“หนังสือเล่ม” ไม่สิ้นมนต์ขลัง สวนทาง “อีบุ๊ก” ยอดลดต่อเนื่อง

ตลาดหนังสือเล่มยังคงความแข็งแกร่งแม้จะถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยี และคู่แข่งทั้งอีบุ๊กและออดิโอบุ๊กหรือหนังสือเสียง สะท้อนจากตัวเลขของสมาคมสำนักพิมพ์อเมริกันที่ระบุว่า ครึ่งแรกของปีนี้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในสหรัฐมีรายได้สุทธิรวมกัน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 6.9% จากปีก่อน

โดยหนังสือเล่มยังเติบโตต่อเนื่อง 2.5% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนใหญ่สุดของตลาด ในขณะที่หนังสือเสียงมีการเติบโตถึง 33.8% มีมูลค่า 278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ตรงข้ามกับอีบุ๊กที่หดตัวลง 3.8% มีมูลค่า 492.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ยังพบว่า หนังสือเล่มทั้งปกอ่อนและปกแข็ง มีสัดส่วน 72.1% ของตลาด ส่วนหนังสือดิจิทัลมีสัดส่วน 22.3% และที่เหลือเป็นรูปแบบอื่นๆ

จากข้อมูลของบริษัทวิจัย นีลเส็นบุ๊ก อินเตอร์เนชั่นนอล ยังพบอีกว่า หมวดหมู่ของหนังสือที่เป็นที่นิยมของทั้ง 2 แพลตฟอร์มนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น หนังสือเด็ก หนังสือทำอาหาร จะเป็นแนวที่ได้รับความนิยมสำหรับตลาดหนังสือเล่ม ขณะที่หนังสือนิยายรัก อาชญากรรม สืบสวนสอบสวนจะเป็นแนวที่ได้รับความนิยมในอีบุ๊ก

ในส่วนของฐานนักอ่านนั้น หนังสือกระดาษกลับนิยมในกลุ่มมิลเลนเนียลหรือผู้มีอายุ 23-38 ปี โดยตามข้อมูลของนีลเส็นฯ หนังสือเล่มกว่า 63% ที่ขายในเกาะอังกฤษถูกขายให้คนอายุต่ำกว่า 44 ปี ในขณะที่ผู้ซื้ออีบุ๊กส่วนใหญ่หรือประมาณ 52% เป็นคนอายุ 45 ปีขึ้นไป

เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า 75% ของคนอายุ 18-29 ปี เลือกที่จะอ่านหนังสือเล่ม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมที่มีผู้อ่านหนังสือเล่มถึง 67%

“เมอริล ฮอล” กรรมการผู้จัดการของสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือของอังกฤษ อธิบายปรากฏการณ์นี้กับสำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” ว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยอดขายอีบุ๊กค่อย ๆ ลดอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาสำนักพิมพ์ปรับรูปแบบการทำหนังสือ โดยเน้นออกแบบหน้าปกให้หรูหราสวยงามน่าสะสม ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมของนักอ่านที่นอกจากเนื้อหาในเล่มแล้ว ยังต้องการใช้หนังสือเป็นเครื่องสะท้อนตัวตน แนวคิดและทัศนคติให้โลกได้รับรู้ ผ่านการพกพาไปอ่านในที่ต่าง ๆ รวมถึงสะสมในชั้นหนังสือที่บ้านหรือออฟฟิศ ซึ่งการอ่านอีบุ๊กผ่านมือถือหรือแท็บเลตไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้

นอกจากนี้ แม้ผู้บริโภคจะต้องการรับข้อมูลข่าวสาร แต่บางครั้งก็ไม่ต้องการรับรู้หรือยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายหรือดราม่าที่ตามมาบนสื่อออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก จึงหันมาหาหนังสือเล่มเพื่อปลีกตัวออกจากเรื่องวุ่น ๆ บนโลกออนไลน์

“ตามปกติเหล่าหนอนหนังสือต่างเป็นนักสะสมตัวยงกันอยู่แล้ว การได้เรียงหนังสือบนชั้นวางนับเป็นความสุขอย่างหนึ่ง”

ขณะเดียวกัน นักเขียนจำนวนหนึ่งยังนิยมเผยแพร่ผลงานของตนในรูปแบบหนังสือกระดาษมากกว่าดิจิทัล ตัวอย่างเช่น “เจดี ซาลินเจอร์” ผู้แต่งหนังสือ “จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น”

หรือ The Catcher in the Rye ซึ่งห้ามไม่ให้เผยแพร่งานของตนในแบบดิจิทัลอย่างเด็ดขาด ทำให้หนังสือเล่มนี้เพิ่งถูกทำเป็นอีบุ๊กเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาหรือกว่า 10 ปีหลัง การเสียชีวิตของ “เจดี ซาลินเจอร์” เมื่อ ม.ค. 2553 เพื่อให้ผู้พิการสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในวงการหนังสือยังแสดงความเชื่อมั่นว่า หนังสือทุกรูปแบบจะยังมีดีมานด์ต่อเนื่อง โดยอีบุ๊กจะเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวด้วยดีมานด์จากหลายกลุ่ม เช่น นักเขียนอิสระที่ตีพิมพ์ผลงานของตนเองในรูปแบบดิจิทัล “แจ็ก โทมัส” ผู้อำนวยการของงานลอนดอนบุ๊กแฟร์ กล่าวว่า ผู้คนยังคงใฝ่หาความรู้และเรื่องราวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ซึ่งเป็นแรงส่งให้ตลาดหนังสือทุกรูปแบบยังคงไปต่อได้ในอนาคต