“โค้ก-เป๊ปซี่” ขยับราคาอีกรอบ 70 ยี่ห้อ ปรับสูตรหนีภาษีหวาน

พิษภาษีความหวาน “โค้ก-เป๊ปซี่” จ่อขึ้นราคาอีกระลอก ดีเดย์ 1 ตุลานี้ หลังเพิ่งปรับขึ้นไป 2-3 บาท เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา สรรพสามิตชี้ผู้ประกอบการแห่ปรับสูตร ลดหวาน 60-70 แบรนด์ ชี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่สุด คือ หวานมาก-ไม่ปรับตัว หากไม่ปรับเจอขึ้นภาษีทุก ๆ 2 ปี

หลังจากที่ค่ายน้ำอัดลมรายใหญ่ทั้งโค้กและเป๊ปซี่ ต่างพร้อมใจขึ้นราคาสินค้ารอบแรกไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งภาษีและวัตถุดิบต่าง ๆ โดยนำร่องด้วยเอสเคยูหลัก เช่น น้ำดำ ทั้งขวดแก้วและขวดพีอีที รวมถึงน้ำสี แบรนด์หลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น แฟนต้า สไปรท์ ฯลฯ ล่าสุด 2 ค่ายใหญ่มีความเคลื่อนไหวเตรียมจะขึ้นราคาในเอสเคยูที่ยังไม่ได้ถูกปรับราคาขึ้นในเร็ว ๆ นี้อีกครั้ง หลังจากที่อัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเครื่องดื่มที่มีความหวาน จะขยับเกณฑ์สูงขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หลังจากเริ่มจัดเก็บภาษีชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา

ขึ้นราคาใหม่ดีเดย์ตุลาฯนี้

แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มโคคา-โคลา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้ารอบใหม่ ที่ได้รับผล

กระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตามอัตราภาษีความหวานที่จะขยับอัตราการจัดเก็บรอบใหม่ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเป็นรายการใหม่ ๆ ที่ยังไม่ได้ทำปรับขึ้นไปในช่วงก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะเป็นเรตราคาที่ไม่ต่างจากครั้งก่อน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 บาทต่อขวด เพื่อให้เป็นไปตามต้นทุนที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากโคคา-โคลาแล้ว ผู้เล่นรายใหญ่อีกรายอย่างเป๊ปซี่ ก็มีแผนจะปรับราคาสินค้าขึ้นเช่นกัน โดยขณะนี้เป๊ปซี่ได้เริ่มแจ้งไปยังตัวแทนร้านค้าว่าจะมีการปรับราคาสินค้า อาทิ เป๊ปซี่ขนาด 1 ลิตร เดิม 22 บาทเป็น 25 บาท, 1.5 ลิตร เดิม 29 บาท เป็น 32 บาท, 1.9 ลิตร เดิม 34 บาท เป็น 36 บาท เป็นต้น

สำหรับการปรับราคาก่อนหน้านี้พบว่า เป๊ปซี่ได้ปรับทั้งหมด 3 ขนาด ในบรรจุภัณฑ์แบบพีอีที ได้แก่ 345 มล. จากเดิม 10 บาท เป็น 12 บาท 430 มล. จากเดิม 12 บาท เป็น 15 บาท และขนาด 640 มล. จากเดิม 15 บาท เป็น 17 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับกลไกของตลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในทุก ๆ ช่องทางไม่ว่าจะเป็นเทรดิชั่นนอลเทรด หรือโมเดิร์นเทรด

ส่วนทางโคคา-โคลามีการปรับราคาโค้กขวดแก้วขนาด 185 มล. จากเดิม 5 บาท เป็น 7 บาท, ขนาด 1 ลิตร จากเดิม 17 บาท เป็น 20 บาท แบบขวดพีอีที ขนาด 330 มล. จากเดิม 10 บาท เป็น 12 บาท, ขนาด 450 มล. จากเดิม 12 บาท เป็น 15 บาท, ขนาด 590 มล. จากเดิม 15 บาท เป็น 17 บาท ตลอดจนแฟนต้า และสไปรท์ แบบขวดพีอีที ขนาด 330 มล. จากเดิม 10 บาท เป็น 12 บาท, ขนาด 450 มล. จากเดิม 12 บาท เป็น 15 บาท เป็นต้น

70 แบรนด์ปรับสูตรลดหวาน

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องดื่มให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การแข่งขันดุเดือดในตลาดน้ำอัดลมเป็นกลไกควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดขึ้นราคาโดยไม่จำเป็นอยู่แล้ว ดังนั้น แต่ละค่ายจึงต้องพัฒนาสินค้า หรือสูตรใหม่ออกมา เพื่อรับมือกับการจัดเก็บภาษีความหวาน โดยลดน้ำตาล หรือเปลี่ยนไปใช้สารให้ความหวานทดแทน เพื่อแก้โจทย์ที่เกิดขึ้น รวมถึงรองรับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป และหันมาสนใจสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นด้วย ที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมมีการเปิดตัวสินค้าสูตรน้ำตาลน้อย รวมถึงไม่มีน้ำตาลออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อโฆษณา แคมเปญ โปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นเซ็กเมนต์ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักและเติบโตขึ้นเกือบทุกค่าย

ด้านนายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยปรับสูตรชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน และเครื่องดื่มชาเขียวผสมสมุนไพรรสจับเลี้ยง เย็นเย็น ให้มีน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัมต่อ 100 มล. เกือบทุกรายการแล้ว จึงคาดว่าการปรับขึ้นของภาษีความหวานในรอบใหม่นี้จะไม่ทำให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น และยังมองว่าการขึ้นภาษีรอบนี้จะเป็นผลบวกกับธุรกิจของอิชิตันมากกว่า เนื่องจากเครื่องดื่มที่จะได้รับผลกระทบก็คือ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น กลุ่มน้ำอัดลม ซึ่งเมื่อเครื่องดื่มกลุ่มดังกล่าวขึ้นราคา ก็จะทำให้ผู้บริโภคมองหาทางเลือกอื่น และทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันมาบริโภคสินค้าของบริษัทที่มีราคาต่ำกว่าแทน

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า อัตราภาษีความหวานใหม่จะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป ก่อนที่จะขยับขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 ต.ค. 2564 หรือปรับแบบขั้นบันไดทุก ๆ 2 ปี โดยการปรับขึ้นในครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบกับผู้บริโภค ยกเว้นเครื่องดื่มบางรายการที่ไม่ได้ปรับสูตรให้สอดคล้องกับนโยบายภาษีที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการหลายรายได้ปรับตัว พัฒนาสูตรใหม่ ลดปริมาณน้ำตาลแล้วกว่า 60-70 แบรนด์ ส่งผลให้ภาระภาษีลดลงจากเดิม เช่น จากที่จะต้องเสีย 1 บาท ก็เหลือเพียง 10 สตางค์ต่อขวด เป็นต้น

สำหรับเกณฑ์ภาษีในรอบนี้จะทำการจัดเก็บเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม เก็บตามเดิมที่ 30 สตางค์ต่อลิตร, ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม จากเดิม 50 สตางค์ เป็น 1 บาทต่อลิตร, ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม จากเดิม 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร และปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมขึ้นไป จากเดิม 1 บาท เป็น 5 บาทต่อลิตร ซึ่งกรมสรรพสามิตคาดว่าการจัดเก็บภาษีอัตราใหม่นี้จะช่วยเพิ่มรายได้การจัดเก็บกว่า 1,500 ล้านบาท หรือประมาณ 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปี