บีเจซีจัดทัพลงทุนสู้เศรษฐกิจ ปูพรม “มินิบิ๊กซี” บุกตจว./ปรับเป้าเติบโต

image bank update, January 2013, Bangkok, Thailand.

“เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ขยับทัพรับจีดีพีขาลง ทุ่มงบฯลงทุน 6 พันล้าน บุกตลาดครึ่งปีหลัง ประกาศปูพรม “มินิบิ๊กซี” เจาะต่างจังหวัด เข็นโมเดลใหม่ “บิ๊กซี ฟู้ดเพลส” ขายอาหารสด-อาหารพร้อมรับประทาน รับสังคมคนเมือง พร้อมรุกช่องทางออนไลน์หวังเพิ่มรายได้ ขยายกำลังการผลิต แก้ว-กระป๋อง รับตลาดเครื่องดื่มโต เผยหวั่นเศรษฐกิจไม่เอื้อ-การแข่งขันสูง ปรับเป้าเติบโตเหลือ 4-7%

ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แม้ผลการดำเนินงานในภาพรวมของ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” จะยังมีการเติบโตได้ในอัตรา 3.3% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้รวมกว่า 8.67 หมื่นล้าน

บาท แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจหลากหลาย (กลุ่มค้าปลีก 71%, บรรจุภัณฑ์ 12%, สินค้าอุปโภคบริโภค 12% และกลุ่มเวชภัณฑ์ 5%) กำลังเร่งปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังมีความผันผวน และผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

เร่งปูพรมสาขา “มินิบิ๊กซี”

นางสาวนัทธ์หทัย ธนชัยหิรัญศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการเงินกลุ่ม นายรามี บีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี (BJC) เปิดเผย

ว่า ในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทยังมีแผนจะขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยจะลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่ได้ลงทุนไปแล้ว 4,000 ล้านบาท โดยนโยบายหลัก ๆ จะมุ่งไปที่การขยายสาขามินิบิ๊กซีเพิ่มอีก 250-300 สาขา เน้นเปิดในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เตรียมจะขยายสาขาบิ๊กซีโมเดลต่าง ๆ อาทิ บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 สาขา โดยในจำนวนนี้จะเปิดที่ไทย 3 สาขา และกัมพูชา 1 สาขา, บิ๊กซี ฟู้ดเพลส เป็นแพลตฟอร์ม ร้านค้ารูปแบบใหม่ เน้นขายอาหารสด อาหารพร้อมรับประทาน 1 สาขา ที่สามย่านมิตรทาวน์ ในปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของคนสังคมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เปิดแห่งแรกที่ศูนย์การค้าเกตเวย์ บางซื่อ ซึ่งได้ผลตอบรับค่อนข้างดี รวมทั้งจะเปลี่ยนแปลงบิ๊กซี มาร์เก็ตสโตร์ เป็นบิ๊กซี ฟู้ดเพลส เพิ่ม เนื่องจากบิ๊กซี ฟู้ดเพลส จะเป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าในราคาปกติไม่ใช่ราคาโปรโมชั่นทำให้มีกำไรดีกว่าสาขารูปแบบเดิม

นายรามีกล่าวเสริมว่า บริษัทต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะการแข่งขัน เนื่องจากปัจจุบันทุกกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค มีการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในแง่ของแคมเปญและโปรโมชั่นต่าง ๆ จะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ นำแบรนด์เข้ามาบุกตลาดและจัดทำโปรโมชั่นมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องเน้นการผลิตสินค้าในรูปแบบใหม่ ๆ และหาช่องทางจำหน่ายให้หลากหลาย เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

บุกออนไลน์เพิ่มช่องทางขาย

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือบีเจซี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากนี้ การเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มดังกล่าว บิ๊กซีมีนโยบายจะให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาธุรกิจการขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์สังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา บิ๊กซีได้มีการเชื่อมโยงทุกช่องทางการขายผ่านร้านค้าของบิ๊กซี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการรับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าด้วยบริการ Click-and-Collect แทนการรอสินค้าที่จัดถึงบ้านเพียงอย่างเดียว

“บิ๊กซีช็อปปิ้งออนไลน์ เราเน้นการขายสินค้าอุปโภคและบริโภคผ่านเว็บไซต์ จากผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่ในห้างบิ๊กซี โดยขายในราคาและโปรโมชั่นเดียวกันกับ

ห้างบิ๊กซี และใช้เครือข่ายการขนส่งของห้างบิ๊กซีอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ในกรณีลูกค้าต้องการให้ส่งตรงถึงบ้านหรือลูกค้าสามารถรับสินค้าได้ที่สาขาต่าง ๆ ของบิ๊กซี ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับ Shopee ให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของ Shopee เป็นการเพิ่มยอดขายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังร่วมกับ Happy Fresh และ Honest Bee ร้านขายของอุปโภคบริโภคออนไลน์ ในการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคภายใต้แพลตฟอร์มบิ๊กซีช็อปปิ้งออนไลน์ รวมถึงบิ๊กซี เฟรชเอ็กซ์เพรส ให้บริการส่งสินค้าอาหารสดกว่า 4,000 รายการ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และการันตีส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง”

เพิ่มกำลังผลิตแก้ว-กระป๋อง

นางสาวนัทธ์หทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการลงทุนในส่วนของบิ๊กซี บีเจซี จะลงทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตของโรงงานแก้วและกระป๋องในประเทศ เพื่อรองรับตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋องมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มน้ำผลไม้และน้ำดื่มต่าง ๆ รวมทั้งมีแผนจะลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตกระป๋องของโรงงานผลิตกระป๋องในประเทศเวียดนาม จากปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตขวดแก้วและกระป๋อง 5 แห่ง เป็นในประเทศ 3 โรงงาน และต่างประเทศ 2 โรงงาน ในเวียดนามและมาเลเซีย

กลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ หลัก ๆ บริษัทมุ่งมั่นที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิม แสวงหาลูกค้า และตลาดใหม่ จากต่างประเทศ โดยการเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

“ปีนี้ การลงทุนในส่วนของขวดแก้วอาจจะไม่ได้สูงมากนัก เนื่องจากปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการลงทุนใหญ่เพื่อขยายกำลังการผลิตขวดแก้วไปแล้ว ประกอบกับบริษัทมีการเข้าลงทุน ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ WG บริษัทนำเข้าและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ เป็นมูลค่ากว่า 750 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต”

นางสาวนัทธ์หทัยกล่าวด้วยว่า ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ เทสโต้ กาโต๊ะ โดโซะ และปาร์ตี้ บริษัทเน้นการพัฒนาสินค้ารสชาติใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบสิ่งที่จำเจ ควบคู่ไปกับการทำจัดแคมเปญทางการตลาดสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค

ปรับเป้าเติบโตรับ ศก.ขาลง


นางสาวนัทธ์หทัยกล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายรายได้ปีนี้ลงเหลือโตเพียง 4-7% จากเดิมช่วงต้นปีที่ตั้งเป้าว่าจะเติบโต 10% จากปีก่อน โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากด้านตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทได้มองหาโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจโดยเฉพาะในแถบอาเซียน ซีแอลเอ็มวี ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และลาว โดยจะมองหาโอกาสลงทุนในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น โรงงานกระดาษทิสชูเซลล็อกซ์และน้ำมันปาล์มในกัมพูชาพร้อมเตรียมขยายร้านเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต ในเวียดนาม 2 สาขา จากปัจจุบันร้านเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 19 สาขา ส่วนประเทศลาวจะเน้นขยายธุรกิจค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อเอ็มพ้อยท์ มาร์ท และมีแผนเปลี่ยนร้านเอ็มพ้อยท์ มาร์ท ในลาว 43 สาขา มาเป็นมินิบิ๊กซี ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ขายและพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น คาดว่าจะได้เห็นเร็ว ๆ นี้