“ร้านอาหารมะกัน” เฟื่อง ญี่ปุ่นปรับกลยุทธ์รุกรอบใหม่

ธุรกิจร้านอาหารนับเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นที่ยังเดินหน้าขยายตัวในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดขายด้านสุขภาพ และกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งตอบรับรสนิยมของเหล่ามิลเลนเนียลได้เป็นอย่างดี

ตลาดสหรัฐอเมริกาถือเป็นเป้าหมายหลักของหลายแบรนด์ จากข้อมูลของ “อลิกพาร์ตเนอร์” บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระบุว่า ตลาดร้านอาหารในสหรัฐอเมริกามีการเติบโตสูงต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี จนมีมูลค่า 8 แสนล้านเหรียญ ในปี 2560 เติบโตถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษก่อนหน้า การเติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่ตลาดร้านอาหารเติบโตเพียง 4.8% เป็นประมาณ 2.31 แสนล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ศักยภาพการเติบโตจะสูง แต่ตลาดสหรัฐยังมีโจทย์โหดหินทั้งด้านเศรษฐกิจและความแตกต่างของวัฒนธรรม โดยตลอดช่วงกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา มีแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายรายที่พยายามรุกเข้าสู่สหรัฐ แต่ต้องม้วนเสื่อขายกิจการหรือชะลอการขยายสาขาลง

แต่ล่าสุดเชนร้านอาหารญี่ปุ่นได้ค้นพบอาวุธใหม่สำหรับรุกตลาดสหรัฐ นั่นคือ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อใช้หุ้นเป็นผลตอบแทนเพื่อดึงดูดผู้บริหารมือดี หรือการหากองทุน-บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจในสหรัฐมาร่วมถือหุ้น และเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจไปพร้อมกัน

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย รีวิว” รายงานถึงเทรนด์นี้ว่า “โทริดอล โฮลดิ้ง” (Toridoll Holdings) เจ้าของเชนร้านอุด้ง “มารุกาเมะ อุด้ง” (Marugame Udon) เป็นผู้บุกเบิกกลยุทธ์นี้ ด้วยการจับมือกับบริษัทจัดการกองทุน ฮาเกตฮันเตอร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการในหลายระดับ ทั้งให้ฮาเกตฮันเตอร์เข้ามาร่วมถือหุ้นของ “มารุกาเมะ อุด้ง ยูเอสเอ” (Marugame Udon USA) บริษัทลูกในสหรัฐ พร้อมส่งผู้บริหารมือดีมานั่งกุมบังเหียน และยังเป็นบริษัทที่ปรึกษาสำหรับการหาทำเลเพื่อขยายสาขาในรัฐเทกซัส และอื่น ๆ รวมไปจนถึงแง่มุมอื่น ๆ ในธุรกิจอีกด้วย

ด้วยความร่วมมือนี้ เชนร้านอุด้งตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มจากปัจจุบัน 8 สาขา กระจุกตัวในฝั่งตะวันตกของสหรัฐ เป็น 160 สาขาภายในปี 2568

ไปในทิศทางเดียวกับ “คูระ ซูชิ” (Kura Sushi) ที่นำบริษัทลูกในสหรัฐเข้าตลาดหุ้นแนสแดค ไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดย “คูนิฮิโกะ ทานากะ” ประธานบริษัท กล่าวว่า การเข้าตลาดนี้มีเป้าหมายเพื่อใช้สิทธิ์ถือหุ้นของบริษัทเป็นเครื่องจูงใจ เพื่อดึงดูดผู้บริหารมือดีมาร่วมงาน พร้อมวางเป้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 40 สาขา ในปี 2566 จากปัจจุบันมี 23 สาขา และเพิ่มเป็น 300 สาขาในอนาคต

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของนิกเคอิฯพบว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารสัญชาติญี่ปุ่น 35 ราย ยอมรับว่ามีแผนหรือกำลังศึกษาลู่ทางรุกตลาดต่างประเทศอยู่ โดยประมาณ 40% สนใจลุยตลาดสหรัฐ และอีก 60% สนใจตลาดเวียดนาม ด้านผู้เล่นหน้าเก่า เช่น เชนร้านข้าวหน้าเนื้อ “โยชิโนยะ” พยายามปรับตัวต่อเนื่อง ทั้งดึงผู้บริหารสัญชาติสหรัฐเข้ามา รวมถึงปรับเมนูให้หลากหลายและเป็นมิตรกับสุขภาพมากขึ้น เช่น เพิ่มตัวเลือกข้าวซ้อมมือ ปลานิล พร้อมตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มจาก 100 สาขา เป็น 150 สาขาภายในปี 2568 “ยาสุทากะ คาวามูระ” ประธานของโยชิโนยะ ย้ำว่า หากพูดถึงการสร้างการเติบโตแล้ว สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่ดึงดูดมาก

กลยุทธ์ใหม่ของบรรดาร้านอาหารญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันต่อไป และหากสำเร็จ อาจจะได้เห็นร้านอาหารญี่ปุ่นใช้กลยุทธ์นี้ในประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน