พลิกโฉม…ช่อง 3 แปลงทุกอย่างเป็นรายได้

อีกไม่กี่วัน “บีอีซี เวิลด์” จะปิดสวิตช์ทีวี 2 ช่อง คือ 28 เอสดี และ 13 แฟมิลี่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

การตัดสินใจคืนช่องดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และได้รับเงินชดเชยคืน 800 ล้านบาท ทำให้ทิศทางจากนี้ไปของกลุ่มบีอีซีจะคล่องตัวมากขึ้น พร้อมโจทย์ใหม่ในการเร่งฟื้นรายได้ให้กลับคืน ท่ามกลางสภาพตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วขึ้น

“อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 เอชดี (ช่อง 3) กล่าวในงานสัมมนา “ACMA Business Forum 2019” ว่า ทิศทางธุรกิจของช่อง 3 จากนี้ไปต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยจะวางตัวเองเป็น “Content & Entertainment Platform”

อย่างไรก็ตาม “อริยะ” ยอมรับว่า การทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้ไปถึงจุดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และช่อง 3 จะต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่ โดยไม่มองว่าสื่อเก่าหรือทีวีต้องขายแค่นาทีโฆษณาเท่านั้น แต่ต้องแปลงร่างทุกอย่าง ทุกทรัพยากรที่บริษัทมีความแข็งแรงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนักแสดง ผู้จัดละคร คอนเทนต์ เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ และสร้างรายได้เพิ่ม

ขณะนี้บีอีซี เวิลด์แบ่งการหารายได้เป็น 4 ช่องทางหลัก ๆ ได้แก่ รายได้โฆษณาทีวี ออนไลน์ ตลาดต่างประเทศ และธุรกิจใหม่

สำหรับธุรกิจทีวีต้องมีการปรับใหม่ โดยจะไม่ผลิตคอนเทนต์เพื่อป้อนช่องเท่านั้น แต่ต้องเชื่อมโยงให้เกิดรายได้ในทุกช่องทาง นั่นหมายถึงต้องกระจายคอนเทนต์ออกไปทุกแพลตฟอร์ม ทั้งทีวี ออนไลน์ และตลาดต่างประเทศ

สำหรับธุรกิจใหม่ก็เปิดกว้างมากขึ้นในหลากหลายโมเดล อาจจะไม่ใช่แค่การหารายได้จากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ของศิลปินเท่านั้น แต่ต้องมีอะไรที่มากกว่า เช่น ทำงานร่วมกับพันธมิตรในลักษณะร่วมผลิต (coproduction) เพื่อสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนให้บริษัท ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้บริษัทได้ช่องทางใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ขายคอนเทนต์ในต่างประเทศ ล่าสุดได้ขายละครไทย 10 เรื่องให้ทีวีดาวเทียม 2 ช่องในเกาหลีนำไปออกอากาศ และอยู่ระหว่างเจรจาอีกหลายราย ปัจจุบันบริษัทได้นำคอนเทนต์ไปขายให้หลายประเทศแล้ว เช่น จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นต้น

“โลกของธุรกิจวันนี้ อยู่คนเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีพันธมิตร มีธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตจากหลายช่องทาง ตอนนี้บริษัทไม่ได้มองว่าธุรกิจทีวีต้องโต แต่ต้องสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ให้แข็งแรงก่อนที่ธุรกิจเดิมจะเติบโตลดลง ซึ่งเป็นโจทย์หลักที่ต้องเร่งทำให้ได้เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ”

“อริยะ” ย้ำว่า ทีวีจะไม่ตายเพราะถูกดิสรัปชั่นก่อนธุรกิจอื่น ๆ ธุรกิจทีวีไม่ได้ถูกดิสรัปต์จากการเติบโตของเทคโนโลยี แต่ถูกดิสรัปต์จากพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน ในตลาดไทยคนดูยังนิยมคอนเทนต์ไทย คอนเทนต์เหล่านี้ก็อยู่บนช่องทีวีเป็นหลัก ทำให้คนดูทีวียังกินสัดส่วนถึง 80-90% ของตลาดอยู่ ต่างจากตลาดทีวีต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะคนดูคอนเทนต์ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำให้ทางเลือกในการรับสื่อก็หลากหลายตามไปด้วย

“ถ้าเข้าใจผู้บริโภคก็มีโอกาสชนะสูง เพราะบริษัทอยู่มานาน บริการที่ช่อง 3 สร้างขึ้นก็มีอยู่มานานแล้ว ซึ่งอาจจะเหมาะสมกับผู้ชมในปัจจุบัน ทำให้เราต้องปรับ และเมื่อเข้าใจพฤติกรรมคนไทยว่า ชอบคอนเทนต์ไทย ถือว่าเจอโอกาสใหญ่ บริษัทจึงกลับมาดูที่ธุรกิจหลัก (core business) ซึ่งพบว่าธุรกิจหลักยังแข็งแรงแต่ต้องปรับทิศทางการสร้างรายได้ใหม่ จากเดิมที่มีรายได้หลักจากค่าโฆษณาทีวีเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับโครงสร้างธุรกิจแล้ว พนักงานถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาบริษัทมีการลดขนาดขององค์กรลง และต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากหลายเหตุการณ์ ยกตัวอย่างเช่น การปรับรายการข่าว ซึ่งคนทำงานยังเป็นกลุ่มเดิม ช่วงแรกก็คาดว่าอาจจะเจอแรงต้าน เพราะสิ่งที่ทำอยู่ก็ดีแล้ว แต่ในทางกลับกันพนักงานกลับให้ความร่วมมือและพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไป

“อริยะ” ทิ้งท้ายว่า ถึงวันนี้ผมเริ่มทำงานที่บีอีซี เวิลด์ได้เพียง 4 เดือน ซึ่งถือว่ายังมีความท้าทายอยู่มากสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและแผนธุรกิจใหม่ ๆ คาดว่าทุกอย่างที่เริ่มทำก็จะค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้บีอีซี เวิลด์ในอนาคต”

นั่นหมายถึงต้องสร้างธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ให้มีรายได้เข้ามาทดแทนธุรกิจเดิมที่ค่อย ๆ ลดลง ถือเป็นโจทย์หลักที่ต้องทำให้ได้