โปรตีนพืชฮิตติดลม “ไบเออร์” เล็งร่วมวงขายส่งวัตถุดิบ

โปรตีนที่ผลิตจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโอ๊ตและอื่น ๆ ยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรงไม่มีตกของปีนี้ และมีแนวโน้มจะร้อนแรงต่อเนื่องไปอีกหลายปี

โดย “ยูบีเอส” (UBS) บริษัทจัดการกองทุนสัญชาติสวิส ประเมินว่า ตลาดมูลค่า 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2561 นี้ จะเติบโตเป็น 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 ด้วยแรงหนุนจากความตื่นตัวเรื่องสุขภาพกับการกินเนื้อแดง และผลกระทบของการเลี้ยงปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค

ที่ผ่านมานอกจาก 2 ผู้เล่นหลักที่กำลังมีชื่อโด่งดังในสหรัฐ อย่าง “บียอนด์มีต” (Beyond Meat) ซึ่งส่งสินค้าไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับบนทั่วสหรัฐ และเพิ่งเปิดตัวในตลาดหุ้นสหรัฐช่วงต้นปี พร้อมทำสถิติหุ้นราคาพุ่งไปกว่า 700% และสตาร์ตอัพ “อิมพอสซิเบิลฟู้ด” (Impossible Foods) ที่ได้รับยอดสั่งสินค้าจากเชนฟาสต์ฟู้ดหลายราย อาทิ เบอร์เกอร์ คิง จนต้องระดมทุนเพิ่มอีก 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาขยายกำลังผลิตแล้ว ยังมีผู้เล่นอื่น ๆ

อีกหลายรายจากหลายประเทศ เช่น ดูปองท์ (DuPont) บริษัทเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ, เมเปิลลีฟฟู้ด (Maple Leaf Foods) ผู้ผลิตเนื้อรายใหญ่ของแคนาดา, “ครอน” (Quorn) ผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัญชาติอังกฤษ และอื่น ๆ

ล่าสุดสำนักข่าว “รอยเตอร์ส” รายงานว่า “ไบเออร์ เอจี” (Bayer) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเคมีและยา สัญชาติเยอรมัน เล็งจะรุกเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน

“บ็อบ ไรเตอร์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาแผนกวิทยาศาสตร์พืชไร่ของไบเออร์ กล่าวว่า บริษัทกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของตลาดนี้อย่างใกล้ชิด

เนื่องจากดีมานด์ที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ อาจเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัทที่จะเข้าไปสร้างรายได้ด้วยการเป็นซัพพลายเออร์วัตถุดิบในการผลิตโปรตีนจากพืช โดยอาศัยโนว์ฮาวการพัฒนาพันธุ์พืชซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งของบริษัทเป็นใบเบิกทาง เช่นเดียวกับความได้เปรียบ

ด้านกำลังผลิตเมล็ดพืชและถั่ว จากการซื้อกิจการ “มอนซานโต้” (Monsanto) ซึ่งเป็นผู้ค้าข้าวโพด ถั่วเหลือง และเมล็ดธัญพืชอันดับ 1 ของโลก เข้ามาเมื่อปีที่แล้ว

“เห็นได้ชัดว่าขณะนี้กำลังการผลิตและวัตถุดิบยังเป็นโจทย์สำคัญของผู้ผลิตโปรตีนจากพืชหลายราย ซึ่งพืชตระกูลถั่วอย่างถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถือเป็นวัตถุดิบยอดนิยม สอดคล้องกับกำลังผลิตที่บริษัทได้มาจากมอนซานโต้”

อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ผลิตเองต่างพยายามหาวัตถุดิบใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงการด้วยเช่นกัน โดย “อีทาน บราวน์” ซีอีโอของบียอนด์มีต กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าทดลองใช้วัตถุดิบใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยปัจจุบันนอกจากถั่วเหลืองแล้ว ยังมีทั้งข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน ถั่วเขียว และอื่น ๆ

ทั้งนี้ หากไบเออร์เข้าเป็นซัพพลายเออร์ส่งเมล็ดพันธุ์ให้กับบรรดาผู้ผลิตโปรตีนจากพืชจริง อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการแข่งขันและราคาสินค้าได้ไม่น้อย