ค้าปลีก “อินโด-มาเลย์” กวาดสินค้า “ไร้น้ำมันปาล์ม” ลงเชลฟ์

ประเด็นขัดแย้งเรื่องผลกระทบจากการปลูกน้ำมันปาล์มต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนานโดยมีอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเป็นเดิมพัน

เริ่มทวีความดุเดือดยิ่งขึ้น และเริ่มส่งผลกระทบไปยังธุรกิจค้าปลีกในตลาดใหญ่ภูมิภาคอาเซียนทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย

เมื่อเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของมาเลเซีย ตัดสินใจเก็บสินค้าที่ติดฉลากว่า

“ไม่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ” ออกจากชั้นวางทุกสาขา หลังจากเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียที่ใช้มาตรการเดียวกันนี้เป็นการตอบโต้กระแสแบนน้ำมันปาล์มที่เริ่มมาแรงอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นปี

ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียเรียกร้องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่น ๆ ในประเทศดำเนินนโยบายแบบเดียวกันนี้ด้วย

ทั้งนี้ น้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบในสินค้าหลายชนิด ตั้งแต่อาหาร ขนม ไปจนถึงเครื่องสำอาง โดยอาจมากถึง 50% ของกลุ่มสินค้าที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต

สำนักข่าว “แชนเนลนิวส์เอเชีย” รายงานว่า ความขัดแย้งเรื่องน้ำมันปาล์มได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว หลัง “ไมดิน” (Mydin) เชนซูเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1 ของมาเลเซียมีสาขามากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ เริ่มเก็บสินค้าที่มีฉลาก “ไม่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ” (palm-oil-free) ออกจากชั้นวางในทุกสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้กระแสแบนน้ำมันปาล์มที่ถูกจุดโดยสหภาพยุโรปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศถอดน้ำมันปาล์มจากสถานะเชื้อเพลิงหมุนเวียนและเตรียมเลิกใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะภายในปี 2573

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับมาเลเซีย ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับ 2 ของโลก จน “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต้องออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด พร้อมอ้างว่าอียูพยายามทำสงครามการค้าโจมตีน้ำมันปาล์มเพื่อหนุนอุตสาหกรรมน้ำมันจากเมล็ดเรป (rape seed) ของยุโรปเองมากกว่าประเด็นสิ่งแวดล้อม

ด้าน “อาเมีย อาลี ไมดิน” กรรมการผู้จัดการของไมดิน โมฮัมเหม็ด บริษัทเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตไมดิน อธิบายว่า นโยบายนี้มุ่งกระตุ้นการรับรู้เรื่องความสำคัญของน้ำมันปาล์มต่อเศรษฐกิจของมาเลเซีย พร้อมตอบโต้ความพยายามสร้าง-หนุนกระแสต่อต้านน้ำมันปาล์มของแบรนด์สินค้า

แม้บริษัทจะไม่เปิดเผยถึงตัวเลขจำนวนสินค้าและจำนวนแบรนด์ที่ถูกนำออกจากชั้นวาง โดยระบุเพียงว่าสินค้ากลุ่มนี้ที่อยู่ในสต๊อกของบริษัทเกือบทั้งหมดเป็นสินค้านำเข้า

นอกจากการเก็บสินค้าแล้ว เชนซูเปอร์มาร์เก็ตไมดินยังเดินหน้าสนับสนุนปาล์มน้ำมันอย่างแข็งขัน อาทิ การแชร์วิดีโอเทศกาล Karnival Sayangi Sawitku ซึ่งเป็นเทศกาลกระตุ้นการใช้งานน้ำมันปาล์มที่จัดโดยรัฐมนตรีเทเรซา ก๊อก บนแอ็กเคานต์อินสตาแกรม

“การชูเรื่องไม่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบเป็นจุดขายของสินค้า ก็เหมือนบอกผู้บริโภคว่าน้ำมันปาล์มเป็นสิ่งไม่ดี”

ส่วนรัฐบาลมาเลเซียแสดงท่าทีสนับสนุนนโยบายของยักษ์ซูเปอร์มาร์เก็ตรายนี้ โดย “เทเรซา ก๊อก” รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐาน กล่าวชื่นชมการตัดสินใจของซูเปอร์มาร์เก็ตไมดิน และหวังว่าผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ ในประเทศจะดำเนินนโยบายแบบเดียวกันนี้ด้วย

ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียเดินหน้ามาตรการตอบโต้ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญสร้างการรับรู้และกระบวนการล็อบบี้ระดับนานาชาติ รวมถึงพิจารณาออกกฎหมายแบนสินค้าที่ชูจุดขายด้านการไม่ใช้น้ำมันปาล์มและคาดโทษโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งฐานพยายามเผยแพร่แนวคิดต่อต้านปาล์มน้ำมัน

ความเคลื่อนไหวนี้ไปในแนวทางเดียวกับในอินโดนีเซียผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อีกราย ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งให้ผู้ค้าปลีกบางรายเก็บสินค้าอาหารที่มีฉลาก “ไม่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ” ออกจากชั้นวางเช่นกัน

“โอจัก ไซมอน มานูรัง” ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลสินค้าและบริการ กระทรวงการค้า อินโดนีเซีย อธิบายว่า กระทรวงได้เข้าตรวจสอบสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในกรุงจาการ์ตา

หลังสำนักงานควบคุมอาหารและยาประกาศให้ฉลากไม่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบนั้นไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และไม่ควรจำหน่ายจนกว่าจะได้รับการแก้ไข จึงต้องเก็บสินค้าที่ติดฉลาก

ดังกล่าวออกจากชั้นวาง ต่อมาสำนักงานควบคุมอาหารและยาได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า หลังจากนี้จะไม่อนุญาตให้ใช้ฉลากไม่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบกับสินค้าใด ๆ ที่วางจำหน่ายในประเทศอีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่าน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบที่ปลอดภัยและการติดฉลากดังกล่าวทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน ขณะที่สมาคมผู้ค้าปลีกของอินโดนีเซียออกมาขานรับนโยบายนี้และพร้อมปฏิบัติตาม

ขณะเดียวกันบรรดานักอนุรักษ์ต่างแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิ Environmental Justice เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม โดย “สตีฟ เทรนด์” กรรมการบริหารของมูลนิธิให้ความเห็นว่า มาตรการแบนสินค้าที่ไม่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นการถอยหลังลงคลอง พร้อมเสนอให้เชนซูเปอร์มาร์เก็ตหันโฟกัสเรื่องการตรวจสอบที่มาของสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่ามาจากน้ำมันปาล์มที่ปลูกและผลิตโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม

“ตอนนี้เราควรเน้นสร้างกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ตัวเมล็ดจนถึงสินค้าบนชั้นวาง เพื่อหนุนการผลิตและใช้ปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

กระแสความเคลื่อนไหวนี้กลายเป็นโจทย์ใหม่สำหรับแบรนด์สินค้าจากทั่วโลกที่ทำตลาดอยู่ หรือพยายามจะทำตลาดในทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคน และเป็นหนึ่งในตลาดที่หลายแบรนด์กำลังจับตามอง หวังชิงเม็ดเงินจากผู้บริโภคจำนวนมหาศาล