“ซิงเกอร์” ปรับแผนฝ่ากำลังซื้อซบ เร่งแฟรนไชส์-สินเชื่อทะเบียนรถ

เศรษฐกิจฝืดหนัก “ซิงเกอร์” ปรับแผนลุยโค้งท้าย เร่งอัดสาขาแฟรนไชส์ เน้นปูพรมต่างจังหวัด ลงลึกระดับตำบล พร้อมส่งอินเทนซีฟจูงใจ หวัง 5 ปีขยายครบ 7.4 พันสาขา ก่อนเดินหน้า

เปิดตัวสินค้าใหม่ ชูดีไซน์สวย-ฟังก์ชั่นโดน เสริมทัพ บริการผ่อนชำระ หวังเพิ่มฐานลูกค้าวัยรุ่น-ผู้ใหญ่ ส่วนธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เตรียมขยายวงเงินปล่อยกู้หลังได้ใบอนุญาตพรีโลนเร็ว ๆ นี้ มั่นใจมูลค่าพอร์ตลูกหนี้สิ้นปี 4 พันล้านบาท

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ซิงเกอร์” อาทิ จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านต่าง ๆ และจำหน่ายสินค้าเชิงพาณิชย์ เช่น ตู้แช่ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร ตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือออนไลน์ ฯลฯ ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับภาพรวมของธุรกิจขายสินค้าเงินผ่อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและชะลอการจับจ่ายลง ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ต่ำกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย ส่งผลให้บริษัทต้องปรับแผนการทำตลาดในช่วงไตรมาส 4 ใหม่ โดยมุ่งเน้นการขยายสาขาแฟรนไชส์ร้านซิงเกอร์ทั่วประเทศ ให้เข้าถึงระดับอำเภอและตำบล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อในพื้นที่ต่าง ๆ และขยายโอกาสการเข้าถึงให้มากที่สุด โดยภายในปี 2563 ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบทุกอำเภอในไทย และภายในปี 2565 จะมีครบทุกตำบล หรือมีสาขาทั้งสิ้นประมาณ 7,400 สาขา จากปัจจุบันที่มีสาขาทั้งหมดกว่า 1,000 สาขา แบ่งเป็นสาขาของบริษัท 182 สาขา และแฟรนไชส์ 869 สาขา

นอกจากนี้ ยังปรับโมเดลของร้านแฟรนไชส์ให้เป็นระบบมากขึ้น โดยสามารถแบ่งได้ 3 ระดับตามยอดขาย ได้แก่ สแตนดาร์ด พรีเมี่ยม และพาร์ตเนอร์ ส่งผลต่อการจัดรูปแบบร้าน การวางสินค้า และการคิดคำนวณค่าตอบแทนการขายที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทุกโมเดลได้รับเหมือนกันคือ จะไม่มีการเก็บค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ไม่ต้องลงทุนในการซื้อสินค้าไปสต๊อก ได้เป็นเจ้าของกิจการของตนเอง มีรายได้จากการขาย การสร้างทีมขาย รวมถึงรายได้จากการบริหารบัญชีลูกค้าของตนเอง โดยสามารถขายสินค้าได้ทั้งรูปแบบเงินสดและเงินผ่อน โดยบริษัทจะซัพพอร์ตระบบ และมีทีมบริหารหลังบ้านคอยอำนวยความสะดวก ตลอดจนอินเทนซีฟ เช่น เงินสด ทริปท่องเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ มุ่งดึงดูดเอสเอ็มอี ข้าราชการ และพนักงานเอกชนที่ต้องการมีรายได้เสริม

ขณะเดียวกันเดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่ต่อเนื่อง เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก อาทิ หม้อหุงข้าว เตาไฟฟ้า จักรเย็บผ้า พร้อมเสริมจุดขายด้านดีไซน์ เช่น เรโทร ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือโมเดลพกพา สีสันสดใส รับกับความนิยมของผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเร็ว ๆ นี้เตรียมเปิดตัวจักรเย็บผ้าอีกหลายรุ่น ซึ่งมีไฮไลต์เป็นรุ่นที่พกพาได้ ราคา 5,000-6,000 บาท พร้อมปรับโปรโมชั่นดาวน์ หรือผ่อนชำระเป็น 24 เดือน

“แผนการปูพรมขยายสาขานี้ นอกจากการเพิ่มช่องทางขายและโอกาสขายสินค้าและสินเชื่อรับมือสภาพเศรษฐกิจแล้ว ยังเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถต่อยอดธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย เช่น ด้านโลจิสติกส์ หรืออีคอมเมิร์ซแบบ O2O หรือสั่งซื้อออนไลน์แล้วรับสินค้าที่สาขา ซึ่งช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มทดลองการขายผ่านเฟซบุ๊กและเว็บไซต์แล้ว”

ส่วนด้านการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั้น คาดว่าบริษัทจะได้รับใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคลหรือพีโลนในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ทำให้สามารถเรียกเบี้ยปรับได้สูงขึ้นอีก จึงเตรียมเพิ่มเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ช่วงไตรมาส 4 อีก 500 ล้านบาท หลังจากไตรมาสใช้ไปแล้ว 400 ล้านบาท โดยใช้เม็ดเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้มูลค่า 1,500 ล้านบาทเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะมีแพ็กเกจใหม่ ๆ ออกมาอีกในช่วงโค้งท้าย


ทั้งนี้มองว่า ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่จะเข้ามาเสริมการเติบโตให้กับบริษัท ทั้งในแง่ของการสร้างยอดขายและกำไรที่ดี โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าพอร์ตลูกหนี้ 3,177 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายสินค้าแบรนด์ซิงเกอร์ 49% สินเชื่อทะเบียนรถและอื่น ๆ อีก 51% ภายในปี 2565 จะเติบโตเป็น 8,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนของกลุ่มสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเป็น 70%