“สตรีมมิ่ง” ทะลัก รายใหม่ผุดโมเดลจ่ายที่เดียวจบ

เหล่าบริการสตรีมมิ่งอย่าง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix), ฮูลู (Hulu), เฮชบีโอนาว (HBO now), ไพรมวิดีโอ (Prime Video) ฯลฯ เคยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในชัยชนะของผู้บริโภค เนื่องจากสามารถเหมาจ่ายค่าบริการเพียงไม่กี่ร้อย หรือพันต้น ๆ เพื่อแลกกับการเข้าถึงสื่อบันเทิงทั้งภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ สารคดี รายการวาไรตี้ แอนิเมชั่น ฯลฯ ปริมาณหลายหมื่นชั่วโมงแบบเลือกได้ตามใจชอบ ซึ่งคุ้มกว่าการซื้อตั๋วภาพยนตร์ หรือสมัครสมาชิกเคเบิล-ทีวีดาวเทียม

แต่ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจจนมีผู้เล่นจำนวนมาก และเทรนด์การแข่งขันด้านคอนเทนต์ออริจินอลที่ลงทุนสร้างเอง และการซื้อสิทธิ์คอนเทนต์มาฉายแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีก หลัง “ดิสนีย์พลัส” (Disney+) ผู้เล่นรายล่าสุดทยอยเปิดตัวซีรีส์จากสตาร์ วอร์ส และมาร์เวล ทำให้เริ่มจุดเด่นเรื่องความคุ้มค่าลดลง เนื่องจากหากผู้ชมต้องการดูคอนเทนต์จากแต่ละรายให้ครบ ผู้ชมต้องจ่ายค่าสมาชิกให้ผู้ให้บริการทุกราย รวมกันเป็นเงินไม่น้อยเสียแล้ว

เรื่องนี้กลายเป็นโอกาสที่ผู้เล่นรายใหม่จะใช้รุกเข้าสู่ตลาด พร้อมตอบโจทย์ด้วยโมเดลธุรกิจแบบวันสต็อปเซอร์วิส โดยให้ผู้ชมจ่ายค่าสมาชิกกับตนเพียงรายเดียวแต่รับชมได้ทุกสตรีมมิ่ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “เพล็กซ์” (Plex) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นดูภาพยนตร์ หรือฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวมานานกว่า 10 ปี ประกาศผันตัวเป็นผู้ให้บริการออนไลน์สตรีมมิ่งในตลาดสหรัฐอเมริกาเต็มรูปแบบ พร้อมไฮไลต์โมเดลวันสต็อปเซอร์วิส รวมถึงโมเดลอื่น ๆ ทั้งการชมฟรี แต่มีโฆษณา และวิดีโอออนดีมานด์

“คีท วาโลรี่” ซีอีโอของเพล็กซ์ อธิบายว่า โมเดลวันสต็อปเซอร์วิสมีแผนเริ่มให้บริการช่วงต้นปี 2563 โดยจะมีคอนเทนต์ครอบคลุมประมาณ 75-85% ของรายการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการรับชม

โดยแม้จะไม่มีคอนเทนต์ออริจินอลจากแต่ละราย อย่าง สเตรนเจอร์ ธิงส์ หรือเชอร์โนบิล เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่สตรีมมิ่งจะยอมขายสิทธิ์ในคอนเทนต์ที่ทุ่มทุนสร้างเอง แต่บริษัทเล็งคว้าสิทธิ์คอนเทนต์เอ็กคลูซีฟระดับท็อปฮิตอื่น ๆ เช่น ซีรีส์เฟรนด์, เดอะออฟฟิศ และอื่น ๆ ซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยหน้ากันมาไว้ในมือแทน

สำหรับการคิดราคาจะเป็นการพ่วงไปกับสมาชิกเพล็กซ์พาส ที่ปัจจุบันบริษัทจับมือกับ “ไทดัล” (Tidal) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเพลง เพื่อให้สมาชิกที่จ่ายค่ารายเดือน 4.99 เหรียญสหรัฐ สามารถใช้บริการฟังเพลงแบบคุณภาพสูง มูลค่า 20 เหรียญสหรัฐของไทดัลได้ด้วย

ส่วนในเฟสแรกซึ่งจะเปิดปลายปีนี้ จะให้บริการฟรีแบบมีโฆษณาด้วยคอนเทนต์จำนวนหนึ่งจากค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส (Warner Bros.) ซึ่งเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งขยายพาร์ตเนอร์ด้านคอนเทนต์และฟังก์ชั่นบนแอปให้กว้างและหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พอดแคส, เว็บโชว์, ฟรีทีวี, ฟังก์ชั่นอัดรายการ รวมถึงบริการสตรีมมิ่งเพลงจากไทดัล (Tidal) ซึ่งช่วยให้สามารถชิงผู้ชมจากเคเบิลและทีวีดาวเทียมมาได้จำนวนมาก จนปัจจุบันบริษัทมีบัญชีผู้ใช้กว่า 20 ล้านรายแล้ว”

อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ยังมีข้อกังวลหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือจากพันธมิตรต่าง ๆ ที่อาจไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเพล็กซ์ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ จากการเป็นช่องทางให้ผู้ใช้เผยแพร่และแลกเปลี่ยนภาพยนตร์ระหว่างกัน สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มองว่า ยังต้องรอดูว่าหลังจากนี้ เพล็กซ์จะสามารถชักจูงสตรีมมิ่งให้มาร่วมมือด้วยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาแม้แต่ยักษ์ไอทีอย่าง แอปเปิล ยังไม่สามารถดึงสตรีมมิ่งรายหลัก ๆ มาร่วมแพลตฟอร์มได้

ซึ่งในเรื่องนี้ “สก็อต โอเลเชาวสกี้” ผู้ร่วมก่อตั้งเพล็กซ์ย้ำว่า บริษัทไม่มีส่วนช่วยหรือสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ และบรรดาสตูดิโอในฮอลลีวูดเองก็เข้าใจเรื่องนี้ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังเป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลและกระตุ้นการรับชม เช่น แสดงลิสต์รายการ-ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังชม หรือโฆษณากำหนดการแสดงสดของเพลงที่ผู้ใช้กำลังฟังอยู่ เป็นต้น และในอนาคตจะเพิ่มสินค้าอื่น ๆ เช่น เพลงซาวนด์แทร็ก เข้าไปอีกด้วย จึงเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดพันธมิตรเข้ามาได้

ทั้งนี้ หากความพยายามครั้งนี้สำเร็จ อาจจะเป็นการพลิกโฉมวงการสตรีมมิ่งสหรัฐและทั่วโลกก็เป็นได้