ยก2…ทีวีดิจิทัล เปิดเกมหั่นต้นทุน เพิ่มทางรอด

นับถอยหลัง 10 ปีกับอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เหลือ และผู้เล่น 15 ช่อง เกมนี้ไม่มีหมู เพราะงบฯโฆษณา ถือเป็นเส้นเลือดหลักเลี้ยงช่องทีวี ไม่ได้อู้ฟู่ดังที่หลาย ๆ คนคาดหวัง

ล่าสุด สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์ว่า ปีนี้งบฯโฆษณาโดยรวมจะไม่โต หรือมีมูลค่าประมาณ 117,104 ล้านบาท ขณะที่การใช้งบฯผ่านสื่อทีวีกลับลดเหลือ 64,800 ล้านบาท ลดลง 2% จากปีก่อน ที่มีมูลค่า 66,000 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นว่า จากนี้ไปการสู้ต่อของ 15 ช่องที่เหลือ จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีลดลงเรื่อย ๆ จากพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเศรษฐกิจโดยรวมไม่โต ทำให้สินค้าก็หั่นงบฯโฆษณาลงเรื่อย ๆ การแข่งขันของทีวีดิจิทัลจากนี้ไป

นอกจากการแข่งขันเรื่องคอนเทนต์เพื่อดึงเรตติ้ง เพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาให้ได้มากที่สุดแล้ว การบริหารจัดการต้นทุนก็เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยประคองตัวให้สามารถเดินต่อได้จนครบกำหนด

ช่อง 7-3 รีรันถี่ยิบ ลดต้นทุน

เริ่มตั้งแต่ช่อง 7-3 ที่อัดคอนเทนต์ละครรีรันแบบถี่ยิบ ล่าสุดเมื่อช่อง 35 เอชดี (ช่อง 7) ได้ปรับผังรายการใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และยิงยาวไปจนถึงสิ้นปี

ความน่าสนใจของผังใหม่ คือ การหั่นต้นทุนลง สะท้อนจากการดึงภาพยนตร์ ซีรีส์ต่างประเทศ ที่เคยออกอากาศช่วงละครหลังข่าว หรือช่วงเวลา 23.10-00.40 น. ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดีออก และใส่รายการวาไรตี้รีรันแทน เช่น รายการแหวน 5 ท้าแสน เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย เกมแจกเงิน เป็นต้น

ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์ยังคงรายการใหม่ ได้แก่ วันศุกร์ รายการฮัลโหลซุปตาร์ ต่อด้วย สด ๆ บทไม่มีออนทีวี ตามด้วยวันเสาร์ มีบิ๊กซีนีม่า และวันอาทิตย์มี เรื่องจริงผ่านจอ เป็นแม็กเนต

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของช่อง 3 “อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 3 (ช่อง 33 เอชดี) กล่าวว่า การหายไปของทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ไม่ได้ทำให้ภาพการแข่งขันลดน้อยถอยลง แต่ในทางกลับกันกลับเพิ่มดีกรีขึ้น เนื่องจากผู้เล่นที่เหลืออยู่อีก 15 ราย ก็พร้อมลุยต่อ เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาที่เหลืออยู่เช่นกัน ทำให้ช่อง 3 ต้องพยายามเพิ่มเรตติ้ง จากการปรับกลยุทธ์ในหลาย ๆ ส่วน เริ่มตั้งแต่การปรับผังรายการใหม่ เพื่อสร้างรายได้ พร้อมกับหาแหล่งรายได้ใหม่ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียว ด้วยการเร่งเพิ่มรายได้จากช่องทางใหม่ ๆ เช่น สื่อออนไลน์ การบริหารจัดการดารานักแสดง หรือการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงปรับรายการใหม่เพื่อสร้างเรตติ้ง

สำหรับเฟสแรก ได้ปรับโฉมรายการข่าว 3 รายการ ได้แก่ เรื่องเล่าเช้านี้ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ และข่าว 3 มิติ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนรายการข่าวที่เหลือจะทยอยปรับให้แล้วเสร็จในไตรมาส 4 และเฟส 2 จะเริ่มต้นปี 2563 ด้วยการเติมรายการวาไรตี้และละครใหม่ เพื่อกู้เรตติ้งคืน

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการทีวีวิเคราะห์ว่า จากนี้ไปการแข่งขันของทีวีจะรุนแรงขึ้น เพราะช่องที่เหลืออยู่ต่างก็มีจุดแข็ง มีแคแร็กเตอร์ รวมถึงมีฐานคนดูที่ชัดเจน ขณะที่คอนเทนต์ที่แต่ละช่องปล่อยออกตอนนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ผังรายการหลัก ๆ ส่วนใหญ่เป็นละคร และรายการวาไรตี้รูปแบบเดิม ๆ

ทำให้ตลาดไม่คึกคัก ประกอบกับเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีโดยรวมก็ตกลงเรื่อย ๆ ทำให้ช่องที่เหลืออยู่ต่างก็พยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด โดยช่อง 3 ถือว่าชัดเจน เพราะเริ่มลดต้นทุนลงตั้งแต่ปลายปีก่อน ด้วยการใส่ละครรีรันเข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้ผังรายการวันจันทร์-ศุกร์ในปัจจุบันมีละครรีรันถึง 3 ช่วงเวลาต่อวัน

เริ่มตั้งแต่ละครดังข้ามเวลา ออกอากาศเวลา 08.25-10.00 น. ต่อด้วยช่วงที่ 2 เวลา 13.45-15.45 น. และละครช่วงเย็นเวลา 18.00-19.00 น. ต่อด้วยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้ปรับลดเวลาออกอากาศของละครไพรมไทม์ จากเดิม 3 ชั่วโมง เหลือ 2.30 ชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยรวมลง ให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงการตัดสินใจลดขนาดขององค์กร ด้วยการปลดทีมข่าวเหลือ 200 คน เพื่อสร้างความคล่องตัวทางการแข่งขัน

นอกจากนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการทีวียังระบุเพิ่มเติมว่า ขณะที่คนดูทีวีหลังช่วงเวลา 23.00 น. ก็ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป มีทางเลือกมากขึ้น ทำให้หลายช่อง รวมถึงเจ้าตลาดอย่างช่อง 7 ก็พยายามปรับตัว ด้วยการใส่รายการ หรือละครรีรัน หลังช่วงเวลา 23.00 น. เพื่อลดต้นทุนและให้ช่องสามารถแข่งขันต่อได้ท่ามกลางเม็ดเงินโฆษณาที่ไม่เติบโต

ช่องใหม่ติดปีก…ไล่บี้เก็บเรตติ้ง

ขณะที่บรรดาช่องใหม่ ทุนหนาที่เหลืออยู่ทั้ง 13 ช่อง ต่างประกาศปรับกลยุทธ์แบบไม่มีใครยอมใคร ด้วยการเติมรายการใหม่เพิ่มเข้ามา ขณะเดียวกันยังคงสัดส่วนรายการรีรันไว้

เริ่มด้วยโมโน 29 ที่มีเรตติ้งอันดับ 3 ก็ไล่บี้เก็บเรตติ้งจากเบอร์ 2 อย่างช่อง 3 แบบหายใจรดต้นคอ

“บรรณสิทธิ์ รักวงษ์” ผู้อำนวยการช่อง บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ผู้บริหารช่องโมโน 29 บอกว่า โมโนจะยังเดินหน้าตอกย้ำโพซิชั่นเดิมที่มีความแข็งแกร่ง คือ การวางตัวเองเป็นช่องหนังและซีรีส์ ที่ผ่านมาได้ทยอยซื้อคอนเทนต์หนังและซีรีส์จากสตูดิโอดังในต่างประเทศหลายราย ทำให้โมโน 29 ได้สิทธิ์นำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้ามาฉายบนฟรีทีวีไทยจำนวนมาก พร้อมเสริมคอนเทนต์ใหม่เข้ามา เพื่อจะขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้น ด้วยการใช้คอนเทนต์ข่าวเป็นตัวนำ โดยร่วมกับพันธมิตร เช่น ลงทุนแมน แบไต๋ เป็นต้น เพื่อเก็บฐานผู้ชมกลุ่มแมสให้มากขึ้น

ด้านเวิร์คพอยท์ทีวี “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ครึ่งปีหลังยังเดินหน้าด้วยกลยุทธ์เดิม คือ การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ (collaborations) พร้อมทดลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น และเปลี่ยนให้เร็ว ๆ ล่าสุดร่วมกับเฟซบุ๊ก ทำรายการ “Social Icon Thailand” เริ่มออกอากาศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อีกโปรเจ็กต์ร่วมกับ ZAAP Party ทำรายการ ZAAP on Sale และจะมีรายการใหม่ออกไตรมาสละ 2-3 รายการ

ส่วนช่องวัน 31 ก็ทยอยเก็บเรตติ้งมาเรื่อย ๆ ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรตติ้งขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 5 ของตาราง พร้อมอัดละครรสแซบแบบไม่ออมมือ เช่น ภาตุมาต ฤกษ์สังหาร เป็นต้น ส่วนช่องร่วมค่ายแกรมมี่ อย่างจีเอ็มเอ็ม 25 ก็ประกาศเขย่าผังใหม่ ด้วยการปรับโฉมรายการข่าว พร้อมดึง “จุ๋ม-นพขวัญ นาคนวล” หรือ “จุ๋มปอยเด้ง” เข้ามาเสริมทัพ รายการข่าวเย็น 25 เพื่อขยายฐานผู้ชมกลุ่มแมสเช่นกัน

ขณะเดียวกันปีนี้ พีพีทีวี ของ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือว่าทำผลงานได้ดี ล่าสุดเลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 10 พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายต่อไป กับการก้าวขึ้นไปอยู่ในกลุ่มท็อป 5 ด้วยการระดมสารพัดแม็กเนตต่อเนื่อง ทั้งถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก รวม 3 ฤดูกาล อีกทั้งปล่อยละครลงจอทุกวันพุธ-พฤหัสบดี-ศุกร์ เวลา 20.15-21.15 น.

ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่งเสริมทัพด้วยรายการวาไรตี้หลายรส เช่น “เที่ยวให้สุด สมุดโคจร” กินเที่ยวอะราวเดอะเวิลด์ รายการเรียลิตี้ ทอล์ก ออน เจอร์นีย์ รูปแบบใหม่ “ตามสัญญา” จากค่ายเจเอสแอล ที่ได้ ดู๋ สัญญา มาเป็นพิธีกร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ด้านช่องไทยรัฐทีวีก็เติมรายการวาไรตี้ลงจอเดือนตุลาคมเช่นกัน เช่น เดอะเฟซเมนไทยแลนด์ ซีซั่น 3 ออกอากาศเวลา 16.40-18.00 น. เริ่มตอนแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

สู้จนหยดสุดท้าย

บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด รายงานความนิยมของผู้ชม (เรตติ้ง) ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องได้ยุติการออกอากาศลง พบว่า ช่องที่มีเรตติ้งกลุ่มท็อป 5 ไม่เปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย ช่อง 7 เรตติ้ง 1.926 ช่อง 33 เอชดี 1.163 โมโน 29 เรตติ้ง 0.901 เวิร์คพอยท์ 0.711 และช่องวัน 0.670

ขณะที่ช่องที่มีเรตติ้งอันดับ 6-10 มีการเปลี่ยนแปลงอันดับกันเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเรตติ้งช่วงเดือนสิงหาคมที่่ผ่านมา โดยเฉพาะช่อง 28 เอสดี แผ่วแรงลง เพราะเตรียมยุติออกอากาศในเดือนตุลาคม ทำให้เรตติ้งตก จากอันดับที่ 8 ในเดือนสิงหาคม เป็นอันดับที่ 9 ในเดือนกันยายน


เกมนี้ผู้เล่นที่เหลือ 15 ช่อง ต่างออกหมัดแลกกันแบบไม่มีกั๊ก หวังโกยเรตติ้ง เรียกเม็ดเงินโฆษณา เพื่อเข้าสู่เส้นชัยให้ได้ ส่วนสภาพก่อนเข้าเส้นชัยเมื่อครบกำหนดตามอายุใบอนุญาตจะ กำไร หรือ ขาดทุน ก็ต้องวัดกัน