กำลังซื้อติดหล่ม ทำไม…ทีวีโฮมช็อปปิ้งยังโต

เกิดคำถามว่า ทำไม ! ธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งยังคงเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก ท่ามกลางเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนหน้าร้าน หรือช่องทีวีที่เพิ่มขึ้น จาก 4 ช่องเป็น 24 ช่อง ทำให้ผู้เล่นเพิ่มจาก 3 รายเป็น 15 ราย ประกอบกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็โตขึ้น และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไป กล้าตัดสินใจซื้อ โดยไม่สัมผัสสินค้ามากขึ้น กลายเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่สนับสนุนให้ตลาดทีวีโฮมช็อปปิ้งยังคงเติบโต

โตสวนเศรษฐกิจ

“ทรงพล ชัญมาตรกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า

ตลาดทีวีโฮมช็อปปิ้งครึ่งปีหลังนี้ จะเติบโตลดลง 5% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย. 62) ที่มีมูลค่า 7,351 ล้านบาท โต 12.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมไม่เติบโต หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น

ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันก็สูงขึ้น เพราะมีผู้เล่นรายใหม่กระโดดเข้ามาต่อเนื่อง ประกอบกับต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่จากการปิดตัวทีวีดิจิทัล 7 ช่อง นั่นหมายถึง พื้นที่ขายก็จะลดลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดปีนี้จะโต 11% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 15,334 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายก็พยายามปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้ต่อ

“ตอนนี้ยอดขายทีวีโฮมช็อปปิ้งมาจากแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมคิดเป็นสัดส่วน 60% ของตลาด โดยคาดว่าหลังทีวีดิจิทัลปิดตัวลง ธุรกิจช่องทีวีดาวเทียมก็จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เพราะต้นทุนไม่มากและราคาโฆษณาไม่สูง ถือเป็นอีกโอกาสขายของทีวีโฮมช็อปปิ้ง ที่พยายามจะนำสินค้าเข้าไปขายไปทุกแพลตฟอร์ม”

ทีวี ไดเร็ค…รุกเพิ่มช่องทางขาย

แม้เศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวมยังไม่ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการธุรกิจนี้ก็ยังไม่ถอดใจแต่เดินหน้าลุยต่อ โดยเจ้าตลาดทีวี ไดเร็คก็ประกาศทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลังชัดเจน

“ทรงพล” กล่าวว่า จะเดินหน้าด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขยายช่องทางขายให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มมากขึ้น ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และเพิ่มสินค้าเรือธงในกลุ่มใหม่ ๆ เริ่มด้วยการขยายช่องทางขายนั้น โดยในไตรมาส 3 นี้ได้ร่วมทุนตั้ง 2 บริษัทใหม่ ได้แก่ 1.ร่วมกับบริษัท เอ็มทีวี (ไทยแลนด์)

จำกัด ตั้งบริษัทใหม่ขึ้น (ชื่อบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณา) โดยทีวี ไดเร็คเข้าถือหุ้น 60% เพื่อบริหารจัดการสื่อโฆษณาช่องทีวีดาวเทียมในเครือเอ็มวีทีวีจำนวน 24 ช่อง เช่น ช่อง 51 Five Channel ช่อง 58 Major Channel เป็นต้น และ 2.ร่วมกับบริษัท ดิแอ็นเซอร์ จำกัด ตั้งบริษัทใหม่ (ชื่อบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณา) โดยบริษัทถือหุ้น 51% เพื่อขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ตามด้วยการเปิดตัวช่องใหม่ 1 ช่อง โดยปัจจุบันทดลองออกอากาศบนทรูวิชั่นส์ ในชื่อ “ทีวีดี 3” (ช่อง 54) ซึ่งเดือนตุลาคมนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่ เน้นขายเครื่องสำอาง สินค้าสุขภาพความงาม เจาะกลุ่มผู้หญิงและจะขยายช่องทางขายผ่านช่องทีวีดาวเทียมเพิ่มเป็น 16 ช่อง จาก 8 ช่องทดแทนเวลาออกอากาศที่หายไปจากการปิดตัวของทีวีดิจิทัล 7 ช่อง อีกทั้งเปลี่ยนตัวเองเป็นซัพพลายเออร์นำสินค้าเข้าไปขายร่วมกับกลุ่มทีวีสเตชั่นช็อปปิ้ง เช่น ฮัลโหล 1346 (เวิร์คพอยท์ทีวี) 29 ช็อปปิ้ง (ช่องโมโน 29) เป็นต้น

อีกกลยุทธ์ คือ การเพิ่มสินค้าใหม่ โดยร่วมมือกับบริษัท แกรททิทูด อินฟินิท จำกัด (มหาชน) พัฒนาเครื่องสำอาง “GIFT Collection” กว่า 20 รายการ แต่คาดว่าจะพร้อมขายในปีนี้ 10 รายการ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะมีรายได้จากสินค้ากลุ่มนี้ 30-40 ล้านบาท รวมถึงมีสินค้าแบรนด์ใหม่กลุ่มเครื่องนอน “Octa Smart” เข้ามาจำหน่ายด้วย คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ 4,450 ล้านบาท

ทรูผุดช่องใหม่เจาะตลาดแมส

เช่นเดียวกับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ไล่เก็บส่วนแบ่งตลาดนี้มาติด ๆ โดยต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวช่องใหม่ “สนุก ช็อปปิ้ง” ขณะที่ทิศทางครึ่งปีหลังนี้ “องอาจ ประภากมล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจทีวีช็อปปิ้ง ภายใต้แบรนด์ทรูซีเล็ค ทรูช้อปปิ้ง และสนุก ช็อปปิ้ง กล่าวว่า จะเพิ่มสินค้าใหม่ต่อเนื่อง จะคัดเลือกสินค้ากลุ่มเอ็กซ์คลูซีฟจากเกาหลีเข้ามาจำหน่าย รวมถึงจัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการขายช่วงครึ่งปีหลังนี้

ในส่วนช่อง”สนุก ช็อปปิ้ง” ที่เปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี โดยวางโพซิชันนิ่งให้เป็นช่องที่นำเสนอสินค้าคุณภาพดีในราคาเข้าถึงได้ ด้วยการวางราคาสินค้าเฉลี่ย 1,400 บาทต่อชิ้น หวังเจาะตลาดแมสมากขึ้นเท่ากับว่าตอนนี้บริษัทจะมีฐานลูกค้ากว้างขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

ช็อปชาแนลเพิ่มไลน์สินค้า

ขณะเดียวกันบริษัทร่วมทุนระหว่างสหพัฒน์กับทีวีโฮมช็อปปิ้งจากญี่ปุ่น “ซูมิโตโม” ก็เดินหน้ารุกตลาดต่อ”สรโชติ อำพันวงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจทีวีช็อปปิ้ง “ช็อปชาแนล” บอกว่า ปัจจุบันตลาดทีวีโฮมช็อปปิ้งแข่งกันที่สินค้าเป็นหลัก ดังนั้นพยายามสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้า ด้วยการนำเข้าสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟจากญี่ปุ่นเข้ามาขายเพิ่มขึ้น โดยโฟกัส 3 กลุ่มสินค้าที่บริษัทมีความแข็งแรง ได้แก่ จิวเวลรี่ แฟชั่น และสินค้ากลุ่มความงาม พร้อมทั้งขยายช่องทางการขายให้ครอบคลุมมากขึ้น จากปัจจุบันที่จำหน่ายทีวีทั้งทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียม และมีแผนจะเพิ่มช่องทางออกอากาศอีก นอกจากนี้ยังมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนออกอากาศสดของช่องช็อปชาแนลจาก 10 ชม.เป็น 24 ชม.ในอนาคตนี้ด้วย เพราะการออกอากาศสดสามารถกระตุ้นยอดขายได้ดีกว่าการรีรัน

ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันก็มีขาย ทั้งเว็บไซต์ช็อปชาแนล การทำรายการสดขายสินค้าในยูทูบ และมาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ อีกทั้งยังจัดโปรโมชั่นต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการขาย โดยคาดว่าภาพรวมธุรกิจปีนี้จะเติบโตได้ดี เพราะครึ่งปีแรกที่ผ่านมาแม้มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่บริษัทก็ยังโต 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มบีบวกขึ้นไปยังไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ไม่เพียงปัจจัยหนุนจากจำนวนช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมคนที่เปลี่ยน กล้าตัดสินค้าซื้อมากขึ้นเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการธุรกิจเองก็พยายามปรับกลยุทธ์และหาแนวทางใหม่ ๆ หวังผลักดันให้อุตฯนี้ยังโตต่อ ท่ามกลางเศรษฐกิจภาพรวมและกำลังซื้อที่กำลังมีปัญหา