“องค์การเภสัช” บุกอาเซียน จัดทัพเพิ่มช่องทางขายออนไลน์

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)

จากความต้องการการใช้ยาในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น จากหลากหลายปัจจัย ทั้งการเข้าถึงการรักษาของประชาชนที่มีมากขึ้น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ ล้วนทำให้ตลาดยาในประเทศที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทเติบโตขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

ขณะเดียวกันถือเป็นอีกโอกาสสำคัญของ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ของรัฐที่สำคัญ ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาด จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งเพียง 10% จากตลาดรวม และสามารถสร้างการเติบโตให้องค์การได้ในระยะยาว

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ถึงแนวทางการสร้างการเติบโตให้องค์การเภสัชฯ ความคืบหน้าของโรงงานผลิตยารังสิต เฟส 2 รวมถึงเรื่องกัญชาทางการแพทย์ที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้

เดินหน้า รง. ผลิตยา เฟส 2

นายแพทย์วิฑูรย์กล่าวว่า เป้าหมายหลักขององค์การเภสัชในขณะนี้ คือ การให้ความสำคัญกับการวิจัย การพัฒนายา เพื่อให้สอดรับกับความต้องการภายในประเทศ และสร้างการเติบโตให้องค์การเภสัชฯสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก เริ่มด้วยการวิจัย พัฒนายา ล่าสุด ได้เดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตยา ระยะที่ 2 (คลอง 10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนเนื้อที่ 60 ไร่ ด้วยงบฯลงทุนกว่า 5,607 ล้านบาท ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายนปี 2565

โรงงานนี้จะรองรับกำลังการผลิตยาที่ย้ายฐานการผลิตมาจากโรงงานที่องค์การเภสัชกรรม ถนนพระรามที่ 6 และผลิตยารายการใหม่ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ เช่น การผลิตยาน้ำ ยาฉีด ยาครีม ขี้ผึ้ง ยาเม็ด เป็นต้น กลุ่มยาที่รักษาโรคเรื้อรัง ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาจำเป็น เช่น ยารักษาโรคเอดส์ เบาหวาน ความดัน ลดไขมันในเส้นเลือด วัณโรค ยาชา ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ก็จะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทยตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อยู่ระหว่างผลิตและวิจัยหลายรายการ รวมทั้งการร่วมมือกับบริษัทสมุนไพรระดับโลก บริษัท Bionorica เพื่อทำตลาดสมุนไพรในยุโรปด้วย

เพิ่มช่องทางขายทั้งใน-ตปท.

นายแพทย์วิฑูรย์กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การขยายช่องทางจำหน่าย เพื่อกระจายยาไปสู่ผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ กลุ่มลูกค้ารัฐบาล โดยกระจายยาผ่านโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของ อภ. หรือคิดเป็นสัดส่วน 90% ของรายได้รวม ต่อด้วยกลุ่มลูกค้าเอกชน ซึ่ง อภ.พยายามจะเพิ่มสัดส่วนให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ ด้วยการขยายช่องทางจำหน่ายทั้งเป็นร้านขายยาของ อภ.เองให้มากขึ้น และช่องทางจำหน่ายที่เป็นช่องทางออนไลน์ ล่าสุด เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้นำสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เสริมอาหารเข้าไปจำหน่ายผ่านมาร์เก็ตเพลซ เช่น ลาซาด้า เป็นต้น เบื้องต้นก็ได้ผลตอบรับดี

ส่วนกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ปัจจุบัน อภ.ได้ส่งออกยาต้านไวรัส (ARV) ให้กับหลาย ๆ ประทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา เป็นต้น และเมื่อโรงงานผลิตยารังสิตแล้วเสร็จ อภ.ก็มีนโยบายที่จะเพิ่มการส่งออกยาไปยังประเทศในอาเซียนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

เพิ่มไลน์อัพสินค้าแบรนด์จีพีโอ

นายแพทย์วิฑูรย์กล่าวอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การสร้างการเติบโตให้แก่แชมเปี้ยนโปรดักต์ ภายใต้แบรนด์ “CURMIN BY GPO” โดยมีแผนจะปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ ให้สดใส ทันสมัยขึ้น รวมถึงการเพิ่มไลน์อัพสินค้าใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีน ผลิตภัณฑ์ชะลอริ้วรอย เป็นต้น เพื่อสอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และจะมุ่งไปที่การเพิ่มสินค้าที่เน้นการป้องกันมากกว่ารักษา เพื่อรองรับสังคมสูงอายุที่จะกำลังโตขึ้น

“เป้าหมายรายได้ปีนี้ที่วางไว้ 1.6 หมื่นล้านบาทคงเป็นไปตามแผน และยังมีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่ยังไม่ออกดอกออกผล แต่ได้เริ่มทำไปแล้ว ซึ่งท้ายที่สุด อภ.ต้องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กรให้สามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้เร็วที่สุด และสามารถแข่งขันบนตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากทุก ๆ มิติ”

แนวทางที่วางไว้จะทำให้ปีนี้มีรายได้ 16,720 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเพิ่มจากปี 2561 ที่มีรายได้ 16,651 ล้านบาท

ดันกัญชาเข้าบัญชียาหลัก

นายแพทย์วิฑูรย์ยังกล่าวถึงบทบาทขององค์การเภสัชฯกับ “กัญชาทางแพทย์” ที่กำลังได้รับความสนใจขณะนี้ว่า ล่าสุด องค์การเภสัชฯได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อผลิตสายพันธุ์กัญชาและกัญชงตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์เทียบเท่ากับต่างประเทศ โดยคาดว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้จะเริ่มปลูกลอตแรกได้ในเดือนกันยายนนี้ จากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่องค์การเภสัชฯได้นำร่องปลูกกัญชาลอตแรกจำนวน 140 ต้น และได้สารสกัดน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น จำนวน 2,500 ขวด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยที่ร่วมมือกับกรมการแพทย์ ใน 2 กลุ่ม คือ โครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ เพื่อรักษาผู้ป่วยและเก็บข้อมูลการวิจัย ควบคู่กันไปในกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการศึกษา เช่น โรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะคลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น และกลุ่มที่ 2 คือ การศึกษาเชิงลึกที่ต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลีนิก และการวิจัยทางคลินิก เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ผอ.องค์การเภสัชฯย้ำในตอนท้ายว่า แนวทางหลัก ๆ คือ ต้องการให้กัญชาสามารถเข้าสู่ประชาชนได้กว้างมากขึ้น รวมถึงการผลักดันให้กัญชาเข้าสู่บัญชียาหลัก