ภาคใต้-กลางครองแชมป์ “ภูธร” ช็อปกระฉูด

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

“มหิดล” เปิดผลวิจัย “ภูธร มาร์เก็ตติ้ง” คนภาคใต้-กลางครองแชมป์นักช็อปสูงสุด สื่อออนไลน์สร้างการจดจำพร้อมกระตุ้นการขายได้ดี ซิงเกอร์ชูจุดแข็ง เน้นทีมขายเจาะตามชุมชนมัดใจคนรากหญ้า

นางสุพรรณี วาทยะกร อาจารย์สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาการจัดสัมมนาการตลาด ภายใต้หัวข้อ “ภูธร มาร์เก็ตติ้ง ล้วงลึกอินไซต์…สื่อแบบใด จับใจตลาดท้องถิ่น” กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อผู้บริโภคต่างจังหวัดเก็บข้อมูลจาก 821 ตัวอย่าง ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ และสัมภาษณ์เชิงลึก 32 คน อายุระหว่าง 20-50 ปี รายได้เฉลี่ย 9,000-20,000 บาทต่อเดือน พบว่าภาคที่มียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนมากที่สุด คือ ภาคใต้ ภาคกลาง โดยมีการใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้พบว่ากลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดคือสินค้าอุปโภคบริโภค และประเภทสินค้าที่จดจำได้มากที่สุดคือ ผงซักฟอกและเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากมีการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น และมีจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่องเจาะเข้าตามชุมชนต่าง ๆ

ในแง่ของช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อที่คนต่างจังหวัดให้ความสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ สื่อออนไลน์ พบว่าคนกลุ่มนี้เข้าถึงสื่อออนไลน์มากถึง 95% และสามารถจดจำแบรนด์ผ่านสื่อนี้ได้มากถึง 85% โดยใช้เวลากับสื่อนี้เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน

ทั้งนี้ สื่อออนไลน์ที่คนต่างจังหวัดนิยมใช้ 3 อันดับคือ เฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่นิยมใช้เพื่อติดตามข่าวสารของเพื่อน รับข้อมูลข่าวสารและซื้อสินค้าออนไลน์ ตามด้วยไลน์ ใช้เพื่อโหลดสติกเกอร์ฟรี ติดต่อสื่อสาร สุดท้ายยูทูบ ใช้สำหรับดูละคร รายการเพลงย้อนหลังตามด้วยสื่อ ณ จุดขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบสื่อนี้ตามห้างสรรพสินค้าถึง 90% และเมื่อเห็นสื่อนี้จะตัดสินใจซื้อสูงถึง 86% ซึ่งการสื่อสารผ่านสื่อนี้ สิ่งที่แบรนด์ควรทำคือ สื่อสารถึงสรรพคุณของสินค้าให้ชัดเจน

สุดท้ายสื่อทีวี โดยคนดูทีวีเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ดูมากที่สุดช่วงเวลา 20.00-24.00 น. ซึ่งช่องที่คนต่างจังหวัดดูมากสุด 3 ช่องแรก คือ ช่องวัน 31 นิยมดูละคร รายการเพลง รองมาช่อง 3 นิยมดูรายการข่าว และช่อง 7 ชอบดูรายการวาไรตี้ “ปลดหนี้”, กิ๊กดู๋สงครามเพลง เพราะเปิดโอกาสให้คนต่างจังหวัดได้มีส่วนร่วม

นางสุพรรณีกล่าวว่า หลัก ๆ แล้ว 7 กลยุทธ์ที่เจาะเข้าถึงคนต่างจังหวัด คือ “PHUTORN” แบ่งเป็น P-Picture &Promotion เน้นภาพชัดและโปรโมชั่นเด่น H-Humour ตลก ขบขันแทรกเนื้อหาบันเทิงในรายการทีวี U-Useful บอกคุณประโยชน์ของสินค้า จะช่วยในการตัดสินใจในการซื้อ ณ จุดขาย T-Telling a Story ถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนชีวิตจริง สร้างแรงบันดาลใจ O-Obvious สื่อสารตรงประเด็นชัดเจน แจ่มแจ้ง R-Reliable แหล่งข้อมูลวางใจ เชื่อถือได้ โดยเฉพาะการรีวิวสินค้าและ N-Note of music ดนตรีในหัวใจ ใช้ดนตรีในการสื่อสารและจัดกิจกรรมทางการตลาด

นายประสงค์ แข็งกิจ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ซิงเกอร์ ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ซิงเกอร์ถือเป็นบริษัทเช่าซื้อที่ใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งฐานลูกค้าหลักคือคนต่างจังหวัด ดังนั้นแนวทางการสื่อสารหลัก ๆ คือ การสื่อสารผ่านพนักงานขาย ไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานขาย 15,000 คนกระจายอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ

โดยเน้นการสื่อสารผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ จุดเด่นของสินค้า 11 สินค้าทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง และประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ ซึ่งพนักงานขายของบริษัทต้องสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกไปให้ลูกค้าได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันแบ่งสินค้า 4 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าสร้างรายได้ เช่น เครื่องหยอดเหรียญต่าง ๆ เป็นต้น เครื่องใช้ภายในครัวเรือน กลุ่มโมบายและสินค้าฝากขายจากแบรนด์อื่น ๆ

ข้อดีของการใช้พนักงานขาย คือ มีการสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรงและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อทันที ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ซิงเกอร์ประสบความสำเร็จ

“ทุกแคมเปญการตลาด โปรโมชั่นที่ซิงเกอร์ออกไปล้วนเกิดจากความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งบริษัทก็พยายามพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคต่างจังหวัดมากที่สุด”