ทีวี (ยัง) หืดจับ ระดมคอนเทนต์เข็นรายได้

ทยอยปิดสวิตช์ลงเรื่อย ๆ สำหรับทีวีดิจิทัล 7 ช่องที่ตัดสินใจออกจากตลาด โดยลอตแรก 3 ช่อง ได้แก่ สปริงนิวส์ 19 ไบรท์ทีวี 20 และสปริงส์ 26 (Now 26 เดิม) ที่ตัดใจหยุดออกอากาศตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนอีก 4 ช่องที่เหลือ ได้แก่ ช่อง 28 เอสดี ช่อง 13 แฟมิลี่ เอ็มคอทแฟมิลี่ 14 และวอยซ์ทีวี จะยุติการออกอากาศในภายสิ้นเดือนกันยายนนี้

ส่วนอีก 15 ช่องที่สู้ต่อ แม้คู่แข่งจะลดน้อยถอยลง แต่เส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และหากย้อนพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ (เมษายน-มิถุนายน) ตัวเลขก็ไม่ดีนัก

ช่อง 3-เวิร์คพอยท์เดินหน้าบุก

เริ่มตั้งแต่บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 เอชดี (ช่อง 3) ที่ไตรมาสแรกทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยขาดทุนใหญ่รอบ 48 ปี ถึง 311 ล้านบาท ข้ามเข้าไตรมาส 2 นี้ ก็ยังขาดทุนอยู่ 103 ล้านบาท หรือมีรายได้รวม 2,092 ล้านบาท ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ต้นทุนไตรมาสนี้ลดลง 20%

แม้บีอีซีจะโยนผ้าขาวคืนช่องไป 2 ช่องแล้ว และกลับมาโฟกัสที่ช่อง 3 เป็นหลัก แต่ยังต้องเผชิญกับมรสุมก้อนใหญ่ พร้อมกับภารกิจพลิกฟื้นคืนกำไรให้ได้ โดยงานนี้ “อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แม่ทัพใหม่ตั้งเป้าหมายว่า จะกลับมาเป็นสถานีข่าวอันดับ 1 ทั้งบนทีวีและออนไลน์

ส่วนเวิร์คพอยท์ทีวีที่ไล่เก็บส่วนแบ่งตลาดมาต่อเนื่อง แต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รายได้ก็แผ่วลงเล็กน้อย โดยมีรายได้รวม 803 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ถ้าหากโฟกัสเฉพาะรายได้จาก “เวิร์คพอยท์ทีวี” จะพบว่ามีตัวเลขที่ลดลงถึง 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีรายได้เพียง 597 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจทีวีแข่งขันสูง

สำหรับในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เวิร์คพอยท์ยังเดินหน้าเติมคอนเทนต์ใหม่ ๆ ไม่ยั้ง โดย “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น ล่าสุดร่วมกับเฟซบุ๊กทำรายการ “Social Icon Thailand” ออกอากาศเวลา 20.05 น.

เริ่มวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา อีกโปรเจ็กต์ร่วมกับ ZAAP Party ทำรายการ ZAAP on Sale และจะมีรายการใหม่อีกไตรมาสละ 2-3 รายการ ตั้งเป้าว่าผังรายการใหม่นี้จะทำให้เรตติ้งครึ่งปีหลังนี้เพิ่มขึ้น

อมรินทร์-อสมท มีกำไร

อีกด้านหนึ่งก็มีอีกหลายช่องที่เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังจากที่ผลการดำเนินมีสถานะที่ขาดทุนมา 4-5 ปี

ติดต่อกัน โดยเฉพาะค่ายอมรินทร์ทีวี ที่หลังจากอยู่ใต้ร่มเงาของเจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ในนามบริษัท วัฒนภักดี จำกัด เมื่อปลายปี 2559 ทำให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นเป็นลำดับ โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้ 690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วนครึ่งปีหลังนี้ก็เริ่มออกหมัด ปล่อยคอนเทนต์หลากหลายขึ้น ทั้งรายการวาไรตี้ และเริ่มปล่อยละครลงจอเรื่องแรก “สามีสีทอง” ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.00 น. อีกทั้งเติมทัพด้วย “แม็กซ์ มวยไทย แบทเทิล” และเดอะแชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก ลงจอวันศุกร์-เสาร์ เวลา 18.00 น. เริ่มวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

งานนี้ “ระริน อุทกะพันธ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) มั่นอกมั่นใจว่า ปีนี้จะกลับมามีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลมา และคาดว่าภาพรวมบริษัทปีนี้จะโต 40% จากปีก่อน

เช่นเดียวกับ อสมท ก็เริ่มกลับมามีกำไร โดยไตรมาส 2 นี้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 1,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไร 287 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการบันทึกกำไรที่เกิดจากการคืนช่องเอ็มคอทแฟมิลี่ 14 ซึ่ง “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ก็ขอลุยต่อทันที ด้วยการอัดคอนเทนต์ใหม่ลงจอเพียบ โดยเฉพาะ MAX มวยไทยไฟเตอร์ และ MAX โกลบอลไฟต์ แชมเปี้ยนชาเลนจ์ ที่จัดเต็มตลอด 5 วัน ตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี เวลา 18.00 น. หวังเก็บเรตติ้งช่วงเย็นแบบยกแผง

โมโน-แกรมมี่เร่งเพิ่มเรตติ้ง

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่องโมโน 29 ก็มีรายได้รวม 613.74 ล้านบาท ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากแยกเฉพาะช่องโมโน 29 พบว่าเติบโตขึ้น 40% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีรายได้ 528 ล้านบาท และเดินหน้าขนซีรีส์ หนังดังต่างประเทศ ลงช่องต่อเนื่อง หวังกอดเรตติ้งเบอร์ 3 ไว้ให้นานที่สุด

เช่นเดียวกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากกางตัวเลขไตรมาส 2 พบว่า มีรายได้ 1,463 ล้านบาท ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็มีกำไร 68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เป็นผลพวงจากการที่ช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 มีเรตติ้งดีขึ้น จากการอัดคอนเทนต์ละคร วาไรตี้ มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ล่าสุด “สถาพร พานิชรักษาพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ผู้บริหารช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ประกาศยกเครื่องผังรายการครึ่งปีหลังใหม่ พร้อมชูกลยุทธ์ เพิ่มกลุ่ม

เป้าหมายใหม่ รักษากลุ่มเป้าหมายเดิม โดยช่วงไพรมไทม์เวลา 20.10 น. ก็ยังเสิร์ฟละครแซบครบรส พร้อมเติมรายการ “มวยดี วิถีไทย” ถ่ายทอดสดทุกวันอาทิตย์เข้ามาเพิ่ม ส่วนช่องวันก็ยังเติมจุดแข็งต่อ ด้วยการส่งละครเด็ดลงจอ เช่น ภูตพิศวาส ใบไม้ที่ปลิดปลิว หวังเรียกเรตติ้งต่อช่วงโค้งท้าย

ตัดภาพมาที่ช่อง 8 ของค่ายอาร์เอส หลังจากปรับโมเดลธุรกิจก็ทำให้ไตรมาส 2 นี้ เก็บรายได้ไป 901 ล้านบาท หลัก ๆ แล้วมาจากธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (MPC) 542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับครึ่งปีหลังนี้ “ดามพ์ นานา”

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) บอกว่า ได้ปรับผังใหม่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนเวลาออกอากาศรายการยอดนิยม พร้อมเติมรายการใหม่ เช่น เสียงสวรรค์ รางวัลชีวิต ช่อง 8 ช่วยด้วย เฉียด แปลกทั่วทิศ เป็นต้น หวังเพิ่มเรตติ้งครึ่งปีหลังนี้

นี่เป็นเพียงภาพที่เกิดขึ้นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ปิด 7 ช่อง คนดูก็ย้ายช่อง

“ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด ย้ำว่า การหายไปของ 7 ช่องไม่ได้ทำให้สื่อโฆษณาผ่านทีวีโตขึ้น แต่จะเกิดการย้ายฐานของคนดู เบื้องต้นคาดว่าจะเกิดการย้ายของผู้ชมทั้ง 7 ช่อง ไปยัง 15 ช่องที่เหลืออยู่ โดยผู้ชมช่อง 13 แฟมิลี่ จะย้ายกลับไปที่ช่อง 33 เอชดี เช่นเดียวกัน คนดูเอ็มคอทแฟมิลี่ 14 ก็จะย้ายกลับไปที่ช่องเอ็มคอทเอชดี ส่วนกลุ่มคนดูช่องข่าวก็จะย้ายไปช่องเนชั่นทีวี ไทยรัฐทีวี ขณะที่ฐานกลุ่มคนดูช่องวาไรตี้ (ช่องสปริง 26 ช่อง 28 เอสดี) คาดว่าจะย้ายไปที่ช่องเอ็มคอทเอชดี เนชั่นทีวี และอมรินทร์ทีวี

อย่างไรก็ตาม 15 ช่องที่สู้ต่อ ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์เดิม ๆ คือ เม็ดเงินโฆษณาลดลงเรื่อย ๆ โดยช่องที่เหลืออยู่ก็พยายามแก้เกมด้วยการหาคอนเทนต์ใหม่เข้ามาเติม

แม้หลายช่องยังต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง แต่ก็กัดฟันเติมคอนเทนต์ใหม่เพื่อเก็บเรตติ้ง หวังเรียกเม็ดเงินโฆษณาให้มากที่สุด