ตลาดเบียร์โตประชดศก.ซบ สิงห์ส่ง”ยูคอร์น”ดันยอดขาย

แฟ้มภาพ
ค่ายเบียร์ยิ้มร่า “สิงห์-ช้าง-ไฮเนเก้น” โตยกแผง สวนกระแสศก.-กำลังซื้อซบ คาดแรงส่งต่อถึงช่วงเทศกาลปลายปี “สิงห์” ไม่รอหน้าขายส่งเบียร์ใหม่ “ยู คอร์น” ปลุกยอด สรรพสามิตชี้ 9 เดือนเก็บภาษีได้เพิ่ม 12% เหนาะ ๆ 5.9 หมื่นล้าน

แม้ในปีที่ผ่านมาตลาดเบียร์มูลค่า 1.8-2 แสนล้านบาทต้องเผชิญกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงปลายปีที่เข้าสู่หน้าการขาย และการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ปรากฏตลาดเบียร์ได้กลับมา “คึกคัก” ขึ้นอีกครั้ง และลากยาวมาจนถึงครึ่งปี 2562 สอดคล้องไปกับตัวเลขการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของกรมสรรพสามิต ช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561-มิถุนายน 2562) ได้เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 12% เช่นเดียวกับจำนวนเอสเคยูของสินค้าในตลาดทั้งรายใหญ่และรายเล็กที่พัฒนาหรือนำเข้าเบียร์มาอย่างต่อเนื่อง

รายได้ภาษีเบียร์กระฉูด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ตรวจสอบสถิติรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน 2562) พบว่า ในส่วนของรายได้จากการจัดเก็บภาษีเบียร์มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมกราคมจัดเก็บได้ 8,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 8,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.10% ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์จัดเก็บได้ 6,362 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 6,398 ล้านบาท หรือลดลง 0.57%

ส่วนเดือนมีนาคม 6,709 ล้านบาท จัดเก็บได้ 5,641 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.94% เดือนเมษายน 9,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 8,998 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.10% เดือนพฤษภาคม 7,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 5,859 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.94% และเดือนมิถุนายน 6,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 5,288 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.62%

หากพิจารณาในภาพรวมตามปีงบประมาณจะพบว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีเบียร์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 หรือ 9 เดือนตามปีงบฯ 2562 มีรายได้ทั้งสิ้น 59,761 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่จัดเก็บได้ 53,322 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.08%

เบียร์โตยกแผง

แหล่งข่าวจากวงการค้าเบียร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ตลาดเบียร์โดยรวมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศที่ไม่ดีนัก โดยตัวเลขการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเป็นการเติบโตแบบยกแผง กล่าวคือ ค่ายสิงห์ ค่ายช้าง และค่ายไฮเนเก้น ต่างมียอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกราย ถือเป็นการเติบโตที่เกินคาดและดีกว่าเมื่อช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดเบียร์โดยรวมค่อนข้างทรงตัว

“ปัจจัยที่ทำให้ตลาดเบียร์โดยรวมดีขึ้น หลัก ๆ น่าจะอยู่ที่มู้ดหรืออารมณ์ของผู้บริโภคที่คลายกังวลและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว ประกอบกับการมีเม็ดเงินจากการเลือกตั้งจำนวนหนึ่งเข้ามาในระบบ และทำให้ผู้บริโภคกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการทุกค่ายค่อนข้างแฮปปี้ และเท่าที่ได้พูดคุยกันในกลุ่มแต่ละค่ายก็ไม่ได้มีการเร่งหรือทุ่มการทำตลาด ไม่ได้ใช้งบฯการตลาดที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มของตลาดที่ดีขึ้นจะเป็นแรงส่งทำให้ตลาดโตไปได้จนถึงช่วงปลายปีที่เข้าสู่หน้าเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่เรายังห่วงเรื่องของภัยแล้งอาจจะส่งผลกระทบกับกำลังซื้อกลุ่มเกษตรกรได้”

“สิงห์” เปิดตัวเบียร์ใหม่

ด้านกลุ่มสิงห์หลังจากที่พยายามพัฒนาเบียร์เซ็กเมนต์ใหม่ ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและรับกับเทรนด์ของตลาดที่หันมานิยมเบียร์นำเข้าคราฟต์เบียร์มากขึ้น ล่าสุดภายใต้แบรนด์ “ยูเบียร์” สิงห์ได้เปิดตัวรสชาติใหม่ “ยู คอร์น” หรือ “เบียร์ข้าวโพด” แอลกอฮอล์ 3.8% เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ผ่านร้านค้าตัวแทน-เอเย่นต์ โดยจะเน้นไปในช่องทางออนพรีมิส เช่น ผับ บาร์ ร้านอาหารก่อนในช่วงแรก โดยสินค้าดังกล่าวถือเป็นซีซั่นนอลโปรดักต์ ซึ่งลอตแรกจะผลิตจำนวน 1 ล้านลิตร หรือประมาณ 2 ล้านกระป๋อง เพื่อมาสร้างสีสันตลาดเบียร์ในช่วงหน้าโลว์ซีซั่นของการขาย (เข้าพรรษา-หน้าฝน) ซึ่งปกติแล้วหากเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ บรรดาค่ายเบียร์มักจะไปเปิดใกล้ ๆ กับช่วงออกพรรษา เนื่องจากจะเริ่มเข้าสู่หน้าขายปลายปีพอดี

ซื้อกินเองที่บ้านยอดพุ่ง

ขณะที่ผู้ประกอบการเบียร์อีกรายหนึ่งให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตลาดเบียร์ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตขึ้น เพราะวาไรตี้ของสินค้าที่มีเพิ่มขึ้นในตลาด ทั้งผู้เล่นรายใหญ่เองที่ออกสินค้าใหม่กันมากขึ้น และผู้เล่นรายย่อย เช่น อิมพอร์ตเบียร์-คราฟต์เบียร์ ก็เข้ามาทำตลาดกันจำนวนมาก บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ มีการจับจ่ายในช่องทางออฟเทรดหรือร้านค้าปลีก-ซูเปอร์มาร์เก็ต-ร้านสะดวกซื้อกันมากขึ้น ทำให้ยอดขายในช่องทางเหล่านี้เติบโตเช่นเดียวกับแพ็กไซซ์ อย่าง 2 กระป๋อง/ขวดหรือ 4 กระป๋อง/ขวดก็ขายดีตามไปด้วย “ปัจจัยที่ผู้บริโภคหันมาดื่มเบียร์ที่บ้านกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรณรงค์ของภาครัฐ เช่น เมาไม่ขับ หรืออัตราโทษของการเมาแล้วขับที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งสามารถคุมบัดเจตและปริมาณในการดื่มเบียร์ได้ดีกว่าการดื่มนอกบ้าน” แหล่งข่าวกล่าว

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!