โรดแมป “เซ็นทรัล” นับหนึ่งเขย่าค้าปลีกโลก

เป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการไม่น้อย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก “เซ็นทรัล รีเทล” ผู้ถือหุ้นใหญ่ “โรบินสัน” ได้ทำคำเสนอซื้อหุ้น (tender offer) ทั้งหมดของบริษัท เพื่อจะถอนโรบินสันออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และเปิดทางให้ “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ-ระดมทุนผ่านการทำ IPO

เพราะนั่นหมายความว่า “เซ็นทรัล รีเทล” หรือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ที่ประกอบด้วย เซ็นทรัล โรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต ซีเอ็มจี ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท ไทวัสดุ บ้าน แอนด์ บียอนด์

เพาเวอร์บาย ฯลฯ ตลอดจนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม อย่าง บิ๊กซี, ลานซี มาร์ท และห้างสรรพสินค้าหรูในอิตาลี อย่าง ลา รีนาเซนเต ซึ่งมีรายได้ทั้งปีอยู่ที่กว่า 2.4 แสนล้านบาท และถือหุ้นโดยตระกูล “จิราธิวัฒน์” ทั้งหมด 100% มานานกว่า 72 ปี กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ด้วยการเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัว ไปสู่บริษัทมหาชนในเร็ว ๆ นี้

หลังจากที่เซ็นทรัลแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯได้ไม่นาน “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล ก็จัดงานแถลงใหญ่ เพื่อตอบคำถามกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เริ่มต้นจากการชี้แจงถึง

ที่มาที่ไปว่า เขาและผู้บริหารได้เตรียมตัวกับเรื่องนี้กว่า 3 ปีแล้ว โดยย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าเซ็นทรัลมีการปรับโครงสร้างอยู่ตลอด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทั้งกลุ่มธุรกิจเดิม ๆ และการขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเสริมกับ core business รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่หลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง

“ทศ” ฉายภาพถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมาของเซ็นทรัล จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ร้านค้าห้องแถวที่เจริญกรุง จนมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่วังบูรพา สีลม ชิดลม ลาดพร้าว จากนั้นก็เข้าสู่ยุคของการขยายตัวจากห้างสรรพสินค้า ไปยังค้าปลีกในฟอร์แมตอื่น ๆ (from department store to multiformat store) เช่น โรบินสัน ท็อปส์ เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต ไทวัสดุ ฯลฯ ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคของการขยายตัวในประเทศ (domestic expansion) ทำให้เซ็นทรัลมีสาขาครอบคลุม 51 จังหวัดในขณะนี้

และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “ทศ” เรียกยุคนี้ว่า ยุคของการขยายตัวไปในต่างประเทศ (international expansion) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อห้างสรรพสินค้าหรู ลา รีนาเซนเต ในอิตาลี การเข้าไปขยายธุรกิจในเวียดนาม ทั้งซูเปอร์สปอร์ต โรบินสัน รวมถึงการซื้อกิจการของบิ๊กซี ที่เวียดนาม เมื่อปี 2560 จนมาถึงยุคปัจจุบัน “ออมนิแชนเนล” (Omnichanel) ที่เซ็นทรัลกำลังจะเดินหน้าต่อไป สู่จุดมุ่งหมายในการเป็น Center of life ศูนย์กลางของทุก ๆ ชีวิต ทั้งผู้บริโภค พนักงาน สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

อย่างที่ “ทศ” เคยพูดเอาไว้ว่า วันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจโดยเฉพาะค้าปลีกกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างไร้พรมแดน เซ็นทรัลจึงไม่เพียงแต่ต้องปรับตัว แต่ยังต้องสร้างพาร์ตเนอร์ หรือหาพันธมิตรเพื่อมาคอลลาบอเรชั่น เสริมความแข็งแกร่งด้วย

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะช่วยให้การหาพาร์ตเนอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากบริษัทชั้นนำในโลกจะให้ความสำคัญกับเรื่องความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มากกว่าการเป็นไพรเวตคอมปะนี ขณะเดียวกันก็จะดึงดูดทาเลนต์ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานได้มากขึ้น ตลอดจนมีแหล่งเงินทุนที่ได้จากการระดมทุนเพื่อนำไปขยายธุรกิจตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้”

แม้ว่า “ทศ” ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลข หรือรายละเอียดจากการระดมทุนผ่าน IPO ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการประชุมผู้ถือหุ้นโรบินสัน เพื่ออนุมัติการถอนหุ้นออกจากตลาด จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ภายในสิ้นปีนี้

แต่ตัวเลขคร่าว ๆ ในแต่ละปีที่เซ็นทรัลลงทุนอยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท และยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในออฟไลน์เหมือนเดิม แต่จะเพิ่มในส่วนของออนไลน์ และออมนิแชนเนลมากขึ้น เนื่องจากมองว่ายังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมหาศาล ตอบรับกับยุทธ์ศาสตร์ New Central New Economy ตอกย้ำความเป็นผู้นำค้าปลีกระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

เพราะในยุคไร้พรมแดนอันมีออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อทั่วโลก การเข้าไปสร้างฐานในประเทศใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องไปด้วยฟอร์แมตของร้านค้าอีกต่อไป แต่อาจเป็นความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในช่องทางอื่น เช่น ออนไลน์ หรือดิจิทัลก็ได้

ส่วนเรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการที่หุ้น IPO ในช่วงนี้ค่อนข้างซบเซา การเข้าตลาดในเวลานี้จะใช่ไทมิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ทางทีมผู้บริหารเซ็นทรัล รีเทล ทั้ง “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการ และ “ญณณ์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารยืนยันว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะมารอบนี้พกความครบเครื่องมาเต็มที่ ทั้งแนวโน้มการเติบโตของจีดีพี กำลังซื้อ สังคมเมืองที่ขยายตัว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยว เม็ดเงิน และการเป็น 1 ใน 20 เดสติเนชั่นของทัวริสต์จากทั่วโลก

อีกทั้งประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่การนำ “เซ็นทารา” เข้าตลาดในปี 2553 จากบริษัทที่มีมูลค่า 1.6 พันล้านบาท เป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป 4.6 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน หรือเติบโตขึ้น 29 เท่า เช่นเดียวกับ “ซีพีเอ็น” ที่เข้าตลาดในปี 2538 จากบริษัทมูลค่า 8.9 พันล้านบาท เติบโตก้าวกระโดด 37 เท่า กลายเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป 3.3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน


วันนี้อาณาจักรของ “เซ็นทรัล รีเทล” มีรายได้รวมทั้งเครือกว่า 2.4 แสนล้านบาท มีจุดขายเกือบ 4 พันแห่งใน 3 ประเทศ มีพื้นที่ขายรวม 2.9 ล้าน ตร.ม. และพื้นที่เช่าอีก 5.1 แสน ตร.ม. ตลอดจนฐานลูกค้ากว่า 27 ล้านคนทั่วโลกมีการบริหารอยู่ภายใต้ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ แฟชั่น ฮาร์ดไลน์ และฟู้ด มีหลากหลายฟอร์แมตของร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นสโตร์ เว็บไซต์ โมบายแอปพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย ที่จะกลายเป็นส่วนผสมสำคัญที่สร้างโอกาสทางธุรกิจแบบไร้รอยต่อ ทั้งไทยและต่างประเทศ เรียกว่าพร้อมเต็มที่ สู่ค้าปลีกระดับโลก