7-11ย้ำเจ้าตลาดสะดวกซื้อ สปีด 13,000 สาขาจัดทัพบุกออนไลน์

7-11 ย้ำภาพเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อสยายปีก 13,000 สาขาในอีก 3 ปี พร้อมเดินหน้าลุยช่องทางออนไลน์-อีคอมเมิร์ซ รับเทรนด์ตลาดโตพุ่ง 20%

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของค้าปลีกกลายเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจ นอกจากการแข่งขันของผู้ประกอบการทั้งรายใหม่ที่เข้ามาเป็นทางเลือกในตลาดและรายปัจจุบันที่แข่งขันกันแล้วนั้น การเติบโตของช่องทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวสูงมาก โดยคาดการณ์ว่า ปีนี้ตลาดค้าปลีกจะเติบโตได้ 2.8-3% แม้จะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่องทางออนไลน์ที่เติบโตกว่า 20% แต่ช่องทางค้าปลีกร้านสะดวกซื้อยังมีการขยายตัวมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วง 3 ปีจากนี้ 2560-2563 ตลาดค้าปลีกจะสามารถขยายตัวได้มากกว่า 4-6% ขณะที่ช่องทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซจะโตมากกว่า 30-40% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น อัตราการใช้จ่ายของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่เข้าไปกระตุ้นกำลังซื้อและการจับจ่ายของตลาดซึ่งทิศทางของธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นจะเน้นสร้างการเติบโตทั้ง 2 ช่องทางไปพร้อม ๆ กัน โดยเป้าหมายการเปิดสาขาใหม่ในปี 2564 จะครอบคลุม 13,000 สาขา จากปัจจุบันเปิดแล้ว 10,200 สาขา ควบคู่กับช่องทางออนไลน์ที่จะมีบทบาทมากขึ้นผ่านโมเดล “ออมนิแชนเนล” ที่จับมือกับซัพพลายเออร์เพื่อทำออนไลน์สำหรับขายในออฟไลน์ผ่านช่องทาง 24shopping

“นอกจากสินค้ากับซัพพลายเออร์แล้วนั้น การมีพาร์ตเนอร์ในเครืออย่างทรู จะทำให้เรามีบิ๊กดาต้ามหาศาลและใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการหนุนธุรกิจให้เติบโตทั้งออนไลน์และออฟไลน์”

นายปิยะวัฒน์กล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภาพรวมธุรกิจปัจจุบัน คือ สภาพสังคมเปลี่ยนไป ครอบครัวมีขนาดเล็กลง และจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้การแข่งขันของภาคธุรกิจรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง การปรับตัวของภาคธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ขณะเดียวกันในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ซึ่งวันนี้สมาร์ทโฟนกลายเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภค สะท้อนจากแนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางจากนี้ไป เซเว่นฯก็จะเป็นแอร์สเปซ (Air Space) มากขึ้น ทั้งลักษณะร้านค้าเสมือนจริง (Virtual Story) ให้ลูกค้าชิงคิวอาร์โค้ดสินค้าจากรูปภาพ และส่งต่อถึงบ้านเพื่อความสะดวก หรือ self checkout การบริการชำระสินค้าด้วยตัวเอง แก้โจทย์บุคลากรที่ไม่เพียงพอ และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น

“เราคงจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ดิจิทัลมากขึ้น แต่จะค่อยเป็นค่อยไปก่อน”