ธุรกิจเช่าเกาหลีสะพรั่ง สะดวก-ราคาเบาโดนใจวัย 40+

“ซับสคริปชั่นอีโคโนมี” (subscription economy) หรือธุรกิจการให้เช่าสินค้าต่าง ๆ เป็นรายสัปดาห์-เดือน แทนการซื้อ-ขายขาด รวมถึงการสมัครสมาชิกเพื่อรับสินค้าอย่าง มีดโกน หรือรองเท้ากีฬาใหม่ ทุก ๆ ช่วงเวลาที่กำหนด และเมื่อครบอายุสัญญาแล้ว ลูกค้าสามารถเลือกว่าจะส่งคืนหรือซื้อสินค้าชิ้นนั้น ๆ ในราคาพิเศษ ซึ่งได้รับความนิยมในสหรัฐนั้น กำลังเป็นเทรนด์มาแรงในเกาหลีใต้เช่นกัน หลังยอดผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 448% ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และยอดเช่าสินค้าบางประเภทเติบโตไปมากกว่า 400% ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

สำนักข่าวหลายแห่งของเกาหลีใต้รายงานถึงเทรนด์นี้ว่า บริการสินค้าซึ่งเคยจำกัดอยู่ในกลุ่มเครื่องกรองน้ำได้ขยายตัวไปครอบคลุมสินค้าอื่น ๆ ทั้งสุขภาพ ความงาม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่น ๆ โดยจากข้อมูลของ “จีมาร์เก็ต” (Gmarket) หนึ่งในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโสมขาว ที่บริหารโดยยักษ์อีคอมเมิร์ซ “อีเบย์” (e-Bay) ระบุว่า การสมัครใช้บริการเช่าสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

มาตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบันคิดเป็นการเติบโตถึง 448% แล้ว และเมื่อเทียบเฉพาะช่วงปี 2561-2562 กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าสุขภาพ อาทิ เก้าอี้นวดไฟฟ้าเติบโต 435% เครื่องอบผ้าโต 111% ตามด้วยเครื่องฟอกอากาศที่โต 106%

ขณะเดียวกัน บรรดาธุรกิจให้เช่าสินค้าต่างเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายของไลน์อัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่นอกจากกลุ่มความบันเทิง ยังเพิ่มตัวเลือกทั้งเครื่องล้างจาน เครื่องเตรียมอาหาร เครื่องชงกาแฟ หม้อทอดไร้น้ำมัน ในกลุ่มความงามและสัตว์เลี้ยง เช่น เครื่องเป่าแห้งสำหรับสุนัข มาสก์หน้าแบบแอลอีดี และอื่น ๆ รวมถึงสินค้าสุขภาพอย่าง เครื่องประคบร้อน เครื่องนวดตา ไปจนถึงสินค้ากลุ่มนิช อาทิ เครื่องปลูกพืชในร่ม และงานศิลปะ เช่น ภาพวาด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสตาร์ตอัพจำนวนมากเกิดขึ้นมารับเทรนด์ โดยมุ่งเจาะกลุ่มนิชเพื่อสร้างฐานลูกค้าของตนเอง หนึ่งในรายที่ประสบความสำเร็จ คือ “ฟลายบุ๊ก” (Flybook) ผู้ให้บริการซับสคริปชั่นหนังสือ

โดยสมาชิกที่จ่ายเงิน 1.5 หมื่นวอน หรือประมาณ 13 เหรียญสหรัฐต่อเดือน จะได้รับหนังสือเล่มใหม่ที่คัดเลือกตามข้อมูลการอ่านและความสนใจของแต่ละคนเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้ ฐานลูกค้าที่นิยมใช้บริการเช่าสินค้ายังไม่ใช่กลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ เหมือนในประเทศตะวันตก แต่กลับเป็นกลุ่มวัยทำงานและวัยกลางคน โดยกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปมีมากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนถึง 46% รองลงมาเป็นกลุ่มวัย 30 ปี ที่มีประมาณ 35% ของฐานลูกค้าทั้งหมด

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า กระแสบูมนี้เป็นเพราะบริการเช่าสินค้าช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าหลากหลายได้ในราคาถูกกว่าการซื้อ จึงตอบโจทย์คนวัยทำงานที่ต้องการความคุ้มค่า

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยด้านความสะดวกที่สามารถเปลี่ยน-อัพเกรดรุ่นหรือยี่ห้อได้อย่างอิสระ และสามารถยกเลิกบริการได้ตลอด ซึ่งผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและกระแสนิยมต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ทำให้ความต้องการสินค้าต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามไปด้วย

ในภาษาเกาหลีถึงกับมีคำศัพท์สำหรับเรียกไลฟ์สไตล์นี้ คือ “ppalli ppalli” ซึ่งมีความหมายว่า วิธีการที่ผู้คนช็อปปิ้งนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงสะท้อนจากความนิยมใช้งานบริการสตรีมมิ่งความบันเทิงของชาวเกาหลีใต้ที่แพร่หลายไม่น้อยหน้าชาติตะวันตก เห็นได้ชัดจากความสำเร็จของ “เมลอน” (Melon) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของประเทศ และยังเป็นรายแรกของโลกที่มียอดสมาชิกแบบจ่ายเงินถึง 1 ล้านคน ได้ตั้งแต่เมื่อปี 2547 นำหน้าผู้เล่นระดับโลกอย่าง “สปอติฟาย” (Spotify) นานหลายปี

ทั้งนี้ “ซับสคริปชั่นอีโคโนมี” ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั่วโลก ตามผลสำรวจผู้บริโภควัยผู้ใหญ่จำนวน 1.3 หมื่นคน ใน 12 ประเทศของ “ซูโอร่า” (Zuora) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจบอกรับสมาชิก ที่พบว่า 57% ของผู้บริโภคต้องการเป็นเจ้าของอุปกรณ์-เครื่องใช้ต่าง ๆ น้อยลง และในช่วงที่ผ่านมา แบรนด์ใหญ่ระดับโลกหลายราย

เริ่มลอนช์บริการซับสคริปชั่นของตนเอง เช่น ไนกี้ ที่เปิดตัว “ไนกี้ แอดเวนเจอร์ส คลับ” (nike adventure’s club) บริการบอกรับสมาชิกสำหรับรองเท้าสนีกเกอร์เด็ก หวังตอบโจทย์บรรดาพ่อแม่ให้ไม่ต้องพาลูก ๆ ไปเลือกซื้อรองเท้าใหม่บ่อย ๆ

หรือแบรนด์รถหรูอย่าง “ปอร์เช่” (Porsche) ซึ่งมีโครงการพาสปอร์ตให้สมาชิกสามารถเลือกใช้รถหรูรุ่นต่าง ๆ และสามารถเปลี่ยนรุ่นได้บ่อยถึง 18 ครั้งใน 1 ปี

จากนี้ต้องจับตาดูว่ากระแสซับสคริปชั่นอีโคโนมี จะขยายตัวไปยังประเทศใดอีกบ้าง และแบรนด์ต่าง ๆ จะมีความเคลื่อนไหว เพื่อชิงโอกาสจากเทรนด์นี้อย่างไร