ธุรกิจปักหมุดล้อมสุวรรณภูมิ ดาหน้าลงทุนดักนักท่องเที่ยว

ค้าปลีกดาหน้าบุก “สุวรรณภูมิ” รับกำลังซื้อนักท่องเที่ยว เผยบางนา-ตราดยันลาดกระบังรับอานิสงส์ “เมกาบางนา” ยกระดับเป็น “เมกาซิตี้” ขยายลงทุนมิกซ์ยูส “สยามพิวรรธน์” ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 50-75 ไร่ บูมลักเซอรี่เอาต์เลต กลุ่มทุนภูเก็ต “วังถลาง” ยึดลาดกระบังเปิดศูนย์ช็อปปิ้งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ถึงวันนี้ “สุวรรณภูมิ” ได้ชื่อว่าเป็นย่านทำเลทองที่กลุ่มทุนต่าง ๆ สนใจจะจับจองและปักธง นอกจากปัจจัยเกื้อหนุนจากสนามบินสุวรรณภูมิที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกมากกว่า 62 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับการตั้งอยู่ใกล้กับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คาดว่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายโครงการ และเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ตามมา สะท้อนถึงกำลังซื้อจำนวนมหาศาลที่รออยู่ นอกจากการลงทุนเปิดเอาต์เลต “เซ็นทรัล วิลเลจ” ของเซ็นทรัลพัฒนา เพื่อรองรับกำลังซื้อและการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวแล้ว ย่านดังกล่าวยังมีกลุ่มทุนทั้งรายเก่ารายใหม่ที่ดาหน้าทยอยเข้ามาลงทุนเพิ่มเป็นระยะ ๆ

อัพเกรด “เมกาบางนา”

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเมกาบางนา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พื้นที่ย่านบางนากำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วยังเป็นพื้นที่ที่ใกล้โครงการอีอีซี และในอนาคตจะมีระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น บริษัทจึงตั้งเป้าให้เมกาบางนาเป็นศูนย์กลางชุมชนที่มีบริการครบวงจร โดยมีแผนจะเริ่มพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่เป็นเฟส ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ล่าสุดมีแผนจะพัฒนาที่ดินที่เหลืออีก 50 ไร่ จากทั้งหมด 400 ไร่ เป็นที่จอดรถอีก 2,000 คัน และเตรียมสร้างโรงแรม อาคารสำนักงานด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด

“ปัจจุบันเมกาบางนามีผู้ใช้บริการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งที่จอดรถที่มีอยู่ 10,000 คันไม่เพียงพอ โดยมีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยกว่า 42 ล้านคนต่อปี” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นปี 2561 สยามฟิวเจอร์ฯได้ประกาศแนวทางใหม่การพัฒนาพื้นที่ใหม่ โดยยกระดับ “เมกาบางนา” เป็น “เมกาซิตี้” ด้วยการสร้างอาณาจักรมิกซ์ยูสเพื่อเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯตะวันออกที่ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน และสถาบันการศึกษา ปัจจุบันเมกาบางนาประกอบด้วย ร้านค้ากว่า 400 ร้าน เช่น อิเกีย บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า โรบินสัน โฮมโปร เป็นต้น รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียมโดยอารียา พรอพเพอร์ตี้กว่า 1,300 ยูนิต ที่จะเปิดในเดือนธันวาคม 2563

สยาม พรีเมี่ยมฯซื้อที่ดินเพิ่ม

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศจับมือกับกลุ่มไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกโลกและจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เตรียมจะลงทุนเปิดลักเซอรี่พรีเมี่ยมเอาต์เลต

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การจับมือกันดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาโครงการค้าปลีกใหม่ที่เป็น “อินเตอร์เนชั่นแนลลักเซอรี่เอาต์เล็ต” ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เบื้องต้นมีวางแผนจะเปิด 3 เอาต์เลตใน 3 จังหวัด ด้วยงบลงทุนรวม 10,000 ล้านบาท แห่งแรกจะเปิดที่กรุงเทพฯ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ในชื่อของ “สยาม พรีเมียม เอาต์เลต” บนพื้นที่ 150 ไร่ รวม 5 หมื่น ตร.ม. บริเวณทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) กม. 23 เพื่อรองรับการเติบโตของประชากรและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีจำนวนมากมากขึ้น ภายในโครงการจะมีร้านค้ากว่า 200 ร้าน คาดจะเปิดให้บริการธันวาคมที่จะถึงนี้

ขณะที่ นายชลชาติ เมฆะสุภะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการลงทุน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการสยามพรีเมียมเอาต์เล็ตมีแผนจะซื้อที่ดินเพิ่มอีก 50-75 ไร่ รองรับธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเปิดให้บริการและกำลังศึกษาอยู่ เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ฯ เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เป็นต้น

แบงค็อก มอลล์ฮับคมนาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้จัดพิธีบวงสรวงเจาะเสาเข็มฤกษ์ โครงการแบงค็อกมอลล์ และคาดว่าจะเป็นการลงทุนที่มากที่สุดในทุก ๆ โครงการที่ผ่านมาของเครือ โครงการนี้ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า-ซูเปอร์มาเก็ต-พลาซ่า (พื้นที่ร้านเช่า) แบงค็อก อารีน่า ฮอลล์ ขนาดความจุ 16,000 ที่นั่ง โรงภาพยนตร์ไฮเทคระดับโลก 15 โรง อาคารจอดรถ ขนาดความจุ 8,000 คัน สวนน้ำและสวนสนุกไฮเทค และจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ตั้งเป้าจะให้โครงการ เนื่องจากตัวโครงการตั้งอยู่ ณ จุดตัดถนนบางนา-ตราดกับสุขุมวิท เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอุดมสุขและบางนา อีกทั้งในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าไลต์เรล จากสี่แยกบางนาถึงสุวรรณภูมิ โดยมีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ รวมพื้นที่โครงการกว่า 1,200,000 ตารางเมตร เป็นอาณาจักรศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย และออฟฟิศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ CITY WITHIN THE CITY

กลุ่มทุนจิวเวลลี่ โดดร่วมวง

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ทำเลโดยรอบของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับความสนใจของกลุ่มนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะย่านบางนา-ตราด, ลาดกระบัง เนื่องจากมีต้นทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับฝั่งทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเข้า-ออก สนามบินสุวรรณภูมิที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มทุนธุรกิจท่องเที่ยวมีการลงทุนในย่านดังกล่าวเพิ่มอย่างชัดเจนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะกลุ่มทุนจิวเวลรี่ ที่เนันจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะ อาทิ กลุ่มบริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต ผู้ให้บริการรถบัสทำเที่ยว และร้านรอยัล เจมส์ ที่ตั้งอยู่ในย่านลาดกระบัง รวมถึงการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่ คิงเพาเวอร์ ที่เปิดดิวตี้ฟรีภายใต้ชื่อ คิงเพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ บริเวณถนนบางนา-ตราด กม.18

ทุนภูเก็ตปักหมุดสุวรรณภูมิ

แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า หลังจากกลุ่มโอเอ ทรานสปอต และ ร้านรอยัล เจมส์ ได้รับผลประทบจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญและปิดตัวไปเมื่อปี 2558 ทำให้กลุ่มทุนใหญ่หลายรายขยับการลงทุนเข้ามาในย่านสุวรรณภูมิเป็นระยะ ๆ เช่น กลุ่มโมเดิร์นเจมส์ และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มวังถลาง ที่เป็นกลุ่มทุนจากจังหวัดภูเก็ต ได้มีการลงทุนเปิดร้านช็อปปิ้งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ในย่านลาดกระบัง

“ก่อนหน้านี้กลุ่มธุรกิจที่ปักธงยึดทำเลบริเวณใกล้ ๆ สนามบินส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนร้านช็อปปิ้งเป็นหลัก แต่ตอนนี้กลุ่มธุรกิจรีเทลเริ่มมองเห็นโอกาสและขยับเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในย่านบางนา ลาดกระบัง เทพารักษ์ ที่ราคาที่ดินยังไม่แพงมากนัก และการเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลาไม่มาก” แหล่งข่าวกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ย่านถนนบางนา-ตราด ที่มีแผนจะนำที่ดินแปลงใหญ่พัฒนาเพื่อรองรับอนาคต โดยนายสิทธิชัย เจริญขจรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบสท์ โอเชียนกอล์ฟ จำกัด เปิดเผยว่า มีแผนและกำลังเร่งพัฒนาโครงการทรัสต์ซิตี้ บนพื้นที่ 500 ไร่ ช่วงถนนเทพรัตน กม. 29 (บางนา) ซึ่งเป็นที่ดินเก่าที่สะสมมา 20 ปี โดยจะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศร่วมลงทุน เพื่อให้ทรัสต์ซิตี้เป็นศูนย์รวมสินค้าของโลก คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรกจะลงทุนทำเอ็กซิบิชั่นเทรดเดอร์ จำนวน 200-400 ร้านค้า คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนเฟส 2, 3 จะเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว และคาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มเห็นภาพการพัฒนาชัดเจนขึ้น และใช้ระยะเวลาการพัฒนา 3-4 ปี