น้ำดื่มสยามปลุกน้ำแร่พรีเมี่ยม แจ้งเกิดวิวัลก้า-ทุ่ม 100 ล้านเพิ่มกำลังผลิต

น้ำดื่มสยาม คัมแบ็ก ! ปักหมุกภารกิจใหม่ แจ้งเกิดน้ำแร่ “วิวัลก้า” ชูค่า pH 8.2 จากแหล่งธรรมชาติ ตอบโจทย์เทรนด์ฮิต ดูแลสุขภาพ-ออกกำลังกาย พร้อมเร่งปูพรมสินค้าเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมี่ยม ก่อนเดินหน้าจัดอีเวนต์สร้างอะแวร์เนส พร้อมแตกไลน์โปรดักต์-รุกตลาดส่งออกปีหน้า ด้านธุรกิจหลัก ลงทุน 100 ล้าน ขยายกำลังผลิตน้ำดื่ม รับโออีเอ็ม หลังมีออร์เดอร์เข้าต่อเนื่อง คาดดันยอดขายทั้งปีเติบโต 6%

กว่า 20 ปี ในการเป็นผู้ผลิตน้ำดื่มของ “ทีทีซี กรุ๊ป” หรือที่รู้จักกันภายใต้แบรนด์ “น้ำดื่มสยาม” ซึ่งมีฐานผลิตอยู่ที่สามโคก ปทุมธานีนั้น มีการขยับขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแง่ของกำลังการผลิต เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มากขึ้นทั้งฝั่งคอนซูเมอร์ และกลุ่มธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่ต้องการมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ภายใต้การรับจ้างผลิต (OEM) ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าจับตา

ล่าสุด เมื่อพบว่าแหล่งน้ำที่สามโคกนั้น มีสายน้ำแร่จากธรรมชาติ ที่มีค่า pH ค่อนข้างเสถียร อยู่ที่ราว ๆ 8.2-8.5 ซึ่งในวงการน้ำดื่ม ถือว่าเป็นค่าน้ำที่มีความด่างอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่าน้ำอัลคาไลน์ และมีผู้ที่ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ฯลฯ จึงเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายฐานลูกค้าจากเดิม

บุกน้ำแร่พรีเมี่ยม

นายศรัณยู อินทาทอง ผู้อำนวยการแบรนด์ วิวัลก้า และผู้จัดการโรงงาน บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีสายการผลิตน้ำดื่มอยู่ทั้งหมด 2 ประเภท คือ น้ำดื่มทั่วไป และน้ำแร่ ซึ่งก่อนหน้านี้น้ำแร่ได้ถูกผลิตและบรรจุขวดภายใต้แบรนด์สยาม เช่นเดียวกับน้ำดื่ม แต่จะมีการทำตลาดทั้งในประเทศ และส่งออกควบคู่ไปด้วย ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับฟีดแบ็กจากประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น ว่าน้ำแร่ที่ส่งออกนั้นมีค่า pH ที่ดี หรือประมาณ 8.2-8.5 ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และประชากรตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพ

เพื่อรับโอกาสดังกล่าวบริษัทจึงได้พัฒนาน้ำแร่ภายใต้แบรนด์ “วิวัลก้า” โดยเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วางโพซิชันนิ่งในการเป็นน้ำแร่ธรรมชาติ ที่เจาะเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม เนื่องจากวางราคาขายไว้ที่ 25 บาทต่อขวด (500 มล.) นับว่ามีราคาสูงที่สุดในกลุ่มแบรนด์น้ำแร่ธธรรมชาติที่ผลิตในประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดพรีเมี่ยม กลุ่มคนที่ใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกาย ฯลฯ ต่อยอดจากฐานลูกค้าน้ำดื่มทั่วไป ที่เป็นตลาดแมส

แตกไลน์-ขยาย ตปท.

นายศรัณยูระบุว่า สำหรับแผนการทำตลาดในช่วงแรก จะเน้นปูพรมสินค้าเข้าไปในช่องทางต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด อาทิ ฟู้ดแลนด์ แม็กซ์แวลู มินิโซ กูร์เมต์มาร์เก็ต ฯลฯ ตลอดจนร้านอาหารสไตล์ฟิวชั่น สปา ฯลฯ ก่อนเตรียมที่จะใช้งบฯมาร์เก็ตติ้งในช่วง 3 ปีข้างหน้า ปีละประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้ในตัวผลิตภัณฑ์ ผ่านการจัดอีเวนต์ แคมเปญสื่อสาร ให้ผู้บริโภคเกิดแบรนด์อะแวร์เนส ทั้งในช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์

ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายในปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านขวด ส่วนปีหน้าจะเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว หรือ 5 ล้านขวดขึ้นไป และอยู่ระหว่างการวางแผน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มเติม ในแคทิกอรี่อื่นที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม อาทิ สเปรย์น้ำแร่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปา เป็นต้น เพื่อสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มมูลค่าของสินค้า พร้อม ๆ กับการขยายตลาดส่งออก ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มพูดคุยกับตัวแทนในต่างประเทศแล้ว เช่น คูเวต ดูไบ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ

“ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจ pH 8 ว่ามีประโยชน์อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มาจากธรรมชาติ ไม่ได้ปรุงแต่ง คนที่นั่นให้คุณค่ากับสิ่งนี้มาก ส่วนในประเทศไทยก็มีกลุ่มคนที่กล้าใช้จ่ายกับสินค้าที่ดีต่อสุขภาพกันมากขึ้น จึงคาดว่าวิวัลก้าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”

ทุ่ม 100 ล้านเสริมการผลิต

นายศรัณยูระบุต่อไปว่า ในส่วนของธุรกิจหลัก ที่เป็นการผลิตน้ำดื่มสยามรวมถึงการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์หรือบริษัทต่าง ๆ ในปีนี้ได้ทุ่มงบฯลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้โรงงานมีกำลังการผลิตรวม 820 ล้านขวด/ปี ซึ่งจะรองรับการเติบโตในระดับนี้ไปอีก 2 ปี จากนั้นหากกำลังการผลิตเริ่มเต็ม ก็จะลงทุนติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ แต่ยังไม่พิจารณาการลงทุนขยายโรงงานใหม่ เนื่องจากต้องใช้งบฯลงทุนค่อนข้างสูง

โดยหลักจะรองรับการเติบโตของธุรกิจโออีเอ็ม ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึง 20% ในปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มของผู้ประกอบการในปัจจุบันต้องการใช้แบรนด์ตัวเองมากขึ้น ทำให้บริษัทเป็นผู้ผลิตให้แบรนด์ต่าง ๆ กว่า 60 แบรนด์ อาทิ คาราบาว, อควาฟิน่า, การบินไทย, แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, ท็อปส์, เดอะมอลล์, เอสโซ่, ปตท., รีเจนซี่, กลุ่ม รพ.ต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าสัดส่วนของโออีเอ็มจะขยับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 50% เป็น 60% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกันก็จะมีการนำเครื่องจักรมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยบริหารต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น

“น้ำดื่มเป็นสินค้าที่มีกำไรไม่มาก แต่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคา เราเองก็เข้าไปอยู่ในสงครามนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายามรักษาแนวทางของเราเอาไว้ คือการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ต้องมีกำไรมาก แต่ก็ต้องทำให้ธุรกิจอยู่ได้ ซึ่งก็ต้องไปบริหารจัดการต้นทุนอื่น ๆ เอา เช่น การนำเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์มาใช้ การลงทุนในระบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน”

สำหรับเป้าหมายของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 6% จากปีที่ผ่านมา ที่มียอดขายอยู่ประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาท