ถอดรหัสค้าปลีกไทย รักษาพื้นที่ ย้ำจุดแข็ง…เพิ่มโอกาสรอด

ดิจิทัลดิสรัปชั่นเข้ามาตัดตัวกลางออกจากหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่ธุรกิจค้าปลีกมาเป็นระยะ ๆ

“ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวในงานเสวนา “TRA Retail Forum 2019” ว่า การเติบโตเทคโนโลยี เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไป ความอดทนลดลง ต้องการความรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงเข้ามาลดความสำคัญของตัวกลางหรือกลุ่มค้าส่งของระบบค้าปลีกไทยลงด้วย ขณะที่หน้าที่ของตัวกลางอย่างค้าส่งยังอยู่ เพียงแต่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ตอนนี้ค้าปลีกต้องทำความเข้าใจ ว่า ช่องทางออฟไลน์ (ร้านหน้า) และออนไลน์ต่างกัน โดยกระบวนการของหน้าร้าน คือ ลูกค้าวิ่งเข้าไปหาสินค้า ส่วนออนไลน์ คือ สินค้าเข้าไปหาผู้บริโภค ดังนั้น ค้าปลีกก็ต้องปรับกระบวนการคิดใหม่”

“ดร.ฉัตรชัย” ย้ำว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีและออนไลน์ ทำให้ค้าปลีกต้องปรับ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ตามด้วยการปรับกระบวนการคิดใหม่ เช่น การบริหารจัดการสต๊อกสินค้า ระบบการเก็บเงิน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องยกระดับและพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วและตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ สุดท้าย คือ การสร้างพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอีกทาง

เช่นเดียวกับ “วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รับสื่อผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยุคนี้ก็ไม่ได้สนใจว่าจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือออฟไลน์อีกแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยก็ต้องปรับตัวให้เร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยี ดาต้า (data) รวมถึงสร้างกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภคดึงคนออกมาจับจ่ายใช้สอย

ขณะเดียวกัน เทรนด์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ หรือ new retail ที่นำเทคโนโลยี และการจัดการข้อมูลเข้ามาใช้จะเกิดขึ้นในตลาดไทยเร็วขึ้น ซึ่งตอนนี้ค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ในไทยก็อยู่ระหว่างพัฒนานิวรีเทล ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น เซ็นทรัล ขณะเดียวกัน คาดว่ารายใหญ่จากจีน อย่างอาลีบาบา ก็จะนำโมเดลนิวรีเทลเข้ามาเล่นในไทยด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยก็ต้องขยับและเตรียมตัวให้พร้อมเช่นกัน รองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น

ด้านผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่อย่าง “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” ก็ขยับตัวมาเป็นระยะ ๆ โดย “ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บอกว่า ปัจจุบันรูปแบบการแข่งขันค้าปลีกเปลี่ยนไป เพราะพฤติกรรมการซื้อของเปลี่ยน ดังนั้น บริษัทก็ต้องเปลี่ยนด้วย โดยใช้ข้อมูลของเดอะวันการ์ดเข้ามาช่วยนำเสนอโปรโมชั่นให้ถูกใจลูกค้ามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลตอบรับที่ดี

“ออนไลน์มีบทบาทต่อธุรกิจค้าปลีกมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะลูกค้าซื้อสินค้าจากทุกช่องทาง ขณะเดียวกัน การซื้อของจากช่องทางที่หลากหลายก็เป็นโอกาสของธุรกิจค้าปลีกด้วย”

“ภัทรพร” ย้ำว่า ตอนนี้ลูกค้าไม่แยกแล้วจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางใด ดังนั้น บริษัทก็สร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าในทุกช่องทาง โดยช่องทางออฟไลน์ก็สร้างกิจกรรม เพื่อดึงคนออกมาซื้อสินค้าหน้าร้าน ส่วนออนไลน์ก็ต้องสร้างบริการใหม่ ๆ ล่าสุดท็อปส์ออนไลน์ก็ได้ขยายพื้นที่การส่งสินค้าครอบคลุมถึง 40 จังหวัด และร่วมกับแกร็บส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง เริ่มเฉพาะเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลก่อนจะขยายออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้

ในมุมค้าปลีกท้องถิ่นและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ว่า จะทำอย่างไรให้รอดนั้น “อมร พุฒิพิริยะ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้ชื่อ “ธนพิริยะ” บอกว่า แม้ช่องทางออนไลน์จะมีบทบาทต่อการซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ช่องทางออฟไลน์ (หน้าร้าน) ก็มีความสำคัญและเชื่อว่ายังสามารถเติบโต โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคยังถือว่ามีความจำเป็น เพราะลูกค้ารอไม่ได้ ดังนั้น กลยุทธ์ของบริษัท คือ ทำให้ขยายสาขาเพิ่มเข้าไปใกล้ลูกค้า วางราคาถูก รวมสร้างบรรยากาศแปลกใหม่ เพื่อดึงลูกค้าเข้าร้าน ทำให้ร้านของบริษัทยังสามารถเติบโตได้

เท่ากับว่า การทำธุรกิจค้าปลีกวันนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องพร้อมปรับตัวให้สอดรับกับทุก ๆ การเปลี่ยนแปลง และตอกย้ำในพื้นที่ที่แต่ละรายมีความแข็งแรง