพิ่มอีก 1 สาขา

นอกจากนี้ยังมีโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ที่ไปเช่าใบอนุญาตของมังกี้ บริวผับ มีโรงต้มอยู่แล้วในจังหวัดลพบุรี เพื่อผลิตและส่งมาขายในสาขาของบริษัท เช่น MITR Bar หลังจากพยายามเดินหน้าขอใบอนุญาตผลิตที่ปากเกร็ด แต่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่

ปลดล็อกใบ รง.4 เอื้อเปิดบริวผับ

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเหล้าเบียร์รายหนึ่ง วิเคราะห์ว่า คราฟต์เบียร์ไทยมีการรวมตัวของคนทำเบียร์ (brewer) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน รวมถึงมีหลักสูตรอบรมคนทำเบียร์อย่าง อิสระ อคาเดมี (Isara Academy) ที่ใช้พื้นที่และบุคลากรของบุญรอดฯ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในวงการเบียร์คนอื่น ๆ มาช่วยแนะนำตั้งแต่การต้มเบียร์ ไปจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยมีองค์ความรู้มากขึ้น และมองเห็นช่องทางที่จะต่อยอดเป้าหมายของตน อย่างวิซาร์ดเบียร์ก็ถือเป็นผู้เข้าอบรมของอิสระฯรุ่นที่ 1 เช่นกัน

ขณะเดียวกันในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานได้ปลดล็อกให้การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือใบ รง.4 จากเดิมใช้เครื่องจักร 5 แรงม้า เป็น 50 แรงม้า จะทำให้การตั้งบริวผับซึ่งแรงม้าไม่ถึง ไม่ต้องใช้ใบอนุญาต รง.4 ก็ได้ เอื้อให้การทำบริวผับทำได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องขออนุญาตผลิตจากกรมสรรพสามิต มีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท กรณีที่เป็นโรงเบียร์ขนาดเล็ก ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brew-pub) ปริมาณไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

“หลายคนยังเชื่อว่ากฎหมายกีดกันรายเล็กไม่ให้ทำธุรกิจนี้ แต่น้อยคนที่จะสนใจหาข้อมูลจริง ๆ ว่า หากบริวผับผลิตไม่ถึง 100,000 ลิตรต่อปีก็เปิดได้ เพียงแต่ขั้นตอนการขออนุญาต ต้องแสดงให้เห็นได้ว่าบริวผับนั้นมีความสามารถที่จะผลิตได้ถึงแสนลิตร/ปี และโลเกชั่นของร้านต้องไม่ติดโซนนิ่งห้ามขาย ขณะเดียวกันเบียร์ที่ผลิตออกมายังสามารถนำไปขายยังสาขาของบริวผับนั้น ๆ ได้อีก”

ต่อยอดลุยตลาดส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของแวดวงคราฟต์เบียร์ไทย หลังจากที่มีผู้ประกอบการเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น และมีบางรายที่เดินหน้าสร้างตลาด ขยายฐานลูกค้า และช่องทางกระจายสินค้าได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็เริ่มที่จะขยายตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจเป็นสเต็ปต่อไป

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทย-ต่างประเทศ เจ้าของแบรนด์ไลเกอร์และอัลเลมองด์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้

บริษัทได้เริ่มขยายตลาดส่งออกของแบรนด์ไลเกอร์และอัลเลมองด์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ปีนี้มีเป้าหมายเข้าไปในกลุ่มซีแอลเอ็มวี เพื่อต่อยอดการทำตลาดในประเทศ หลังจากที่แบรนด์ได้เดินหน้าขยายช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุม ทั้งโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท ซีเจเอ็กซ์เพรส ฟู้ดแลนด์ วิลล่ามาร์เก็ต ท็อปส์ กูร์เมต์มาร์เก็ต โลตัส แม็คโคร ฯลฯ ตลอดจนร้านคราฟต์เบียร์ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

แนวทางของบริษัทยังมีความต้องการที่จะขยายตลาดในประเทศ โดยทำให้สินค้ามีมาตรฐาน มีต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้คราฟต์เบียร์มีราคาที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ด้วยการจัดตั้งโรงเบียร์ขนาดใหญ่ (macrobrewery) เพื่อทำการผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้า ซึ่งเป็นวิธีที่คราฟต์เบียร์ไทยส่วนใหญ่ใช้อยู่ในขณะนี้

หลังจากความพยายามในการยื่นขออนุญาตผลิตเบียร์ โรงใหญ่ (macrobrewery) ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี ขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนสุดท้ายคือ การพิจารณารายงาน EIA ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ทำให้บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด กลายเป็นบริษัทที่ 5 ของไทย และถือเป็นโรงงานแห่งที่ 9 ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเบียร์โรงใหญ่ ซึ่งเป็นสเกลเดียวกับสิงห์ ช้าง ไฮเนเก้น และซานมิเกล