“ร้านอาหาร”…อ่อนแรง ดิ้นปรับตัวสู้ “เศรษฐกิจ-กำลังซื้อ”

จะเรียกว่า “เอาตัวรอด” ไปได้อย่างเฉียดฉิวก็คงไม่ผิดนัก สำหรับธุรกิจร้านอาหารที่แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2562 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อเร็ว ๆ นี้

แม้ทุกค่ายจะ “เติบโต” แต่ตัวเลขที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ “ปริ่มน้ำ” และที่สำคัญ เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดของคำชี้แจงจะพบว่า กว่าที่ตัวเลขจะออกมาเป็น “บวก” ได้ ทุกค่ายต้องใช้พละกำลังไม่น้อย เพื่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่เป็นใจ

“ไมเนอร์ฯ” ออกแรงปลุกยอด

เริ่มจาก “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” เจ้าของร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง ฯลฯ ที่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร 5,865 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/2561 ที่มีรายได้ 5,927 ล้านบาท หรือลดลง 1%

“ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลาง บริษัทไมเนอร์ฯ ระบุในคำอธิบายฐานะการเงินและผลการดำเนินงานว่า ไตรมาส 2/2562 ยอดขายโดยรวมทุกสาขา ซึ่งรวมยอดขายของสาขาแฟรนไชส์ เติบโต 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการขยายสาขาทั้งในไทยและจีน และขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ขณะที่ยอดขายต่อร้านเดิม (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

และหากแยกเฉพาะธุรกิจร้านอาหารในประเทศ จะมียอดขายโดยรวมทุกสาขาเติบโตเพียง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากการขยายสาขาอย่างระมัดระวัง และยอดขายจากร้านเดิมที่ลดลง 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อได้เป็นอย่างดี

หากย้อนกลับไปจะพบว่าที่ผ่านมา ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ฯได้มีการออกเมนูใหม่ และโปรโมชั่นราคาออกมาเป็นระยะ ๆ อาทิ เบอร์เกอร์ คิง ออกเมนูข้าว เบอร์เกอร์มังสวิรัติ ส่วนเดอะ พิซซ่า คอมปะนี มีเมนูพิซซ่ากุ้งถล่มขอบ

ขณะที่ซิซซ์เล่อร์ จัดโปรโมชั่น ซูเปอร์คุ้ม เป็นต้นซีอาร์จีเปิดแผนรุกดีลิเวอรี่ด้าน “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” หรือซีอาร์จี ผู้บริหารร้านเคเอฟซี, มิสเตอร์ โดนัท, เปปเปอร์ลัน, โยชิโนยะ,

อานตี้ แอนส์ ฯลฯ ที่อยู่ใต้ร่มธงของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ไตรมาส 2/2562 มีรายได้ 3,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 3,025 ล้านบาท โดยปัจจัยหนุนมาจากการขยายสาขาเป็นหลัก หรือมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น 99 สาขา แต่ตรงกันข้าม เปอร์เซ็นต์อัตราการเติบโตสาขาเดิม โดยเฉลี่ยของทั้ง 11 แบรนด์ กลับติดลบ 1.8%

ทางแก้ที่ “ซีอาร์จี” นำมาใช้ หลัก ๆ ยังคงเป็นการออกโปรดักต์ใหม่และการทำโปรโมชั่น ซึ่งทำให้หลาย ๆ แบรนด์มีแนวโน้มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมิสเตอร์ โดนัท อานตี้ แอนส์ รวมถึงเดอะ เทอเรส, โอโตยะ และคัตสึยะ

นอกจากนี้ ซีอาร์จียังประกาศจะเพิ่มรายได้จากการขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ทั้ง 1312 Food Hunt ออนไลน์ดีลิเวอรี่แอปของบริษัท และ food aggregators อื่น ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมนู และโปรโมชั่นที่เน้นความคุ้มค่า เพื่อดึงผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

“เอ็มเค-โออิชิ-เซ็น” โตยกแผง

ขณะที่ร้านอาหารค่ายอื่น ๆ ก็ยังมีการเติบโตเช่นกัน เริ่มจากเจ้าตลาดสุกี้ “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” ที่ปัจจุบันมีร้านอาหารในพอร์ต 7-8 แบรนด์ ครอบคลุมร้านสุกี้ ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารไทย ร้านกาแฟ เบเกอรี่ โดยไตรมาส 2 มีรายได้ 4,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221 ล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อนหน้านี้ 5.2% ส่วนใหญ่มาจากการขยายสาขาร้านอาหารเอ็มเค สุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ

เช่นเดียวกับ “โออิชิ” ไตรมาส 3/2561-2562 มีรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร 1,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210 ล้านบาท หรือเติบโตถึง 12.9% โดย “นงนุช บูรณเศรษฐกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ ชี้แจงว่า ปัจจัยหลักมาจากการขยายสาขาร้านอาหารใหม่ และการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม และ “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” ที่มีร้านอาหารภายใต้การดูแลมากถึง 10 แบรนด์ อาทิ Zen, Musha, Aka, ตำมั่ว, ลาวญวน, เขียง ฯลฯ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้ 765 ล้านบาท หรือเติบโต 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สวนทางกับ “เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้” ผู้บริหารร้านอาหารบุฟเฟต์ ฮอท-พอต, ไดโดมอน, เจิ้งโต่ว ติ่มซำสไตล์ฮ่องกง ที่มีรายได้รวม 322 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 77.88 ล้านบาท หรือลดลง 19.5% และยอดขายที่ลดลง ทำให้บริษัทขาดทุน 61 ล้านบาท ซึ่ง “โชติวิทย์ เตชะอุบล” ซีอีโอเจซีเคฯ ให้เหตุผลว่า เกิดจากการแข่งขันที่สูงขึ้น

ปัจจัยลบรุมเร้า-เร่งปรับตัว

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจร้านอาหารยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา สาเหตุหลัก ๆ มาจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ประกอบกับตลาดมีการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีรายใหม่กระโดดเข้ามาในตลาดมากขึ้น อาหารร้านทุกประเภทล้วนเป็นคู่แข่งกันทั้งทางตรงและทางอ้อม และสามารถทดแทนกันได้

ที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่กำลังซื้อไม่ดี และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ลดลง จึงทำให้ยอดขายสาขาที่ตั้งอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ล่าสุดจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่หนักขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงขาลง ตอนนี้ทุกค่ายต้องกลับมานั่งทบทวนและวางยุทธศาสตร์กันใหม่ จากนี้ไปการขยายสาขาเพิ่มจะต้องมีความรัดกุมและรอบคอบมากขึ้น

“ตอนนี้นอกจากเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อมีปัญหาแล้ว ขณะนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ลดลงค่อนข้างมาก และจะจับจ่ายใช้สอยเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ไม่ต้องอื่นไกล ช่วงวันแม่ที่ผ่านมา ร้านอาหารตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ค่อนข้างเงียบ ไม่ต้องต่อคิวยาวเหมือนเมื่อก่อน” แหล่งข่าวย้ำ

“บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทกำลังประเมินสถานการณ์และผลกระทบของเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้าน และอาจต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเน้นการขยายสาขาที่เล็กลง เพราะใช้งบฯลงทุนไม่สูง หรืออาจจะต้องกำหนดระยะเวลาการคืนทุนที่เร็วขึ้น จากเดิม 3 ปีก็ลดลงเหลือ 2 ปี เป็นต้น พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการร้าน และเน้นทำธุรกิจให้เร็ว

ถึงนาทีนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ธุรกิจร้านอาหารมูลค่า 4 แสนล้านบาท กำลังจะก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากตัวเลขการเติบโตที่ “เตี้ยติดดิน” อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ทุกค่ายต้องเร่งปรับตัว

สถานการณ์ที่หนักขึ้น-รุนแรงขึ้น

จากนี้ไปหาก ไม่เจ๋งจริง…คงอยู่ยาก